xs
xsm
sm
md
lg

อย่ากะพริบตา !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

สถานการณ์การเมืองสัปดาห์นี้จะร้อนแรงอย่างยิ่ง

นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่เสียรูปมวยจากการประชุม ก.ต.ช.เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2552 จะมี “ตัวช่วย” ทำให้ท่านหาทางออกโดยไม่เสียหลักการนิติรัฐที่ท่านยึดถือได้

ทางออกก็คือองค์ประกอบของ ก.ต.ช.มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลง

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณอาจไม่สามารถอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ตร. – หนึ่งในกรรมการ ก.ต.ช.โดยตำแหน่ง – ไปจนถึงวันเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2552


จำเรื่อง “งบประชาสัมพันธ์ 18 ล้านบาท” ที่ผมเคยเล่าให้ฟังมากกว่า 1 ครั้งได้มั้ย ?

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณถูกกล่าวหาว่าทำผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2538, ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องหลักเกณฑ์การซื้อและการจ้างโดยการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157 ประกอบด้วยมาตรา 83, 84, 86, 90 และ 91 สำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุค พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวสได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผลสรุปออกมาคณะกรรมการเห็นว่าผิดวินัยร้ายแรง

ซึ่งจะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในชั้นรัฐบาลตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) และ 86

แต่ก็มีการเพิกเฉยอยู่นานในยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชต่อเนื่องมาถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ทำหนังสือทวงถามรัฐบาลหลายครั้ง จนในที่สุดนายสมชายได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 305/2551 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี

และเตรียมที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนอยู่รอมร่อ !

แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นเสียก่อน

ต่อมา นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลชุดปัจจุบันขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีในรับบาลชุดก่อน ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 325/2551 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2551 ให้ พล.ต.อ.พัชรวาทกลับไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเหตุผลว่าการปฏิบัติภารกิจที่สำนักนายกรัฐมนตรีของ พล.ต.อ.พัชรวาทซึ่งมีเวลาเพียง 10 วันทำการนั้น เสร็จสิ้นแล้ว ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว และก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนประการใดถึงกับต้องลงนามในคำสั่งดังกล่าวในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ

คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ของวุฒิสภา ชุดที่ผมเป็นเลขานุการอยู่ ได้พิจารณาและมีมติให้มีหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว ตามหนังสือ ที่ สง (กมธ 2) 0010/414 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 แต่หายเงียบไป

ผมจึงตั้งกระทู้ด่วนถามนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2552 ใน 3 ประเด็น

1. กระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท และพวก ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง อยู่ในขั้นตอนใด ผลเป็นอย่างไร และมีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบในกรณีนี้หรือไม่

2. ระหว่างที่ พล.ต.อ.พัชรวาทไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีรวมระยะเวลา 10 วันทำการนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมายภารกิจใด และได้ปฏิบัติภารกิจนั้นเสร็จสิ้นเป็นประโยชน์ต่อทางราชการหรือไม่ อย่างไร

3. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 325/2551 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2551 เป็นไปโดยชอบด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหลักธรรมาภิบาล หรือไม่ เพียงใด


แต่ท่านประธานวุฒิสภาวินิจฉัยว่าไม่ใช่เรื่องด่วน จึงเป็นกระทู้ปกติ จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระ

ตอนที่มีเรื่องตึง ๆ ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ ผบ.ตร.เมื่อเดือนกว่าที่ผ่านมา ผมได้เขียนเรื่องนี้ลงในคอลัมน์นี้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2552 โดยตั้งใจจะบอกเป็นนัย ๆ กับผู้อ่านว่าอาจจะเป็นทางออกของนายกรัฐมนตรีได้

แต่ปรากฏว่าข้อมูลผมไม่ครบ !

เพราะทำหลายเรื่อง ผมเลยไม่ทันได้รู้พัฒนาการของเรื่องว่าหลังจากนายกรัฐมนตรีส่งเรื่องให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พิจารณาตามสายงานแล้วว่าควรทำอย่างไรต่อไป เพราะมีรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดนายสมชายคือนายสุพล ฟองงาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแท่นตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.อ.พัชรวาทเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามแล้ว นายสุเทพได้ส่งเรื่องให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอความเห็น

ปรากฏว่าได้มี “มือดี” ในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินเสนอความเห็นขึ้นไปให้ยุติเรื่อง !

ผมไม่อาจยืนยันได้ว่า “มือดี” คนนี้คือนายนัที เปรมรัศมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสียเองหรือไม่ !!

เข้าใจว่าสักเดือนสองเดือนก่อน นายกฯ อภิสิทธิ์ก็จำเรื่องนี้ได้ และคิดว่าอาจจะเป็นหนึ่งในทางออกที่สวยงามที่สุด เพราะเป็นบทบังคับให้ต้องทำตามกฎหมาย

จึงสอบถามเรื่องนี้ไปยังรองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ !

รองนายกฯ สุเทพจะตอบว่าอย่างไรไม่ทราบ แต่ท่านก็ “รัดกุม” พอตัว ได้ส่งเรื่องไปขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในสองสามประเด็น

นายกฯ อภิสิทธิ์จึงไม่มีเรื่องนี้เป็น “ตัวช่วย” ทีแรกก็หวังผลการพิจารณาจาก ป.ป.ช.ในคดี 7 ตุลาคม 2551 แต่ก็วืดอีก เพราะ ป.ป.ช.ดันไม่ชี้มูล แต่เพิ่มข้อกล่าวหา เป็นผลให้คดียืดออกมาอีก และมีแนวโน้มว่าจะยืดต่อไป

จึงต้องแก้ปัญหากันแบบตลกๆ ให้ ผบ.ตร.ไปต่างประเทศ และไปภาคใต้ แล้วตั้งผู้รักษาราชการแทน

ซึ่งที่สุดก็ไม่ได้ผล ในเมื่อท่านกลับมาก่อนกำหนด และเข้าประชุม ก.ต.ช.นัดสำคัญจนได้

วันนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์จะมี “ตัวช่วย” แล้วครับ !

เพราะสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยเสร็จแล้ว คำตอบอย่างเป็นทางการจะส่งมาถึงทำเนียบรัฐบาลในวันนี้...วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2552 !!


คำวินิจฉัยนี้มาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่อุดมไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในระเบียบบริหารราชการ แต่จะเป็นคณะ 1 หรือคณะ 2 หรือทั้ง 2 คณะ วันนี้ผมไม่อาจยืนยัน

คำวินิจฉัยนี้มีว่าอย่างไร ผมยังไม่เห็นจึงไม่อาจเล่าให้ฟังได้

ทราบมาแต่เพียงว่าหากนายกฯ อภิสิทธิ์ปฏิบัติตาม ก็จะแก้ปัญหาในขั้นตอนที่ 2 ได้ โดยจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างสง่างามภายใต้หลักนิติรัฐ

หลังจากเข้าบ้านนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดอกกันเรื่อง “ข้อมูล” มาแล้ว 2 วันซ้อน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาสำคัญในขั้นตอนที่ 1 เป็นปฐมบทไปแล้ว

แต่เรื่องจะลงเอยด้วยดีไม่มีแรงต้านเลยหรือไม่ – นี่สิครับถึงต้องอย่ากะพริบตา !
กำลังโหลดความคิดเห็น