ยิ่งใกล้ “สงครามครั้งสุดท้าย” เท่าไหร่ ยิ่งใกล้กำหนดการพิพากษาในคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 ก.พ.เท่าไหร่ สังคมยิ่งเห็นความฟอนเฟะและความเละเทะอันเปรียบได้กับ “ริดสีดวง” ที่กำลังแตกภายในกลุ่มก๊กต่างๆ ของขุนพลทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ของนักโทษชายหนีคดีผู้นี้มากขึ้นเท่านั้น
เริ่มจากการเปิดศึก “แย่งชามข้าว” กันระหว่าง “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” กับ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์” ส่วนศึกคู่ที่สองเป็นศึกใหญ่ที่มีต้นเหตุมาจากการ “แย่งชามข้าว” เหมือนกัน โดยศึกคู่นี้เป็นเรื่องของขุนศึกสายเหยี่ยว ที่นำโดย “พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี” ที่ยกโขยงพลพรรคบินไปพบนายใหญ่ที่ดูไบ พร้อมประกาศว่า นักโทษชายหนีคดีมีคำสั่งให้จัดตั้งกองทัพประชาชนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กปช.) โดยมี “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่ทันทีที่ปรากฏเป็นข่าว พล.อ.ชวลิตได้ออกมาปฏิเสธอย่างทันควัน เช่นเดียวกับหัวหมู่ทะลวงฟันอย่าง “นายจตุพร พรหมพันธุ์” ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เช่นกัน
เรียกว่า ยังไม่ทันทำการใหญ่ก็มาฟัดกันเองจนเละเป็นโจ๊กเสียก่อนแล้ว
คู่เอกคู่ที่ 1
“พัลลภ-เสธ.แดง” VS “บิ๊กจิ๋ว-จตุพร”
การประกาศเดินทางไปพบ ทักษิณที่ดูไบของแกนนำคนเสื้อแดง “สายเหยี่ยว” ที่ประกอบด้วยพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ฯลฯ นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า คือการเดินทางไปรับคำสั่งจากนายใหญ่ก่อนปฏิบัติการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง ซึ่งสังคมเฝ้าจับตามองว่า พวกเขาจะมีแผนหรือยุทธศาสตร์อะไรใหม่ๆ ออกมาให้ฮือฮาหรือตื่นเต้นมากน้อยเพียงใดใน “แนวรบใต้ดิน” ที่คนกลุ่มนี้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
และก็ไม่ผิดหวังเมื่อหัวหน้าขบวนอย่างพล.อ.พัลลภออกมาประกาศว่า นช.มีมติให้มีการจัดตั้ง “กองทัพประชาชนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(กปช.) พร้อมแต่งตั้งให้ “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของ กปช.โดยมีพล.อ.พัลลภและเสธ.แดงเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องของยุทธศาสตร์และยุทธวิธี
ทันทีที่ข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ แทนที่จะได้รับการสนับสนุน กลับกลายเป็นถูกตอบโต้อย่างรุนแรง เพราะการจัดตั้งกปช.ขึ้นมานั้นคือสัญลักษณ์ของการประกาศใช้ความรุนแรงขั้นแตกหักของนช.ทักษิณ เป็นการตอกย้ำให้เห็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ พ.ต.ท.ทักษิณ และแกนนำ นปช. ที่ต้องการทำสงครามกลางเมืองกับอำนาจรัฐเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง
ที่สำคัญคือ การจัดตั้ง กปช.นั้น มิอาจตีความไปในทางอื่นได้ว่า เป็นการใช้ยุทธศาสตร์ต่อรองสถาบัน หวังตั้งรัฐไทยใหม่ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกินกว่าการเปลี่ยนแปลงเมื่อปี 2475
แน่นอน พล.อ.ชวลิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควรย่อมรู้ว่า กำลังจะเกิดอะไรขึ้น และสุ่มเสี่ยงที่จะนำพาตัวเองไปติดกับดักเพียงใด ในวันรุ่งขึ้น พล.อ.ชวลิตจึงเปิดแถลงข่าวปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งผบ.สส.ของ กปช.ทันที
ขณะเดียวกันไม่เพียงแต่ พล.อ.ชวลิตเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับ กปช. หากอีกหนึ่งหัวขบวนของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เวลานี้ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นที่ไว้ใจของนายใหญ่มากนักอย่าง “นายจตุพร พรหมพันธุ์” ก็ไม่เอาด้วยกับแนวทางนี้เช่นกัน โดยระบุชัดเจนว่า กลุ่มคนเสื้อแดงไม่มีแนวคิดจัดตั้งกองทัพประชาชน ตามที่ พล.อ.พัลลภ และ พล.ต.ขัตติยะ กล่าวอ้าง โดยเห็นว่าเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของทั้ง 2 คนเท่านั้น เนื่องจากทั้ง พล.อ.พัลลภ และ พล.ต.ขัตติยะ ไม่ได้เป็นสมาชิก นปช.
เหตุที่นายจตุพรไม่เล่นด้วยนั้น เป็นเพราะเขาอาจได้ข่าวระแคะระคายมาแล้วว่า นายใหญ่กำลังจัดระเบียบใหม่ด้วยยึดอำนาจการนำจาก 3 เกลอและมอบให้ขุนพลสายเหยี่ยวอย่าง พล.อ.พัลลภและเสธ.แดงเป็นคนบัญชาการ เพราะมีการประเมินกันภายในกองทัพแดงว่า 3 เกลอมือไม่ถึง เป็นได้เพียงมวยคู่ก่อนเวลาหรือสีสันของสงครามเท่านั้น
นี่คือยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดยิ่งของนช.ทักษิณ เพราะยุทธศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกในกลุ่มของคนเสื้อแดงที่เวลานี้ไปคนละทิศละทาง แถมแต่ละกลุ่มก๊วนต่างก็แย่งชิงความใกล้ชิดกับนายใหญ่เพียงเพื่อหวังเศษเงินที่จะโยนมาให้เท่านั้น กระทั่งลืมไปว่าตัวเองคือหมากตัวหนึ่งนายใหญ่เลือกใช้เท่านั้น
คู่เอกคู่ที่ 2
“เป็ดเหลิม” VS “หญิงหน่อย”
ศึกคู่ที่สอง เป็นศึกที่เรียกว่า ร้อนฉ่าทะลุองศาเดือดทีเดียวสำหรับการที่ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ออกมาสำรากถ้อยคำหยาบคายด่ากราดขึ้น “มึง กู อี” ด้วยความไม่พอใจในบทบาทของ “เจ๊หน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์”
เป็ดเหลิมกล่าวหาชัดๆ โต้งๆ อย่างไม่ไว้หน้าว่า วันนี้ที่พรรคเพื่อไทยต้องยุ่งวุ่นวายก็เพราะคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ คนเดียว
เรียกว่าเปิดฉากซัดกันตั้งแต่ในห้องประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย อย่างดุเดือดนานกว่า 30 นาที ก่อนจะประกาศลาออกจากตำแหน่งประธาน ส.ส.และประธานคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ ส.ส.ส่วนใหญ่คัดค้าน และลงมติเอกฉันท์ให้ ร.ต.อ.เฉลิมทำหน้าที่ต่อไป จากนั้นก็ยังอารมณ์ค้างต่อมาให้สัมภาษณ์นักข่าว และระบายแค้นส่งท้ายด้วยการด่า “น.อ.อนุดิษฐ นาครทรรพ” และ “นต.ศิธา ทิวารี” ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเป็น ส.ส.ที่อยู่ในมุ้งของคุณหญิงสุดารัตน์
ศึกครั้งนี้ เป็นศึกที่สร้างความปวดหัวให้กับนช.ทักษิณอยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุที่ฝ่ายหนึ่งเป็นคนรู้ใจที่เคยทำงานเข้าขากันมาอย่างดี และยังคงประทับใจต่อกันอย่างมิรู้ลืม ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นขุนพลฝีปากกล้าที่นายใหญ่ฝากผีฝากไข้เอาไว้ใช้งานในการอภิปรายในสภา ซึ่งเมื่อมาทะเลากันเรื่องนี้ ย่อมทำให้งานใหญ่ที่กำลังตระเตรียมสรรพกำลังเอาไว้ครบชุดต้องตุปัดตุเป๋อยู่ไม่น้อย
ขณะเดียวกันก็เป็นศึกที่สะท้อนความแตกแยกภายในพรรคเพื่อไทย อีกหนึ่งกลไกในการเคลื่อนไหวของนช.ทักษิณไปพร้อมๆ กันด้วย
ความจริง คงต้องบอกว่า ความคับแค้นใจของเป็ดเหลิมนั้นเกิดเพราะความผิดหวังที่ “ไม่ได้” อย่างที่ควรจะได้ตามที่นายใหญ่รับปากไว้ แถมยังถูกเตะสกัดขาจากบรรดา “ขาใหญ่” ผู้ที่เป็นคนใกล้ชิด นช.ทักษิณมาแต่เก่าก่อน กระทั่งกลายเป็นความแค้นที่สั่งสมอยู่ในใจ
ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่เขาตัดสินใจก้าวเท้าเข้ามาอยู่พรรคนี้ บทบาทของเป็ดเหลิมในพรรคเพื่อไทยแทบไม่มีเลย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว เขาตั้งใจที่จะเข้ามาขอเอี่ยวดูแล ส.ส.ในพื้นที่ กทม.ที่คุณหญิงสุดารัตน์ยึดครองอยู่
สิ่งที่พิสูจน์ทฤษฎีนี้ได้ดีก็คือ การที่เขาพยามยามเสนอและผลักดันให้แบ่งเขตการเลือกตั้งของ กทม.ออกเป็น 3 เขต คือ โซนเหนือ ใต้ และฝั่งธนบุรี เขตละ 12 คน รวมเป็น 36 คน เพื่อช่วยกันดูแลพื้นที่ให้เป็นไปอย่างทั่วถึง โดยทุกคนขึ้นตรงต่อพรรค ไม่ต้องต้องขึ้นตรงกับคุณหญิงสุดารัตน์คนเดียวอีกต่อไป ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่า เหตุที่เป็ดเหลิมต้องการคุมฝั่งธนฯ ก็เพราะเขาต้องการให้ลูกรักลงสมัคร ส.ส.
ฟากคุณหญิงสุดารัตน์เองก็ดูจะรู้ทันเกมและแผนการของเป็ดเหลิมเช่นกันว่า ต้องเข้ามามีปากมีเสียงและมีบทบาทในการเป็นหัวหน้ามุ้ง กทม.ที่คุณหญิงยึดกุมสภาพอยู่ ดังนั้น จึงได้วางแผนย้อนกลับเพื่อเล่นงานลูกพี่ไอ้ปื๊ดอย่างเจ็บแสบเช่นกัน
ว่ากันว่า หนึ่งในนั้นคือการขุดเอาประวัติด่างพร้อยของ “ลูกชายสุดที่รัก” ออกมาโจมตี
นอกจากนั้น ความแค้นที่คับอกอีกประการหนึ่งก็คือการถูกสกัดดาวรุ่งไม่ให้ได้รับการเสนอชื่อเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า ศึกระหว่าง ร.ต.อ.เฉลิมกับคุณหญิงสุดารัตน์นั้น เป็นเพียงแค่ศึกยกแรกเท่านั้น เพราะเชื่อว่า พลานุภาพแห่งความชิงชังที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องจะทำให้ศึกครั้งนี้จะไม่จบง่ายๆ ยิ่งในยามที่นายใหญ่ไม่ได้ลงบัญชาการเองด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เรื่องน่าจะบานปลายและระเบิดออกมาอีกครั้งในเร็ววันนี้
ขณะเดียวกัน ศึกครั้งนี้ไม่เพียงแค่ส่งผลสะเทือนให้เห็นถึงความไร้เอกภาพที่ดำรงอยู่เป็นก๊กเป็นเหล่าในพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังสงผลทำให้การผนึกกำลังกันในการต่อสู้กับศึกภายนอกเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอ่อนด้อยลงไปถนัดใจอีกด้วย เพราะทั้ง ร.ต.อ.เฉลิมและคุณหญิงสุดารัตน์นั้น ต่างฝ่ายต่างก็มีผู้สนับสนุนหรือถือหางอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว