xs
xsm
sm
md
lg

วินมาร์ค ที่ดินรัชดาฯ แคทส์ ตอกย้ำ “ทักษิณยอมเสียสละส่วนรวมเพื่อส่วนตัว”

เผยแพร่:   โดย: ไทยทน

ขณะที่คดี “ยึดทรัพย์” นช.ทักษิณ ชินวัตร ใกล้ถึงจุดจบ นช.ทักษิณ ก็ดิ้นรน จนไม่มีการเก็บอาการอีกต่อไป สัญชาตญาณต่างๆ แสดงให้ผู้คนเห็นตัวตนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการพร้อมคบค้าต่างชาติเพื่อบีบเอาประโยชน์จากประเทศไทยแผ่นดินแม่ โดยจะเริ่มเห็นทันทีจากสัมปทานแคทส์

แคทส์เป็นลูกของกลุ่มสามารถฯ เป็นบริษัทมหาชนที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับกลุ่มชินคอร์ปฯ มาก เคยเข้ามาถือหุ้นกลุ่มชินฯ และเคยขายสิทธิสัมปทานบนคลื่นความถี่บางส่วนให้กลุ่มชินฯ ด้วย แต่เมื่อทักษิณไปเจรจาฮุนเซนไม่กี่วัน เราก็เห็นภาพราวกับละครหรือปาหี่ มีการจับตัวพนักงานด้วยข้อกล่าวหาขโมยตารางบิน นช.ทักษิณ ขยายผลเป็นการยึดสัมปทานคืนทันที

ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็สะท้อนวิธีคิดวิธีทำงานของ นช.ทักษิณ ตอนจะลงทุนเอาเงินบริษัทมหาชนเข้าไปลงทุน เป็นวิธีเติมกำไร และเพิ่มทวีคูณด้วยบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เมื่อหัวใจเริ่มไม่เป็นไทย ก็อาจพร้อมจะดึงกิจการภายใต้บริษัทมหาชนนั้นๆ ไปเซ็งลี้ส่วนตัวกับผู้นำกัมพูชาได้

ดึงสัมปทานรัฐของชาติเป็นประโยชน์ส่วนตัวก็ทำมามากมาย การผ่านบริษัทมหาชน ก็ทำให้ได้ผลทวีคูณ แต่เมื่อถึงเวลาไม่มีอำนาจบริหารชาติ ก็กลับดูดเอาประโยชน์ของบริษัทมหาชน กลับมาเป็นของส่วนตัวไปแบ่งกับต่างชาติก็ทำได้โดยไม่รู้สึกอะไรเลย นี่ก็คือ การบริหารกิจการสาธารณะโดยละเลยเรื่อง “การขัดกันของประโยชน์” อีกครั้งอย่างชัดเจน

ก็ยืนยันความผิดกรณีที่ดินรัชดาฯ ที่หนีศาลหนีคุกไปต่างประเทศด้วยเรื่อง “การขัดกันของประโยชน์”

และย้อนไปจุดตั้งต้นกรณีวินมาร์ค ที่น่าจะได้ตั้งตั้งแต่ปี 2537 สมัยที่นั่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและมีส่วนในการร่วมคณะกรรมการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน จนอาจนำไปสู่การตักตวงกำไรส่วนตัว ในยามที่ฐานะการเงินไทยเปราะบาง ดังที่ นายเสนาะ เทียนทอง ได้เปิดโปงเมื่อต้นปี 2549 ว่า “รวยจากโกงชาติ กล้าทำแม้เผาบ้านเผาเมืองเพื่อเอาประกัน... ให้ นายทนง พิทยะ มาเป็น รมว.คลัง เข้ามาไม่กี่วันก็ลอยตัวค่าเงินบาท จาก 26 บาท ขึ้นเป็น 50 บาท พี่น้องคนไทยเจ๊งเป็นเอ็นพีแอลทั้งประเทศ”

จากการติดตามข่าวสารต่างๆ ทั้งความคืบหน้าด้าน คตส. หรือ ก.ล.ต. ก็น่าเชื่อได้ว่า “ดิ้นหลุดยาก” โดย คตส. ผู้ช่วยฟ้องให้ยึดทรัพย์ นช.ทักษิณเป็นของรัฐ มีหลักฐานพอเพียงที่จะพิสูจน์ว่า วินมาร์คต้องเป็นของ นช.ทักษิณ และครอบครัวในฐานะผู้รับประโยชน์แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners)

ในขณะที่ครอบครัวชินวัตร ปฏิเสธมาตลอด โดยอ้างว่า เป็นนักลงทุนต่างประเทศธรรมดา ซื้อมาเพื่อรอเข้าตลาดฯ ในอนาคต จนเมื่อให้การที่ศาลในครั้งนี้ จึงได้อ้างว่าเป็นของนายมามุส โมฮัมหมัด อัล อัลซาลี เศรษฐีตะวันออกกลาง ก็คงเป็นการกล่าวอ้างโดยรวมจากทุกฝ่ายที่พร้อมให้ผู้รับทราบได้วินิจฉัย

หากดูจากหลักฐานที่ คตส. มี ก็ดูจะอยู่ในระดับที่มั่นใจว่าพอเพียงแล้ว ดังนี้

1.ในวันที่ 1 สิงหาคม 2543 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ขายหุ้นของตนและภรรยาให้แก่กองทุนวินมาร์ค ในราคาเท่ามูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้ว ได้แก่ บริษัท พี.ที. คอร์ปอเรชั่น, เอสซีออฟฟิซ ปาร์ค, เวิร์ธ ซัพพลายซ์, โอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้ (เอสซี แอสเสทฯ (มหาชน)), เอส ซี เค เอสเทต และ บี.พี. พร็อพเพอร์ตี้ สิ่งซึ่งแปลกมากสำหรับการจะกล่าวว่าเป็นนักลงทุนทั่วไป เพราะเป็นการขายที่ราคาพาร์ทุกบริษัท ทั้งๆ ที่มูลค่าทางบัญชีไม่เท่ากัน และกำไร/ขาดทุนไม่เท่ากันเลย เหมือนขายกันเองในครอบครัว ต่างกับกรณีขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้เทมาเส็ก ที่ราคาหุ้นละ 49.25 บาท ต่อรองกันถึงเศษ 25 สตางค์

2.วินมาร์ค จ่ายเงิน ให้คุณหญิงพจมาน ก่อนรับหุ้นเป็นจำนวนมาก โดยก้อนแรกๆ นั้น คือรายการวันที่ 11 และ 12 พฤษภาคม รวมประมาณ 550 ล้านบาท นั้น สอดคล้องกับการจ่ายค่าจองซื้อหุ้นสามัญ บมจ.ธนาคารทหารไทย ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2543 ทำให้เชื่อได้ว่า เป็นการนำเงินของวินมาร์ค ซึ่งเป็นของตัว มาจองซื้อหุ้น ธนาคารทหารไทย และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์มากกว่า โดยจ่ายเงินกว่า 500 ล้านบาท โดยไม่มีสัญญา และไม่ได้หุ้นอะไรเลย จนอีกประมาณ 3 เดือนจึงได้หุ้นในวันที่ 1 สิงหาคม นั้น ไม่น่าเชื่อว่าเป็นจริง ทั้งนี้ หุ้นก็เป็นหลักทรัพย์ที่แบ่งแยกทยอยส่งมอบตามจำนวนที่ตกลงกันก็ย่อมได้

3.วันที่ 24 สิงหาคม 2544 UBS AG Singapore ได้ทำรายงาน 246-2 ต่อ ก.ล.ต. เปิดเผยว่าได้รับหุ้นชินฯ มา 10 ล้านหุ้น รวมกับหุ้นเดิมที่มีอยู่แล้ว 5,405,913 หุ้น เป็น 15,405,913 หุ้น คิดเป็น 5.24% ทำให้ต้องรายงานต่อ ก.ล.ต. ตามหลักฐานจาก ก.ล.ต. หุ้น 10 ล้านหุ้นเป็นของ “แอมเพิลริช” อีกประมาณ 5.4 ล้านหุ้นนั้น มีหลักฐานว่าเป็นของ “วินมาร์ค” ดังแสดงในทะเบียนหุ้น UBS AG Singapore – Pledge A/C 121751 ตรงกับข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นซึ่งดูได้จากตลาดหลักทรัพย์ฯ และตรงกับหลักฐานการสั่งชำระเงินให้วินมาร์ค โดย น.ส.พิณทองทา ในวันที่ 27 ตุลาคม 2547

4.โดยมีการติดตามเพื่ออธิบายข้อกังขาว่า ทำไม 10 ล้านหุ้นของแอมเพิลริชของครอบครัวชินวัตร จึงถูกนับรวมเป็นหุ้นของบุคคลเดียวกัน ตามมาตรา 246 และ 258 กับอีก 5.4 ล้านหุ้น ซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นของวินมาร์คได้ เมื่อสอบถามว่าเป็นการรายงานที่มีความผิดพลาดหรือไม่? ก็ได้รับคำตอบว่า เป็นรายงานที่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายโดยได้ผ่านจุด (triggered) ของการรวมหุ้นของบุคคลเดียวกัน แต่มีความผิดพลาดเล็กน้อย คือไม่ใช่การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาหุ้นละ 179 บาทแต่อย่างใด ซึ่งหากได้ทบทวนว่า 10 ล้านหุ้นของแอมเพิลริช และ 5.4 ล้านหุ้นเป็นของวินมาร์ค ของ นายมามุส โมฮัมหมัด อัล อัลซาลี ดังฝ่ายคัดค้านแจ้ง ธ.ยูบีเอส ก็น่าจะแจ้งกลับต่อ ก.ล.ต. ง่ายๆว่า รายงานนี้ไม่ได้นับรวมถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยไม่ใช่บุคคลเดียวกันตามมาตรา 258 และแม้จะมีความพยายามอธิบายว่า “ไม่มีหน้าที่ต้องรายงาน” ก็ไม่ได้ล้มล้างการที่รายงานมาแล้วตามกฎหมายที่สะท้อนว่าเป็นหุ้น 2 จำนวนของบุคคลเดียวกัน

5.ทักษิณตอบสื่อมวลชนในวันที่ 12 กันยายน 2543 ว่า “ที่ต่างชาติสนใจซื้อเพราะบริษัทจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในโอกาสต่อไป” แต่ความจริง ใน 6 บริษัทที่วินมาร์คซื้อไปนั้น มีบริษัทเดียวที่เข้าตลาดฯ ได้ คือ บ.โอเอไอ พร็อพเพอตี้ (ปัจจุบันคือ SC) แต่วินมาร์คกลับขายหุ้นออกไป 3 สัปดาห์ก่อนยื่นไฟลิ่ง คือวันที่ 11 สิงหาคม 2546 โดยผู้ซื้อคือ VAF (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น VIF) ซึ่ง ถือหุ้นเพียง 3 สัปดาห์แล้วขายต่อให้ อีก 2 กองทุน คือ OGF และ ODF เหมือนเป็นคนละกองทุน โดยทั้ง VAF, OGF และ ODF มีที่อยู่ที่มาเลเซียเหมือนกัน คือ เลขที่ L1, LOT7, BLK F, SAGUKING COMMERCIAL BLDG. LALAN PATAU-PATAU, 8700 LABUAN FT, MALYSIA หลังจากขายหุ้นที่เข้าตลาดฯ ได้หุ้นเดียวไป วินมาร์คกลับถือหุ้นที่เหลือที่ “ไม่ได้เข้าตลาด” ไปอีกปี แล้วขายคืนให้ น.ส.พิณทองทา ทั้งหมด เป็นเงิน 485.8 ล้านบาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2547 ทุกบริษัทเหมาเข่งที่หุ้นละ 10 บาท แบบนอมินีอีกเช่นเคย

6.นอกจากนั้น มีการเพิ่มทุนที่ราคาหุ้นละ 10 บาท เพื่อขายให้ น.ส.พิณทองทา และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นเหตุให้ VIF ต้องเสียประโยชน์จากส่วนต่างของราคาหุ้นเมื่อ SC Asset ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณ 71 ล้านบาทเศษ ทำให้ไม่น่าเชื่อว่า VIF เป็นผู้ลงทุนอิสระดังที่อดีตผู้นำกล่าว

หลักฐานสนับสนุน ยังมีอีกหลายประการ ดังนี้

7.วันที่ 19 มิถุนายน 2550 นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้แถลงว่า คณะพนักงานสอบสวนซึ่งมีพนักงานอัยการ และผู้แทนสำนักงาน ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย ได้สอบสวนในคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น SC แล้ว พบพยานหลักฐานที่ทำให้น่าเชื่อว่า Win Mark, VIF, OGF และ ODF เป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้น (Nominee) ของพ.ต.ท. ทักษิณ และภรรยา มาโดยตลอด

8.แม้ในวันที่ 15 ตุลาคม 2551 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นดังกล่าว แต่ในสำนวนมิได้มีการกล่าวอ้างถึงข้อมูลตามหลักฐานที่มี ว่าขัดแย้งกับข้อกล่าวหาว่า Win Mark เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวแต่อย่างใดเลย

9.นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ยืนยันตามหลักฐานที่ได้รับจากประเทศต่างๆ ยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานได้จัดตั้งกองทุนลับ “ซิเนตรา ทรัสต์” ขึ้น จากนั้นให้กองทุนดังกล่าวเข้าไปถือหุ้นบริษัท บลูไดมอนด์ จำกัด 100% และบริษัท บลูไดมอนด์ ถือหุ้นในบริษัท วินมาร์ค 100% โดย พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานได้ว่าจ้าง บริษัท แมธีสัน ทรัสต์ บนเกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่ว่าจ้างให้จัดตั้งบริษัท แอมเพิลริชฯ ดำเนินการจัดตั้งบริษัททั้งสามและในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งต้องฟังคำสั่งจากผู้ว่าจ้าง และเอกสารการจัดตั้ง “ซิเนตรา ทรัสต์” ระบุชัดว่า ผู้รับประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมานและลูกๆ

10.คตส. ยังมีหลักฐานเพิ่มเติมอีกว่า ในวันที่ 19 กันยายน 2545 ธ.ยูบีเอสได้ส่งหุ้นไปเข้าบัญชี UOB Nominee Private Limited เพื่อบัญชีวินมาร์ค จำนวน 18,048,870 หุ้น โดยตัดหุ้นจากบัญชีที่ถือหุ้นแอมเพิลริช ด้วยทำให้จำนวนหุ้นในบัญชีที่เก็บต่ำกว่า 100 ล้านหุ้น และต่อมายูบีเอสตัดหุ้นจากบัญชี Pledge A/C-121751 (รหัสบัญชีวินมาร์ค) จำนวน 17 ล้านหุ้น มาชดเชยบัญชีแอมเพิลริช ในวันที่ 4 ตุลาคม 2545 ทำให้หุ้นในบัญชี Pledge A/C-121751 ดังกล่าว ลดลงจาก 53,642,130 หุ้น เหลือ 36,642,130 หุ้นการตัดบัญชีดังกล่าวเป็นหลักฐานอีกส่วนหนึ่งที่ยืนยันว่า แอมเพิลริช และวินมาร์ค เป็นเจ้าของเดียวกัน จึงตัดหุ้นกว่า 18 ล้านหุ้นจากบัญชีแอมเพิลริชส่งไปเข้าบัญชีวินมาร์ค ที่ยูโอบี และตัดหุ้นจากบัญชีวินมาร์ค มาคืนเพียง 17 ล้านหุ้นก็ทำได้ ทั้งนี้รายการรับส่งหุ้นต่างๆ เหล่านี้ เป็นรายการที่ไม่มีการชำระเงินแต่อย่างใด

11.ไทยทนเข้าใจว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ส่งหนังสือโดยท่านเลขาธิการ ก.ล.ต. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แสดงความเห็นแย้งต่อกรณีสั่งไม่ฟ้องคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น เอสซี แอสเสท โดยได้ยืนยันว่า มีหลักฐานมากมายในคดีชี้ชัดว่า พ.ต.ท. ทักษิณ และครอบครัวเป็นเจ้าของผู้รับประโยชน์แท้จริงของกองทุนวินมาร์ค

ข้อโต้แย้งต่างๆ ของผู้คัดค้าน ก็ล้วนแล้วแต่ฟังไม่ขึ้น ดังนี้

12.ในการให้การต่อศาลในช่วงปลายปี 2552 นี้เอง ครอบครัวจึงได้แจ้งว่า มีนาย นายมามุส โมฮัมหมัด อัล อัลซาลี เป็นเจ้าของ แต่ไม่น่าเชื่อถือ ด้วยหากเป็นจริง (ก) ทำไม พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ตอบตั้งแต่กันยายน 2543 เพราะจะช่วยไขข้อข้องใจเรื่องวินมาร์คไปได้ชัดเจน (ข) ทำไม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำหนังสือถึง ก.ล.ต. ในช่วงต้นปี 2549 ว่า “จากการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนบริษัท SC พบชื่อ วินมาร์ค แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับครอบครัว” สะท้อนว่า ไม่ได้ทราบอยู่แล้วว่าเป็นเพื่อนกันนับ 10 ปี ทำไมต้องไปสำรวจทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงได้ทราบ และเพียงยืนยันว่า ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับครอบครัวชินวัตร โดยไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นใครให้ชัดเจน (ค) หากเป็นคนละบุคคลจริงๆ ยูบีเอสน่าจะได้แจ้งยกเลิกรายงาน 246-2 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 ด้วยเป็นการนับความเป็นบุคคลเดียวกันไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ มาตรา 258

13.น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ได้เบิกความถึงความจำเป็นที่จะต้องซื้อหุ้นบริษัทคืนจากบริษัท วินมาร์ค ที่มีนายมามุด มหาเศรษฐีชาวตะวันออกกลาง เพื่อนนักธุรกิจของบิดา ว่า เพราะก่อนหน้านั้น บิดาเคยขายหุ้นให้ บ.วินมาร์ค ปี 2542 เนื่องจากขณะจะนำบริษัทในเครือชิน 5 แห่ง เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และให้คำมั่นไว้ว่าจะรับซื้อคืน หากไม่ได้นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ครบตามที่ระบุไว้ แต่เธอทราบหรือไม่ว่า ใน 6 บริษัทนั้น มีเพียงบริษัทเดียวที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ คือ โอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้ (เปลี่ยนชื่อเป็น SC) วินมาร์คถือทั้ง 6 บริษัทมาตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2543 แต่กลับต้องขายหุ้น SC ออกไปในวันที่ 11 สิงหาคม 2546 เพียง 3 สัปดาห์ก่อนยื่นไฟลิ่งกับสำนักงาน ก.ล.ต. ดังข้อ 5 ข้างต้น แล้วคำอ้างว่า “วินมาร์คมีเงื่อนไขให้ทุกบริษัทต้องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ” จะเชื่อถือได้จริงหรือ?

14.แม้วินมาร์คจะถือหุ้นประมาณ 20-40% ในบริษัทต่างๆ นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เหล่านั้น กลับไม่ได้ส่งกรรมการเข้ามาร่วมบริหารเลยตลอดการถือครองหุ้นโดยวินมาร์คดังกล่าว

15.แม้มีการซักถามต่อผู้ที่ได้เคยเห็นเอกสารความเป็นเจ้าของกองทุนวินมาร์ค ว่าเคยเห็นเอกสารระบุว่า นายมามุด เป็นเจ้าของหรือไม่? ก็ได้รับคำยืนยันว่า “ไม่มี” เลย

การพิสูจน์ความเป็นเจ้าของวินมาร์ค จะประกอบกับการใช้ชื่อคนใกล้ชิดถือหุ้นชินคอร์ปฯ แทนตน อันเป็นการผิดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. โดยการแก้เงื่อนไขสัมปทานต่างๆ และนโยบายที่เกี่ยวข้อง อาจได้เอื้อประโยชน์กิจการของตน โดยทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ เช่น การลดค่าสัมปทานมือถือ การให้ภาครัฐรับภาระภาษีสรรพสามิต เป็นต้น ก็เป็นการยืนยันพฤติกรรม นช.ทักษิณคนเดิมว่า “ยอมเสียสละส่วนรวมเพื่อส่วนตัว” อย่างชัดเจนมาจนถึงทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น