xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ ยื่น ป.ป.ช.ฟัน “เทพเทือก” - ก.ตร.ดัน 3 ตร.มือเปื้อนเลือดกลับเข้าทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
“จำลอง-พิภพ-วีระ-ปานเทพ” นำเหยื่อ 7 ตุลา เข้าร้อง ป.ป.ช.ให้ดำเนินคดี “เทพเทือก” และก.ตร. เหตุกลับมติ ป.ป.ช.ให้ 3 บิ๊กตำรวจทำร้ายประชาชนเข้าทำงาน ชี้ผิด ม.157 ชัด มีเจตนาพิเศษหวังช่วยคนทำผิดให้พ้นโทษ “วีระ” จี้นายกฯ ฟันอาญา ก.ตร. ด้าน “วิชา” รับหนังสือ ยันพร้อมให้ความเป็นธรรม



วันนี้ (25 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชน พร้อมด้วยตัวแทนผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค.51 และประชาชนกว่า 150 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อปปช. เพื่อขอให้ดำเนินคดีอาญาต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และ ก.ตร. ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากกรณีที่ ก.ตร.มีมติให้กลับคำสั่งชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงของ ป.ป.ช.ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่มีความผิดในคดีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ที่มีความผิดในกรณีปล่อยให้กลุ่มคนรักอุดร เข้ารุมทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่บริเวณสวนสาธารณะหนองประจักษ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี ให้ไม่มีความผิดตามที่ พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ในฐานะประธานอนุกรรมการอุทธรณ์ ก.ตร.ได้เสนอ

ทั้งนี้ การประชุมลงมติของ ก.ตร.ได้รับการคัดค้านจากประชาชน เนื่องจากเป็นการกระทำที่ช่วยเหลือตำรวจที่กระทำความผิดไม่ให้ต้องรับโทษ และเป็นการปกป้องพวกพ้องโดยทำให้ผู้กระทำความผิดฮึกเหิมไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองและไม่เคารพกฎกติกาของสังคม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว หน่วยงานที่รับผิดหรือผู้บังคับบัญชาต้องปฎิบัติตามคำสั่งที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แต่กรณีนี้นายสุเทพกลับมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือตำรวจที่กระทำความผิด โดยเพิกเฉยที่จะปฎิบัติตามมติของ ป.ป.ช. และการกระทำดังกล่าวนี้มีข้อเท็จจริงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่าไม่สามารถพลิกมติของปปช.ได้ ทั้งนี้จึงถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปกิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนในกรณีดังกล่าว โดยมีนายวิชา มหาคุณ ป.ป.ช.เป็นผู้มารับหนังสือ

นายพิภพกล่าวว่า เหตุที่ยื่นหนังสือเพื่อให้ดำเนินการสอบสวนนายสุเทพและพวก เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปแล้ว หน่วยงานที่รับผิดหรือผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ ป.ป.ช.ชี้มูลเอาไว้ แต่ในกรณีนี้ นายสุเทพในฐานะประธาน ก.ตร. และคณะกรรมการ ก.ตร.กลับมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือตำรวจที่กระทำความผิดด้วย

ด้าน นายวีระกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ควรดำเนินการถอดถอน ก.ตร.ทั้งหมด รวมถึงต้องเอาผิดทางอาญาดัวย

ขณะที่ นายวิชากล่าวภายหลังรับหนังสือว่า หลังจากรับหนังสือไปแล้วก็จะมอบให้ฝ่ายการข่าวและประมวลทำการสรุปเรื่อง ก่อนส่งไปยังที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ยืนยันว่าจะให้ความยุติธรรมถึงที่สุด

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เดินทางมายังประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือกรณีเดียวกันนี้ต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีนางอัญชลี เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับ

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ที่ พธม. ๑/๒๕๕๓

วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๓

เรื่อง ขอให้ดำเนินคดีอาญานายสุเทพ เทือกสุบรรณและคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

เรียน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑.ข่าวการประชุมคณะกรรมการ ปปช.วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๑
๒.รายชื่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
๓.ข่าวการประชุมของ ก.ตร.เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒
๔.ข่าวหนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒
๕.ข่าวจากเว็บไซต์ไทยโพส ต์วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓
๖.ข่าวจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์ วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๓
๗.ข่าวจากเว็บไซต์ คมชัดลึก วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๓
๘.ข่าวจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์ วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓
๙.ข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
๑๐.ข่าวจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์ วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๓
๑๑.ข่าวจากเว็บไซต์ไทยโพสต์ วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๓

ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ชี้มูลความผิด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คดีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที ๒ คนและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก รายละเอียดปรากฏตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ ๑ และชี้มูลความผิด พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี กรณีปล่อยให้ผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงยกพวกเข้ารุมทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณสวนสาธารณะหนองประจักษ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งจากการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ข้างต้นนั้น ได้ชี้มูลความผิดว่านายตำรวจทั้ง ๓ นายมีความผิดทางวินัยร้ายแรง และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๑ ที่ประชุมของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ได้มีการประชุมเป็นวาระจรโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ในฐานะประธานอนุกรรมการอุทธรณ์ ก.ตร. ได้เสนอเรื่องให้ ก.ตร. เห็นชอบว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ไม่มีความผิดอันเป็นความเห็นแย้งกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการอุทธรณ์เสนอ รายชื่อ คณะกรรมการ ก.ตร.ปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ ๒ ในการลงมติครั้งนี้ได้มี ก.ตร.บางคนไม่เห็นด้วยและได้เดินออกจากห้องประชุม ได้แก่ ๑.นางเบญจวรรณ สร่างนิทร ๒.นายสมศักดิ์ บุญทอง ๓.พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ๔.พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รายละเอียดปรากฎตามข่าวที่ส่งมาด้วยอันดับ ๓ และ ๔ ซึ่งหลังจากมีการประชุมลงมติดังกล่าวก็ได้รับการคัดค้านจากประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากการกระทำของ ก.ตร.เป็นการช่วยเหลือตำรวจที่กระทำความผิดไม่ให้ต้องรับโทษและเป็นการปกป้องพวกพ้องโดยทำให้ผู้กระทำความผิดหึกเหิมไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองและไม่เคารพกฎกติกาของสังคม โดยที่ประชุมของ ก.ตร.ได้มีมติให้ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ กลับเข้ารับราชการ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว หน่วยงานที่รับผิดหรือผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แต่กรณีของ ๓ นายตำรวจนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจกลับมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือตำรวจที่กระทำความผิด โดยเพิกเฉยที่จะปฎิบัติตามมติของ ป.ป.ช. รายละเอียดปรากฏตามข่าว เทือก ตีความถือหางตำรวจงัดอำนาจ ปปช.ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ ๕ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๓ นายอภิสิทธิ์ เวชาชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ กล่าวถึง กรณีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานข้าราชการตำรวจจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่ ก.ตร.กลับมติของ ปปช.ที่สั่งลงโทษ ๓ นายตำรวจว่า “คงไม่จำเป็นต้องส่งเนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นกับผมชัดเจนว่า เรื่องนี้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วในอดีตว่า การอุทธรณ์ตามกฎหมายบริหารงานบุคคลจะอุทธรณ์ได้เฉพาะดุลพินิจในการสั่งลงโทษเท่านั้น เช่น สอบมาว่าผิดวินัยร้ายแรง มีการลงโทษไล่ออก ก็อาจอุทธรณ์ให้เป็นปลดออกได้ แต่จะไปกลับข้อเท็จจริง หรือเปลี่ยนแปลงการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ไม่ได้ ตรงนี้ชัดเจน และในวันที่ ๑๑ มกราคม จะแจ้งให้นายสุเทพทราบถึงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ดำเนินการต่อไป” รายละเอียดปรากฏตามข่าวที่ส่งมาด้วยอันดับ ๖ เมี่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๓ นายอภิสิทธิ์ได้แจ้งให้นายสุเทพ ทราบถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจไปกลับคำวินิฉัยของ ป.ป.ช.ได้ ว่า “ ...เพราะฉะนั้นแม้ ก.ตร.หรือใครก็ตามจะเห็นไม่ตรงกับทาง ป.ป.ช.ในเรื่องข้อเท็จจริง หรือเนื้อหาสาระของการสอบก็ไม่สามารถไปกลับความคิดเห็นของ ป.ป.ช.ได้ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ยังมีช่องทางในการต่อสู้ในชั้นของศาลปกครองเพื่อความเป็นธรรม แนวดังกล่าวเป็นแนวทางปฎิบัติกันมาตลอด ผมคิดว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะมิฉะนั้น ป.ป.ช.จะมีความรู้สึกว่าความเป็นองค์กรอิสระแทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย กลายเป็นเพียงคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมายของทางราชการที่สามารถถูกพลิกมติได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นการวินิจฉัยของศาลปกครอง ปปช.ต้องยอมรับ เพราะตรงนั้นคือระบบศาล และเป็นระบบขององค์กรอิสระด้วย” รายละเอียดข่าวปรากฏตามส่งที่ส่งมาด้วยอันดับ ๗

ต่อมาวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓ ได้มีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานการประชุม ซึ่งเรื่องที่มีการประชุม เป็นกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีหนังสือถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้ทบทวนมติ ก.ตร.ในครั้งที่ผ่านมาที่ให้คำอุทธรณ์ของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ฟังขึ้นเป็นการกลับมติของ ปปช. จากผลการประชุมคณะ ก.ตร.ครั้งนี้เป็นเสียงเดิมจากครั้งที่แล้ว มีความเห็นยืนยันตามความเห็นเดิมว่าการอุทธรณ์ของตำรวจ ๓ นายข้างต้นฟังขึ้น ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีตำรวจที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ๕ คน ได้แก่ ๑.พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ๒.พล.ต.ต.ปานศิริ ประภาวัตร ๓.พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ๔.พล.ต.อ.อำนวย ดิษฐกวี ๕.นายสมศักดิ์ บุญทอง รายละเอียดปรากฎตามข่าวที่ส่งมาด้วยอันดับ ๘-๙ ซึ่งจากการประชุมดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจที่ลงมติที่ผิดกฎหมายโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือ ๓ นายตำรวจที่กระทำความผิดอาญาและวินัยร้ายแรง จึงเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

การกระทำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจทราบข้อเท็จจริงดีว่า การที่ ก.ตร.พลิกมติของ ป.ป.ช.นั้นไม่สามารถกระทำได้ เพราะในกรณีเดียวกันนี้ได้เคยมีคำวินิฉัยที่ ๒/๒๕๔๖ ของศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนและวินิฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตามกระบวนการที่บัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ โดยการไต่สวนและวินิฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ถือได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น การวินิจฉัยข้อเท็จจริงและการมีมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ผู้ถูกกล่าวหาผิดวินัยอย่างร้ายแรงทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงต้องฟังเป็นยุติ…ดังนั้น การอุทธรณ์จึงต้องอยู่ในขอบเขตที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯบัญญัติไว้โดยมีสิทธิอุทธรณ์ ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น อุทธรณ์ได้เฉพาะระดับโทษตามฐานความที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ องค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา (ก.พ.) และองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาตามขั้นตอนต่อจากกระบวนการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการสมบูรณ์เสร็จสิ้นแล้ว จึงมีอำนาจพิจารณาเฉพาะเรื่องดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนตามฐานความผิดเดิมที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเท่านั้น

การที่องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ใช้อำนาจหน้าที่ล่วงล้ำ หรือกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นการเฉพาะ โดยการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงใหม่ แล้วเปลี่ยนฐานความผิดเพื่อกำหนดโทษใหม่ จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒” และก่อนที่ประชุม ก.ตร.จะมีมติในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓ นั้น นายวิชา มหาคุณ ได้ยืนยันว่า ป.ป.ช.มีอำนาจในการชี้มูลความผิดทางวินัย ว่า “ป.ป.ช.เห็นว่าเรื่องนี้ได้มำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ คือคำวินิจฉัยที่ ๒/๒๕๔๖ ยืนยันอำนาจของคณะกรรมการ ปปช.ที่จะดำเนินการชี้มูลในเรื่องทางวินัยตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วย ป.ป.ช. และยังมีเรื่องที่นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็เคยโต้แย้งว่า ทางหน่วยราชการทำไม่ถูกที่ไปพลิกหรือกลับมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในเรื่องการชี้มูลทางวินัย”

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะกรรมข้าราชการตำรวจ ที่เข้าร่วมลงมติว่าอุทธรณ์ของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ฟังขึ้นโดยมีมติให้นายตำรวจทั้ง ๓ คนไม่มีความผิด โดยที่ประชุมจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและให้ส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย การกระทำข้างต้น จึงมีเจตนาช่วยเหลือผู้กระทำความผิด โดยอ้างว่าจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะเป็นความขัดแย้งตั้งแต่ ๒ องค์กร แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ยืนยันว่า “คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้ว่า คณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะการที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้องค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องขัดแย้งกัน แต่ ก.ตร.ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แม้คณะรัฐมนตรีจะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว” รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ ๑๐-๑๑

ดังนั้น การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะกรรมข้าราชการตำรวจ ที่เข้าร่วมลงมติเป็นการกระทำที่ดื้อดึง และมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิดจึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดควาเมสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการสอบสวนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกด้วย

ขอแสดงความนับถือ

(พลตรี จำลอง ศรีเมือง)
แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้กล่าวหา

(นายพิภพ ธงไชย)
แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้กล่าวหา




เข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.
นายพิภพ ธงไชย






เดินทางมายังประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีนางอัญชลี เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับ





กำลังโหลดความคิดเห็น