xs
xsm
sm
md
lg

คำถามน่าพิศวงถึง กายสิทธิ์ พิศวงปราการ

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

เพิ่งร่วมรำลึกครบรอบ 1 ปี “7 ตุลาฯ ต้องไม่สูญเปล่า” ไปไม่นาน จนกระทั่งบัดนี้ผ่านมาจะเข้าสู่ปีที่สอง จนแล้วจนรอดกฎหมายบ้านเมืองยังไม่อาจลากคอเอาฆาตกรที่สั่งฆ่าน้องโบว์ และสารวัตรจ๊าบมาลงโทษได้เลย ดูเหมือนจะตีบตันไปทุกทาง

ทางหนึ่ง เรื่องไปถึง ป.ป.ช. แม้มีการชี้มูลความผิดตำรวจชั่ว ก็ถูกตำรวจพวกเดียวกันในคราบ ก.ตร. ป้องปัดไม่ยอมให้มีการลงโทษ

ทางหนึ่ง เรื่องไปถึงวุฒิสภา หมายจะให้มีการถอดถอนนักการเมืองที่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่สั่งสังหารประชาชน กระบวนการก็ยืดเยื้อข้ามปีมาจนถึงบัดนี้

และทางหนึ่ง ส่งอัยการให้ตั้งเรื่องฟ้องศาล อัยการก็บอกปัดอ้างสำนวนไม่สมบูรณ์ ยื้อเวลาทำคดีให้ล่วงเลยออกไป

มันน่าท้อใจ ที่หนทางแห่งความยุติธรรมเส้นนี้ช่างตีบตันสิ้นดี ความยุติธรรมที่ถูกยื้อให้เนิ่นนานผ่านไปเป็นเดือนปีรังแต่จะทำให้ชาวบ้านตาดำๆ อย่างเราน้อยเนื้อต่ำใจในความอยุติธรรมที่บังเกิดขึ้น และมันยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า ต่อให้บ้านเมืองมีตุลาการศาลสูงสุดที่ผดุงความยุติธรรมอย่างยิ่งยวดราวกับ “เปาบุ้นจิ้น” ก็อาจจะเปล่าประโยชน์ หากต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมนั้นยังไม่อาจเป็นที่พึ่งสำหรับประชาชน

ที่พอจะทำให้ดวงวิญญาณของวีรชน 7 ตุลาฯ ได้หลับอย่างเต็มตาประการเดียว เห็นจะเป็นน้ำพระราชหฤทัยขององค์พ่อหลวง-แม่หลวงที่แผ่ไพศาลมายังปวงข้าประชาชนอย่างเราๆ ยังจำได้ย้อนกลับไปเมื่อ 13 ตุลาคม 2551 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ พระราชทานเพลิงศพให้กับน้องโบว์ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ และยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวน้องโบว์เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ก่อนที่ต่อมานายจินดา ระดับปัญญาวุฒิ บิดาน้องโบว์จะเปิดเผยถึงพระราชปฏิสันถารที่ยังตราตรึงใจ สมาชิกครอบครัวระดับปัญญาวุฒิไปอีกนานเท่านาน

“ลูกสาวเป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์”

ก่อนจะเสด็จฯ กลับ ยังทรงมีพระราชปฏิสันถารกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ที่เข้าแถวเฝ้ารอส่งเสด็จพระราชดำเนิน ยังความปีติให้กับผองเรา พันธมิตรฯ ถ้วนหน้า (คมชัดลึก, 13 ต.ค. 51)

ต้องยอมรับว่า ทันทีที่นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการคดีอาญาออกมาเปิดเผยว่า อัยการคดีอาญามีความเห็นสั่งฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และจำต้องเร่งรัดให้พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ติดตามตัวนายสนธิมาส่งอัยการ โดยกำหนดนัดต้นเดือน มี.ค.นี้ และขู่ว่า ถ้านำตัวมาไม่ได้อาจขอศาลออกหมายจับนั้น คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดเหมือนๆ กับผู้เขียน คือ ตั้งคำถามกับการตัดสินใจสั่งฟ้องของอัยการในคดีนี้

เหมือนกับที่ประชาชนเคยตั้งคำถามดังๆ ทุกครั้งที่พบเห็น คำสั่งอัยการในหลายคดีที่มีลักษณะค้านสายตาของประชาชน สวนทางกับความจริงที่สังคมประสบพบเห็น

คดีของสนธิ ลิ้มทองกุลไม่ใช่คดีแรก แต่ยังมีกรณีที่อัยการใช้ดุลพินิจตัดสินคดีอื่นอย่างน่าพิศวงสมกับนามสกุลท่านอธิบดีคดีอาญา เช่น ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีปกปิดโครงสร้างหุ้นเอสซีแอสเสท, คดีถุงขนม 2 ล้าน

หรือแม้แต่คดีบุกบ้านป๋าฯ ที่รอบแรก นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ คนเดียวกันนี้ ออกมาทำให้สังคมอึ้งกิมกี่ไปทั้งบ้านทั้งเมืองว่า อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นปช. บุกบ้านสี่เสาฯ โดยอ้างว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปอย่างเปิดเผย ไม่มีอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่โชคดีที่เมื่อสำนวนตีกลับไปที่ สตช. และตำรวจได้ส่งความเห็นแย้งกลับมายังอัยการจนทำให้นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดต้องเป็นผู้ชี้ขาด กับดุลพินิจของอัยการเสียใหม่

(หมายเหตุ : ดูประกอบพาดหัวข่าว ไม่ฟ้อง “แดงถ่อย” บุกบ้าน “ป๋า” อัยการอ้างชุมนุมสงบ-ไร้อาวุธ, ASTV ผู้จัดการรายวัน, 28 มี.ค. 52 และ อธิบดีอัยการคดีอาญา รับคำสั่งอัยการสูงสุดชี้ขาดฟ้องแกนนำ นปช. บุกบ้านป๋าเปรมรอนัดวันยื่นฟ้องศาล, แนวหน้า 19 ส.ค. 52)

กรณีอัยการสั่งฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการเผยแพร่ซ้ำคำพูดของนางดา ตอร์ปิโด ที่ปราศรัยบนเวทีที่สนามหลวงนั้น น่าจะถือว่าเป็นตลกร้ายเรื่องล่าสุดที่เกิดขึ้นจากดุลพินิจของ “ทนายแผ่นดิน”

ดุลพินิจที่จะตัดสินว่า ผู้ถูกกล่าวหามีมูลว่าได้กระทำผิดจริงสมควรสั่งฟ้องหรือไม่ กฎหมายท่านให้ดูที่เจตนาเป็นสำคัญมิใช่หรือ

เจตนาของนายสนธิ ลิ้มทองกุลตลอดช่วงที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ชัดผ่านการเคลื่อนไหวตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า เป็นผู้ที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งกว่าชีวิตของตนเอง

ตรงกันข้าม การที่นายสนธิลุกขึ้นเรียกร้องให้ตำรวจและกองทัพดำเนินคดีกับนางดา ตอร์ปิโด เมื่อ 20 กรกฎาคม 2551 ก็น่าจะได้รับการกล่าวขานด้วยซ้ำไป ว่าได้ทำหน้าที่ของพลเมืองไทยที่พบการกระทำย่ำยีต่อสถาบัน ก็ต้องแจ้งข้อมูล และจี้ฝ่ายความมั่นคงให้ออกมาจัดการกับผู้กระทำผิด

หลักฐานพิสูจน์ได้ชัดทันทีที่นายสนธิตำหนิผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บัญชาการทหารบกที่เพิกเฉย ปล่อยให้ ดา ตอร์ปิโด จาบจ้วงเบื้องสูง บนเวทีเสื้อแดงฯ เมื่อคืนวันที่ 20 กรกฎาคม

ไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อมา กองทัพบกได้มีหนังสือ “ด่วนที่สุด” ถึง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เรื่อง ขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยในเนื้อหาระบุว่า ขอให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลตรวจสอบการปราศรัยของ น.ส.ดารณี หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และกองทัพบกจะติดตามผลของการดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป

ก่อนที่เช้าวันรุ่งขึ้นพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม จะขออนุมัติหมายจับดารณี ชาญเชิงศิลปกุล จากศาลอาญากรุงเทพใต้ เลขที่ 2209/2551 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 เนื่องจากการปราศรัยบนเวทีที่สนามหลวงในวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551 เข้าข่ายความผิด มาตรา 112 ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ถ้านายสนธิแสร้งทำเพิกเฉยเสีย ไม่จี้ไปที่กองทัพ คงไม่มีคำสั่งกองทัพบกในคืนวันที่ 21 กรกฎาคม และคงไม่มีหมายจับศาลอาญาเลขที่ 2209 อย่างแน่นอน

ทั้งนี้เพราะนางดา ตอร์ปิโดได้จาบจ้วงเบื้องสูงบนเวทีการชุมนุมต่อเนื่องเป็นเวลาหลายคืน แต่กลับไม่มีการเอาผิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทั้งที่พื้นที่สนามหลวงจุดชุมนุมอยู่ห่างจาก สน.ชนะสงครามแค่ไม่กี่ร้อยเมตร

ที่ให้แปลกใจขึ้นไปอีกก็คือ อัยการจะได้ทราบหรือไม่ว่า หลังนายสนธิถูกตลบหลังตั้งข้อกล่าวหา และออกหมายจับจากตำรวจชั่วบางนายในกรณีนี้ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม อันนำไปสู่การไปมอบตัวที่กองปราบ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม

ในอีก 3 เดือนต่อมา คือวันที่ 13 ตุลาคม 2551 นายสนธิ ในฐานะแกนนำพันธมิตรฯ ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างพิธีพระราชทานเพลิงศพ นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ที่วัดศรีประวัติ จังหวัดนนทบุรี ท่ามกลางผู้บัญชาการหน่วยความมั่นคง และองคมนตรี ที่เดินทางมาร่วมงาน อาทิ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเรือเอกกำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และยังรวมไปถึงองคมนตรีอีกหลายท่าน เช่น พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ นพ.เกษม วัฒนชัย นายพลากร สุวรรณรัฐ หรือแม้แต่ผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ ด้วย

คำถามจึงมีอยู่ว่า ถ้าเจตนาของนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้ที่มีความอาฆาตมาดร้าย และมีพฤติกรรมหรือเจตนาที่จะหมิ่นเบื้องสูงจริงตามที่อัยการกล่าวอ้าง

ถามว่า 3 เดือนหลังถูกตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว ทำไมผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ตลอดจนผู้บัญชาการฝ่ายความมั่นคงทั้งหลาย จึงยังปล่อยให้นายสนธิ ไปปรากฏตัวต่อหน้าเบื้องพระยุคลบาทเช่นนั้นได้ และมิหนำซ้ำชายผู้นี้ยังได้รับฟังพระราชปฏิสันถาร ในทำนองให้กำลังใจทำความดี เพื่อบ้านเพื่อเมืองต่อไป ทั้งที่ถ้าข้อกล่าวหาของอัยการเป็นจริง เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลยแม้แต่น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น