xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นกระทบความสัมพันธ์สั่งไม่ฟ้อง 5 แก๊งค้าอาวุธสงคราม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายอเล็กซานเดอร์ เซอร์บเนฟ อายุ 53 ปี นายวิกเตอร์ อัลดุลลายาฟ อายุ 58 ปี นายวิทาลี ซุนคอฟ อายุ 54 ปี นายอิลยาส อิสซาคอฟ อายุ 53 ปี สัญชาติคาซัคสถาน และนายมิคาอิล พีทูคู อายุ 54 ปี สัญชาติเบลารุส 5 ผู้ต้องหาแก๊งค้าอาวุธสงคราม
อัยการสั่งไม่ฟ้อง 5 ผู้ต้องหาแก๊งค้าอาวุธสงคราม แจงการพิจารณาสั่งฟ้องอาจส่งผลกระทบความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ อีกทั้งติดมติ UNSC จึงปล่อยตัวให้ประเทศเจ้าของสัญชาติดำเนินคดี ด้าน “ธนพิชญ์” ชี้การสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ได้คำนึงถึงข้อกฎหมาย ผลกระทบและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างดี



วันนี้ ( 11 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 100 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา ร่วมกันแถลงกรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง 5 ผู้ต้องหาแก๊งค้าอาวุธสงครามประกอบด้วย นายอิสยาส อิสวาคอฟ ( IIyas Issakov ) อายุ 56 ปี สัญชาติคาซัคสถาน นักบินที่ 1 , นายวิคเตอร์ อับดุลลายัฟ (Viktor Abdullayev) อายุ 58 ปี สัญชาติคาซัคสถาน เนวิเกเตอร์ , นายมิคคาอิล พีทูคู (Mikhail Petukou) อายุ 54 ปี สัญชาติเบลารุส ช่างเครื่องยนต์ , นายอเล็กซ์ซานดะ ไซร์บาเนฟ (Alexandr Zrybnev) อายุ 53 ปี สัญชาติ คาซัคสถาน ช่างเทคนิค และนายวิทาลี ชุมคอบ (Vitaliy Shunkov) อายุ 54 ปี สัญชาติคาซัคสถาน นักบินที่ 2 ที่ถูกจับกุมได้ขณะนำเครื่องบินบรรทุกอาวุธสงครามร้ายแรงลงจอดที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่12 ธ.ค. 52 ที่ผ่านมา และถูกแจ้งข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.ศุลกากร ,พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน พ.ศ.2490 ,พ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 , พ.ร.บ.การเดินอากาศไทย พ.ศ. 2479

นายธนพิชญ์กล่าวว่า สำนักงานอัยการพิจารณาแล้ว เห็นว่า กรณีนี้กล่าวหาผู้ต้องหาทั้งห้า ขนอาวุธสงครามผ่านแผ่นดินไทย โดยไม่ได้หมายความความว่าอาวุธดังกล่าวเตรียมนำมาใช้ในราชอาณาจักรไทย แต่ผู้ต้องหาทั้งห้า มีความจำเป็นนำเครื่องบินขนอาวุธลงจอด เพื่อเติมน้ำมัน เห็นว่าผู้ต้องหาทั้งห้าเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งตามมติ UNSC ที่ 1874 (2009) มิได้ระบุให้ดำเนินการกับลูกเรือ ประกอบกับประเทศคาซัคสถาน และเบลารุส ได้ยีนคำร้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศไทยปล่อยตัวผู้ต้องหากับไปดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายตามประเทศเจ้าของสัญชาติ

เห็นว่าการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งห้าในประเทศไทย อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธไมตรีต่อประเทศ อีกทั้ง การฟ้องคดีนี้ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะของราชอาณาจักรไทย ดังนั้นอัยการจึงมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้าในทุกข้อกล่าวหา ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 78 และของกลางในคดีให้พนักงานสอบสวนจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 ส่วนการส่งมอบผู้ต้องหาให้กับประเทศเจ้าของสัญชาติจะเป็นไปไปตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ต่อไ ป

ผู้สื่อข่าวถามว่าอัยการจะตอบคำถามสังคมได้อย่างไร เพราะอาจมีการมองว่าไทยเป็นแหล่งที่พักอาวุธสงคราม นายธนพิชญ์ กล่าวว่า ในส่วนนี้ข้อเท็จจริงในสำนวนไม่ปรากฏว่า ผู้ต้องหานำอาวุธมาใช้ที่ไหน อย่างไร ดังนั้นข้อสงสัยที่ว่า ไทยเป็นแหล่งพักอาวุธสงคราม หรือผู้ก่อการร้ายคงไม่มี

ถามว่า หากในเครื่องบินเป็นยาเสพติดแทน อาวุธสงครามอัยการจะมีคำสั่งคดีเช่นนี้หรือไม่ นายกายสิทธิ์ กล่าวว่า หากเป็นยาเสพติดก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง แตกต่างออกไป กรณีนี้เป็นเพียงเครื่องบินแวะลงมาเติมน้ำมันเท่านั้น สำหรับอาวุธสงครามของกลางก็ต้องปฏิบัติตาม ป.วิอาญา มาตรา 85 โดยใครเป็นเจ้าของก็มารับคืนไป ทั้งนี้ตามกฎหมายไทยสามารถถือครองไว้ได้ภายใน 1 ปี ระหว่างนี้หากไม่มีใครมาแสดงเป็นเจ้าของ ก็จะตกเป็นของไทย โดยเครื่องบินไม่ใช่ของกลางในคดี ส่วนผู้ต้องหาจะฟ้องกลับนั้นคงไม่มี เพราะผู้ต้องหาจะต้องถูกส่งตัวกลับไปดำเนินคดีของแต่ละคน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อกำหนด UNSC มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง นายกายสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นข้อกำหนดที่สหประชาชาติกำหนดว่า ลูกเรือทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับข้อหาเหล่านี้ห้ามดำเนินคดีเด็ดขาด ซึ่งอัยการสั่งคดีโดยยึดหลักกฎหมาย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งต้องพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศเรา และเราจะได้อะไร เสียอะไร ประโยชน์สาธารณะ ของบ้านเราเป็นอย่างไร ซึ่งอัยการมองว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะสั่งฟ้องผู้ต้องหา แต่เราไม่ได้บอกว่าเขาไม่ผิด เพียงแต่อยากจะบอกว่า ไม่อยากฟ้องในประเทศไทย ซึ่งคำสั่งไม่ฟ้องเป็นความเห็นของตน และเรียนให้นายจุลสิงห์ วสันตสิง อัยการสูงสุดทราบแล้ว โดยชี้ให้เห็นว่าการฟ้องไม่เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศไทย ทั้ง ความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างไทยกับ ทั้ง 2 ประเทศที่ทำหนังสือเข้ามาผ่านกระทรวงการต่างประเทศไทย เพื่อขอตัวผู้ต้องหากลับไปดำเนินคดี

ซักต่อว่า หากเกิดเหตุการณ์เช่นกรณีนี้อีก อัยการก็จะสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกันหรือไม่ นายกายสิทธิ์ กล่าวว่าทุกสำนวนขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง พิจารณาเป็นรายไป จะเหมาคำตอบเรื่องนี้ไปใช้ในวันหน้าคงไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า อาวุธสงครามมีอานุภาพร้ายแรง อาจเป็นอันตรายต่อประเทศไทย และคนไทย ซึ่งนายธนพิชญ์กล่าวว่า ก็เพราะอย่างนี้ เราจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เพราะมองแล้วว่า มันไม่เกิดประโยชน์กับประเทศไทย ซึ่งการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ไม่ได้เป็นการผลักภาระให้ประเทศของผู้ต้องหา

ต่อข้อถามว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐที่ต้องการปล่อยตัวผู้ต้องหา แล้วมีคำสั่งถึงอัยการหรือไม่ นายกายสิทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้สั่งให้อัยการปล่อยตัว เพราะไม่มีใครสั่งอัยการสูงสุดได้

ซักต่อว่า จะเป็นการเปิดช่องให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทยหรือไม่ นายธนพิชญ์ กล่าวว่า แทรกแซงอะไรไม่ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ผบ.ตร. ก็สามารถทำความเห็นแย้งกลับมาได้ ซึ่งอัยการสูงสุดจะเป็นผู้ชี้ขาด แต่ระหว่างนี้ก็ต้องปล่อยผู้ต้องหาไปก่อน

ทั้งนี้ กายสิทธิ์กล่าวยอมรับว่า รู้สึกหนักใจมากที่ทำคดีนี้ เพราะต้องมาตอบคำถามต่อสังคม แต่เรามองถึงประโยชน์ของประเทศ จึงต้องสั่งไม่ฟ้อง

บ่ายวันเดียวกันนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา7 ได้ยื่นคำร้องขอยืนยันการปล่อยตัวผู้ต้องหาต่อศาลอาญา โดยระบุว่า พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้า จึงขอให้ศาลได้โปรดมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คนด้วย ศาลได้สอบถาม อัยการผู้ร้องแล้ว ซึ่งยืนยันตามคำร้องนี้ จึงให้ออกหมายปล่อย ผู้ต้องหา ตามที่ร้องขอ

ขณะที่ นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีนายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการคดีอาญา และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงข่าวสั่งไม่ฟ้อง นายอเล็กซานเดอร์ เซอร์บเนฟ อายุ 53 ปี นายวิกเตอร์ อัลดุลลายาฟ อายุ 58 ปี นายวิทาลี ซุนคอฟ อายุ 54 ปี นายอิลยาส อิสซาคอฟ อายุ 53 ปี สัญชาติคาซัคสถาน และนายมิคาอิล พีทูคู อายุ 54 ปี สัญชาติเบลารุส ผู้ต้องหาคดีลำเลียงอาวุธสงครามร้ายแรง หลายประเภทเช่นท่อส่งจรวด หัวจรวด จรวดอาร์พีจี ปืนกลติดรถยนต์ ซึ่งถูกจับกุมที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.52 ว่า ตอนนี้ยังไม่ได้รับการประสาน แต่หากพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ก็ต้องยื่นขอหมายศาลให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา จากนั้นพนักงานสอบสวนจะต้องนำหมายศาล มารับตัวผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลอยู่แล้ว

ด้านนายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ รักษาการ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ขั้นตอนการปล่อยตัวจะให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประจำศาลอาญา ถ.รัชดารอรับหมายศาลให้ปล่อยตัวผู้ต้องขัง เบื้องต้นตรวจสอบว่าเป็นหมายศาลที่ลงลายชื่อโดยผู้พิพากษาท่านใด ลายมือชื่อถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ จากนั้นจึงนำหมายปล่อยตัวผู้ต้องขังกลับมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะตรวจสอบตัวบุคคลทั้ง 5 ราย กับทะเบียนประวัติผู้ต้องขังว่าตรงกันหรือไม่ เพื่อป้องกันการปล่อยผิดตัว ซึ่งหากเป็นคนไทยทางเรือนจำก็สามารถปล่อยตัวได้เลย แต่กรณีนี้ผู้ต้องขังเป็นชาวต่างชาติ ทางตำรวจสน.ประชาชื่นหรือกองปราบปราม จะต้องมารับตัวผู้ต้องขังไปส่งสำนักงานตรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อผลักดันออกนอกประเทศต่อไป อย่างไรก็ตามหากมีหมายศาลมายังเรือนจำในช่วงเย็น ก็จะสามารถปล่อยตัวผู้ต้องขังได้ภายในวันนี้

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลออกหมายปล่อยตัวแล้ว พนักงานสอบสวนก็จะนำหมายปล่อยตัวไปยังเรือนจำเพื่อขอปล่อยตัวผู้ต้องหา จากนั้นจะนำตัวไปยัง สน.ประชาชื่น เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนจะนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อให้ดำเนินการผลักดันออกนอกประเทศต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น