xs
xsm
sm
md
lg

ทวงคืนที่ดินรัชดาฯ อัยการชี้สัญญาโมฆะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-แบงก์ชาติเดินหน้าฟ้องร้อง"หญิงอ้อ"ทวงคืนที่ดินรัชดาภิเษกคืน 33 ไร่ หลังอัยการตีความสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ เหตุเป็นภรรยานายกรัฐมนตรี ด้านทนายลิ่วล้อนช.แม้ว ยันไม่คืนที่ดิน พร้อมโบ้ยแบงก์ชาติอาจไม่คืนเงิน อัยการเร่งรัดคดีหวั่นหมดอายุความ 21 ต.ค.52 ส่วนคดีขายหุ้นชินคอร์ป น้อง“ พินทองทา ” ตีบทแตก เบิกความเสียงสั่น น้ำตาซึม กลางศาล ยันได้หุ้นชินคอร์ป ฯ จากโอ๊ค พานทองแท้ มาด้วยสุจริต ปัดไม่เชื่อ“ พ่อ” ไม่มีเงินแสนล้านซุกอังกฤษ ขณะที่ " พจมาน ” เผย โล่งหลังครอบครัวให้การชั้นศาล ตอนนี้ขอแค่ความยุติธรรม

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุนฟื้นฟูฯ) ได้ยื่นหนังสือ ขอความคิดเห็นต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เกี่ยวกับสัญญาการซื้อขายที่ดินรัชดาฯ ระหว่างคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นภริยาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นกับกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นโมฆะหรือไม่ หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตัดสินไม่ให้นายกรัฐมนตรีหรือภริยาเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐนั้น ทำให้สำนักงานอัยการได้แจ้งมติมายังบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ ให้ทวงคืนที่ดินดังกล่าว ทำให้คุณหญิงพจมาน ยื่นเงื่อนไขกลับมาให้กองทุนฟื้นฟูฯ จ่ายอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 80 ล้านบาท นอกเหนือจากเงินที่เกิดจากการทำสัญญาซื้อขายที่ดินรัชดาฯ 772 ล้านบาทนั้น

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) เปิดเผยว่า กองทุนฟื้นฟูฯ เตรียมดำเนินการฟ้องร้องคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (นช.ทักษิณ) อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อทวงที่ดินบริเวณถนนรัชดาภิเษก จำนวน 33 ไร่ คืน ซึ่งทางอัยการได้แนะนำมา หลังจากกองทุนฟื้นฟูฯได้ทำหนังสือสอบถามความเห็นเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการหารือกันในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากกองทุนฟื้นฟูฯไม่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จึงจะให้อัยการเป็นฝ่ายดำเนินการ และให้เสนอคำแนะนำแนวทางปฏิบัติกับกองทุนฟื้นฟูฯ

ด้านนางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะ ผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ ธปท. กล่าวว่า ผลการสอบถามความเห็นสำนักอัยการสูงสุด ได้เสนอให้กองทุนฟื้นฟูฯฟ้องร้องคุณหญิงพจมานเพื่อดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนที่ดิน จากก่อนหน้านี้สำนักงานอัยการสูงสุดตีความว่าสัญญาการซื้อขายที่ดินบริเวณดังกล่าวถือเป็นโมฆะ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี หรือภรรยาไม่สามารถเป็นคู่สัญญากับรัฐได้

ทนายยันไม่คืนที่ดิน

วานนี้ (17 ก.ย.) นายพิชิฏ ชื่นบาน อดีตทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ รับผิดชอบคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกของกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวยืนยันว่าคุณหญิงพจมาน ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่กองทุน ฯ จัดการประมูลทุกประการ โดยชำระค่าธรรมเนียมซื้อที่ดิน 772 ล้านบาทเศษให้กองทุน ฯ และมีการจดทะเบียนนิติกรรม มีชื่อเป็นกรรมสิทธิ์เรียบร้อยทุกประการ

ส่วนที่กองทุน ฯ อ้างว่า หารือข้อกฎหมายกับสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว อัยการให้ความเป็นนิติกรรมเป็นโมฆะนั้น ในส่วนของคุณหญิงพจมาน ยืนยันหลักความสุจริตในการซื้อขายที่ดิน เพราะนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯธปท.และในฐานะประธานกรรมการ(บอร์ด)กองทุนฯโดยตำแหน่ง เคยทำหนังสือถึง ป.ป.ช.รวมทั้งให้การว่า กองทุนฯไม่ใช่ผู้เสียหายและกองทุนมีอำนาจซื้อขายที่ดิน ขณะที่คดีอาญาที่ถูกฟ้องนั้น ในเนื้อหาคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ไม่ได้ระบุว่า นิติกรรมเป็นโมฆะ รวมทั้งศาลไม่ได้มีคำสั่งยึดที่ดินและเงินที่ซื้อขายแต่อย่างใด

นายพิชิฏ กล่าวอีกว่า หลังจากที่คุณหญิงพจมาน ส่งหนังสือปฏิเสธการคืนที่ดินที่ซื้อมาโดยสุจริตแล้ว หากกองทุน ฯ จะนำเรื่องไปฟ้องคดีแพ่งโดยอ้างว่านิติกรรมเป็นโมฆะเพื่อบังคับคดีในการยึดคืนที่ดิน คุณหญิงพจมานก็พร้อมจะต่อสู้คดี อย่างไรก็ดีคดีแพ่งที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี ขณะที่คดีนี้ตัดสินเมื่อเดือน ต.ค.ปี 2551 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ตนตั้งข้อสังเกตในการทำหนังสือของกองทุน ฯ แจ้งยึดที่ดินคืนว่า ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการ ( บอร์ด) กองทุน ฯ แล้วหรือไม่และมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงครอบงำ สั่งการให้กองทุนทำหนังสือดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ หากกองทุนฯจะอ้างนิติกรรมเป็นโมฆะจริงแล้ว ตามหลักกฎหมายจะต้องถือว่าผู้ซื้อและผู้ขาย จะต้องกลับไปสู่ฐานะเดิมตามหลักกฎหมายของลาภที่มิควรได้ คือ กองทุนต้องคืนเงินซื้อขายที่ดินให้คุณหญิงพจมานก่อนที่จะให้ส่งคืนที่ดิน แต่การดำเนินการเรื่องนี้ของกองทุนฯ ยังมีข้อผิดปกติและสงสัยที่จะไม่เป็นธรรมต่อคุณหญิงว่า จะเรียกคืนที่ดินเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คืนเงินซื้อขายหรือไม่

อัยการเร่งรัดคดี
ก่อนหมดอายุความ


นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุดในฐานะประธานคณะทำงานอัยการรับผิดชอบคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ กล่าวถึงกรณีที่อัยการได้รับการประสานให้ฟ้องคดีแพ่ง เพื่อเรียกที่ดินคืนจากคุณหญิงพจมานว่า ตนได้มอบหมายให้นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษหัวหน้าคณะทำงานอัยการในคดีดังกล่าวรับผิดชอบดูรายละเอียดในเรื่องนี้ โดยการฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกคืนที่ดินนั้นจะเป็นการฟ้องในลักษณะว่า เป็นลาภที่มิควรได้ ซึ่งหากฟ้องแล้วคุณหญิงพจมาน ผู้ซื้อที่ดินยอมคืนที่ดินดังกล่าว กองทุนจะต้องคืนเงิน 772 ล้านบาทเศษ ขณะที่การฟ้องคดีแพ่งจะมีอายุความ 1 ปี โดยคดีนี้ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2551 ดังนั้นตนจึงได้เร่งให้นายเศกสรรค์ พิจารณาเรื่องนี้ให้ทันเวลาซึ่งเบื้องต้นทราบว่ายังรอเอกสารจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอยู่

'พินทองทา'
ตีบทแตกซื้อหุ้นชินคอร์ป


วานนี้ ( 17 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานคดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว รวมทั้งผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินรวม 22 คน มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาทเศษ ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ

โดยน.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะผู้คัดค้านการอายัดทรัพย์สินคดีนี้ เดินทางมาพร้อมกับคุณหญิงพจมาน นายพานทองแท้ ชินวัตร พี่ชาย นายบรรพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน และ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน โดยทั้งหมดมีสีหน้าแจ่มใส

น.ส.พินทองทา เบิกความว่า พยานมีทรัพย์สินซึ่งถูกอายัดทรัพย์ในคดีนี้รวม 23,529,800,000 บาทเศษ โดยทรัพย์สินของพยานมีเงินฝาก 6 บัญชี และส่วนที่เป็นหลักทรัพย์กองทุนเปิดธนาคารไทยพาณิชย์ อีก 218,800,000 บาทเศษ โดยทุกบัญชีดังกล่าวมีชื่อพยานเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

ส่วนเรื่องการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พยานซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าวมาจากนายพานทองแท้ พี่ชาย รวม 2 ครั้ง คือ 9 ก.ย. 45 จำนวน 367 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 1 บาท รวมเป็นเงิน 367 ล้านบาท ซึ่งพยานชำระค่าหุ้นด้วยเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ สำนัก รัชโยธิน โดยเงินที่นำมาซื้อหุ้นเป็นเงินที่มารดา ให้เป็นของขวัญวันเกิดเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 45 จำนวน 370 ล้านบาท ซึ่งเงินของขวัญไม่มีภาระต้องเสียภาษี เพราะเป็นเงินที่บุพการีมอบให้ และเหตุที่พยานนำเงินของขวัญไปซื้อหุ้นพี่ชาย เนื่องจากมารดาอยากให้พยานนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจ และที่ซื้อขายหุ้นในราคา 1 บาท นั้น เพราะพี่ชายได้ซื้อหุ้นดังกล่าวมาจากพ่อแม่ในราคาเดียวกัน ด้วยความน่ารักของพี่ชายจึงขายแบบไม่คิดเอากำไรน้อง

ส่วนการซื้อหุ้นจากพี่ชายครั้งที่ 2 เริ่มเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 46 ซึ่งซื้อหุ้นบริษัทชินคอรป์ และบริษัทชินแซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) รวม 110 ล้านบาท โดยชำระด้วยเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักรัชโยธิน เช่นกัน และได้จดทะเบียนรับโอนหุ้นเป็นที่เรียบร้อย

สำหรับการถือหุ้นบริษัทแอมเพิลริช อินเวส์ตเมท จำกัด (มหาชน) น.ส.พินทองทา เบิกความว่า วันที่ 4 ม.ค. 49 พยานและพี่ชายในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทชินคอรป์ได้โอนขายหุ้นให้บริษัทแอมเพิลริชฯ จำนวน 164.6 ล้านหุ้น และเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 49 จึงได้นำหุ้นที่บริษัทแอมเพิลริชฯถืออยู่ขายให้กับกองทุนเทมาเส็กฯ ประเทศสิงคโปร์ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยพยานได้รับชำระเงินผ่านในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ฯ สำนักรัชโยธิน ในวันที่ 26 ม.ค. 49 จำนวน 29,696 ล้านบาทเศษ ขณะที่บัญชีดังกล่าวก่อนได้รับชำระเงินพยานมีเงินในบัญชี 1,773 ล้านบาทเศษ ซึ่งไม่ใช่เงินที่ได้จากการขายหุ้น แต่กลับถูก คตส. อายัดเงินในบัญชีไว้ทั้งหมด

ทั้งนี้ น.ส.พินทองทา ยังเบิกความถึง ภาษีที่ถูก คตส. ตรวจสอบและกรรมสรรพากรเรียกเก็บจากการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ให้บริษัทแอมเพิลริชฯ ว่า กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากพยานและพี่ชายคนละกว่า 5,000 ล้านบาท โดยเรียกเก็บในฐานะผู้ถือหุ้นแต่ในคดีที่ คตส.อายัดทรัพย์ไว้กลับระบุว่า ทรัพย์ที่ถูกอายัดเพราะพยานและพี่ชายไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง ซึ่งพยานเห็นว่าเรื่องดังกล่าวขัดแย้งกันและไม่น่าจะถูกต้อง

น.ส.พินทองทา ยังได้เบิกความถึงทรัพย์สินหลังจากการขายหุ้นว่า นอกจากจะฝากเงินที่ได้จากการซื้อขายหุ้นไว้ในบัญชีหลายบัญชีแล้ว ยังนำเงินไปลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเปิดบริษัทชินวัตร แฟมิลี่ แอสเซท จำกัด ในประเทศอังกฤษ มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ต่อมาพยานได้ขายหุ้นเพิ่มทุนให้บริษัทไทย 4 บริษัทๆ ละ 25 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด เพราะพยานได้ถูกอายัดทรัพย์สินในคดีนี้ก่อน นอกจากนี้ พยานยังได้นำเงินไปลงทุนในสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในประเทศอังกฤษ ขณะที่บิดาถือหุ้นอยู่ในสโมสรจำนวน 200,000 ปอนด์ ซึ่งเป็นเงินที่ขอมาจากมารดา

ต่อมาพยาน พี่ชาย และบิดา ได้ขายหุ้นสโมสรฟุตบอล หลังจากนั้นได้นำเงินไปลงทุนในเหมืองเพชรประเทศแอฟริกา โดยให้บิดาซึ่งอยู่ต่างประเทศดูแลบริหาร ส่วนที่มีข่าวออกมาว่าบิดามีทรัพย์สินอยู่ในประเทศอังกฤษประมาณ 1แสนล้านบาทนั้น ไม่เป็นความจริง หากมีทรัพย์สินอยู่ถึงแสนล้านก็คงดี โดยประเทศอังกฤษมีเพียงอพาร์ทเมนต์ ในกรุงลอนดอน ของพยานมูลค่าประมาณ 60-70 ล้านบาท และบ้านที่เป็นชื่อของมารดา มูลค่า 200 ล้านบาท เช่นเดียวกับข่าวที่ระบุว่าบิดามีเครื่องบินส่วนตัวก็เป็นเพียงเครื่องบินเช่าที่เพื่อนนักธุรกิจของบิดาให้ยืมมา ส่วนจะต้องชำระค่าเช่าอย่างไรพยานไม่ทราบ

ทั้งนี้น.ส.พินทองทา ยังเบิกความตอบคำถามศาลด้วยว่า ในการดำเนินธุรกิจของครอบครัว จะมีนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน มารดา ดูแลในชั้นปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการเอกสาร และทรัพย์สินต่างๆ ภายใต้ความเห็นชอบของบิดาและมารดาซึ่งบิดาและมารดาดูแลนโยบายทั่ว ๆ ไป แต่บิดาและมารดาไม่เกี่ยวข้องกับการขายหุ้นของพยานและพี่ชาย เมื่อศาลถามย้ำว่า หุ้นที่พยานได้มา เป็นหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ใช่หรือไม่ น.ส.พินทองทา กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เป็นหุ้นพยานซื้อมาจากพี่ชายที่แบ่งขายให้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ น.ส.พิณทองทา เบิกความคุณหญิงพจมาน และนายพานทองแท้ ถึงกับหยิบแว่นตากันแดดสีดำมาสวมทันที โดยคุณหญิงพจมานหยิบผ้ามาเช็ดน้ำตา และภายหลังที่ น.ส.พินทองทา เบิกความเสร็จสิ้นแล้วได้เดินลงจากที่นั่งพยาน ตรงเข้ามาหาคุณหญิงพจมาน และนายพานทองแท้ ซึ่งนั่งเก้าอี้ด้านหลัง ที่นั่งของพยานโดย น.ส.พินทองทา ได้กอดซบคุณหญิงพจมาน พร้อมกับร้องไห้

ขณะที่ก่อนจะเดินทางกลับ คุณหญิงพจมาน ซึ่งเดินประคอง น.ส.พินทองทา มาพร้อมกับนายพานทองแท้ กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า เมื่อครอบครัวให้การต่อศาลแล้วก็รู้สึกโล่งใจ โดยตนขอเพียงให้ได้รับความยุติธรรมเท่านั้น ขณะที่ น.ส.พินทองทา กล่าวว่า รู้สึกกดดัน แต่ก็โล่งใจ

ทั้งนี้ หลังจาก น.ส.พินทองทา ไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว ทนายความนำพยานซึ่งเป็นผู้แทนสำนักงานกฎหมาย ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ด้วยประมาณ 100,000 บาทเศษ ขึ้นไต่สวนจนแล้วเสร็จ โดยศาลนัดไต่สวนพยานต่อไปในวันที่ 22 ก.ย.นี้ เวลา 09.30 น.ซึ่งทนายความเตรียม น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯเข้าไต่สวนเพื่อเบิกความเกี่ยวกับนโยบายบริหารประเทศ ของรัฐบาลในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร.
กำลังโหลดความคิดเห็น