xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลแห่งชาติ ! ปฏิบัติการลับของบิ๊กจิ๋ว ?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ได้ยินมาว่าก่อนที่สมศักดิ์ เทพสุทินจะกลับจากสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปี ได้เปรยกับมิตรสหายทำนองว่านอกจากจะกลับไปจัดการเรื่องตำแหน่งรมช.สาธารณสุขแล้ว ยังจะต้องไปสานต่อเรื่องที่เดินไว้นานที่วันนี้คืบหน้าไปมาก ใกล้เคียงความจริงแล้ว

เรื่องที่ว่าคือ “รัฐบาลแห่งชาติ” !

ต้นสัปดาห์ก่อน ชัชวาล ชาติสุทธิชัยพูดออกจอ ASTV ตรงกับคอลัมน์ตลาดนัดการเมืองในเนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับล่าสุดวางแผงสองสามวันมานี้ ว่า ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เดินทางไปบรูไนพบกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นช่วงที่อดีตนายกรัฐมนตรีไร้แผ่นดินบินมาแวะเติมน้ำมันที่พนมเปญนั่นแหละ โดยคนที่ร่วมเดินทางไปด้วยคือพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และยังมีกระแสข่าวอีกว่าอีกคนหนึ่งที่ร่วมเดินทางไปด้วยคือมนตรี นาวิกผล ผู้อาวุโสแห่งค่ายซีพี

แม้ไม่อาจยืนยันความจริงได้ แต่อย่างน้อยตอนนี้ก็ยังไม่มีใครออกมาปฏิเสธ

นี่ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องแรก “รัฐบาลแห่งชาติ” แน่ แต่ในเมื่อมีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธเข้าไปเกี่ยวข้อง ขอเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ตรงกับแนวคิดของท่านที่ผลักดันมายาวนาน เอาแค่ช่วงใกล้ ๆ นี้ก็อาทิเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2551 ขณะอยู่ในช่วงชุมนุม 193 วันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือในปีล่าสุดก็คือหลังกลับเข้าไปอยู่พรรคเพื่อไทยก็ไปบรรยายที่มูลนิธิบ้านเลขที่ 111 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2552

“รัฐบาลเฉพาะกาล”

จาก 2 เรื่องที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกันนี้ ทำให้ผมเชื่อว่าการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างออกหน้าออกตาและออกอารมณ์ของบรรหาร ศิลปะอาชา แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา และชาญชัย ชัยรุ่งเรือง แห่งพรรคเพื่อแผ่นดิน มันน่าจะมีอะไรมากกว่าแค่แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขอฟันธงว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่การเกิดของรัฐบาลแห่งชาติ

จำได้ใช่ไหมครับว่าสมศักดิ์ เทพสุทินน่ะผูกมืออยู่กับดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์มาก่อนตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และจุดกำเนิดของพรรคมัชฌิมาธิปไตยก็บอกโดยนัยผ่านชื่อว่าต้องการสร้างทางสายกลางขึ้นมา ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ก็สมาคมอยู่กับกลุ่มนี้ด้วยระดับหนึ่ง เพราะแม้จะอยู่คนละมหาลัย แต่ก็เป็นปัญญาชนระดับนำรุ่นใกล้เคียงกับดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และตอนหลังเมื่อเข้ามาสัมผัสกับพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นักรัฐศาสตร์อย่างเขาก็ออกจะไปติดอกติดใจและชื่นชมในทฤษฎีลัทธิประชาธิปไตยของสหายต่างวัยจากซอยปิ่นประภาคมพอควร ส่วนพรรคเพื่อแผ่นดินนั้นเจ้าของตัวจริงคือพินิจ จารุสมบัติที่ไม่นานมานี้เพิ่งรับพล.อ.วิชิต ยาทิพย์ คนสนิทของเจ้าของทฤษฎีปฏิวัติประชาธิปไตย เข้าไปเป็นที่ปรึกษา

จากสายสัมพันธ์โยงใยแค่นี้ ผมยังคาดคิดได้ว่ามีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ร่วมส่วนอยู่ในแนวคิดที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธกำลังผลักดันนี้ด้วย

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธคิดเรื่องนี้มานาน เพราะในความคิดความเชื่อของท่านนี่คือขั้นตอนแรกของการปฏิวัติประชาธิปไตยตามแนวทางลัทธิประชาธิปไตยที่บังเอิญไปเหมือนกับที่อาจารย์ประเสริฐ ทรัพย์สุนทรอดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยผู้แปรพักตร์หันมาทำงานการเมืองกับทหารปัญญาชนเสนอมาตลอดในช่วงที่มีชีวิตอยู่

มีวิกฤต หรือแค่มีกลิ่นวิกฤต คราใด พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธท่านจะต้องออกมาเสนอแนวคิดทำนองนี้ครานั้น

นี่แหละที่ทำให้ไม่ว่าใครก็ไม่ค่อยจะไว้วางใจท่าน

เพราะไม่เข้าใจว่าคิดอะไรอยู่

ยังไม่ลืมใช่ไหมครับว่าช่วงต้นปี 2549 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธก็เป็นคนหนึ่งที่แต่งชุดทหารเดินตามหลังพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ไปแสดงปาฐกถาและตรวจเยี่ยมหน่วยทหาร และดูเหมือนผมจะเคยเล่าให้ฟังแล้วว่าท่านเตรียมตัวออกมาแถลงข่าวเสนอทางออกให้บ้านเมืองในช่วงปลายเดือนเมษายน 2549 แต่ต้องงดไปเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสต่อคณะตุลาการเสียก่อนในวันที่ 25 เมษายน 2549 แม้กระนั้น หลังจากนั้นไม่กี่วันท่านก็ยังไปบรรยายพิเศษที่สถาบันแห่งหนึ่งพูดถึงการปฏิวัติประชาธิปไตย

และหลายคนคงจำไม่ได้ว่าในปี 2549 ก่อนการรัฐประหารนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงไม่ได้สังกัดพรรคไทยรักไทย แต่หลังจากแพ้การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ปี 2548 ก็ได้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาพรรคหนึ่งชื่อพรรคทางเลือกใหม่ โดยออกข่าวว่าจะเชิญพล.ล.ชวลิต ยงใจยุทธซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าในขณะนั้นทั้งสองใกล้ชิดกันมากมาเป็นหัวหน้าพรรค

ขอทวนความจำให้ว่าเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2549 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงได้อ่านแถลงการณ์ของพรรคทางเลือกใหม่เสนอทางออกจากวิกฤตทางการเมืองด้วยการเสนอให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยอ้างอิงเหตุการณ์ตราพ.ร.ฎ.ฉบับประวัติศาสตร์ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 ซึ่งหัวหน้าพรรคทางเลือกใหม่ในขณะนั้นเห็นว่าเป็นแบบอย่างสำคัญในการแก้ปัญหาบ้านเมืองที่รวดเร็วทันเหตุการณ์ เป็นการขอให้ใช้พระราชอำนาจคลี่คลายวิกฤต และเป็นการขอพระราชทานพระบารมีเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง

เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงเสนอแนวคิดลักษณะนี้ และก็ถูกนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ออกมาวิจารณ์อย่างหนัก โทษฐานที่เสนอให้ออกกฎหมายลำดับรองไปแก้ไขกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ

ผิดถูกประการใดขออภัย แต่ผมเชื่อว่าน่าจะมีที่มาส่วนสำคัญจากแนวความคิดของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เห็นว่าบ้านเราผิดทิศผิดทางมาโดยตลอดที่ไปให้ค่ารัฐธรรมนูญสูงเกินจริง และไปหลงประเด็นมาโดยตลอดว่ารัฐธรรมนูญสร้างประชาธิปไตยได้ ทั้งที่ไม่จริง รัฐบาลเฉพาะกาลที่มีนโยบายประชาธิปไตยต่างหากที่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้แค่ชั่วข้ามคืน

ตามแนวคิดนี้ รัฐบาลแห่งชาติจะต้องประกอบส่วนจาก “ทุกฝ่าย” จึงไม่แปลกที่จะต้องพบปะเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และขานั้นก็ต้องตอบรับในระดับหนึ่ง เพื่อไม่ปิดทางตัวเอง แต่เงื่อนไขต่างหากจะรับกันได้แค่ไหน เพราะถ้ารัฐบาลแห่งชาติมีภาพเป็นเพียงอีกหน้าหนึ่งของความพยายามเอานักโทษหนีคดีกลับมาครองอำนาจใหม่ มันก็ไม่มีทางที่จะเดินหน้าต่อไปได้

ผมเชื่อว่าต้องมีความพยายามติดต่อเข้ามาเสนอพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน เหมือนที่เคยเสนอผ่านสาธารณะในช่วงมิถุนายน 2551

สถานการณ์จากนี้ไป ไม่ต้องให้ผมบอกหรอก กะพริบตาไม่ได้แน่นอน

เพราะทุกประการมาประจวบเหมาะกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 นี้ และการจะเดินไปสู่ทางออกไม่ว่าตามแนวคิดทฤษฎีการเมืองของใคร รวมทั้งแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเฉพาะกาลนี้ มันต้อง “มีเหตุ” หรือ “มีเรื่อง” ก่อน

เป็น “เหตุ” และเป็น “เรื่อง” ที่จะทำให้เกิด “ผล” ในระดับเดียวกับวันที่ 20 พฤษภาคม 2535

ขอให้ทุกท่านมีสติปัญญาแจ่มใสเห็นชัดชั่วดีผิดชอบเสื่อมเจริญทั้งหลายด้วยเทอญ !
กำลังโหลดความคิดเห็น