xs
xsm
sm
md
lg

ขู่สลับขั้ว บีบแก้ รธน.ก็แค่เกมของนักลากตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดศักราชใหม่ในปีเสือ 2553 ขึ้นมา การเมืองไทยก็ร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้งกับการปลุกกระแสแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลหอกข้างแคร่อย่างพรรคชาติไทยพัฒนาของ “นายบรรหาร ศิลปอาชา” และพรรคภูมิใจไทยของ “นายเนวิน ชิดชอบ”

นายบรรหารถึงกับโพล่งในการประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ รร.โอเรียนเต็ลว่า “เราก็ขอเอาแค่ 2 ประเด็นพอ 1.มาตรา 190 และ 2.มาตรา 165 เกี่ยวกับวันแมนวันโหวต (เขตเดียวเบอร์เดียว) ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลเถิด หากไม่แก้ไขเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง เราก็ต้องหาทางทำอย่างอื่น หากพรรคไหนเสนอเรื่องนี้เข้าสู่สภาเพื่อแก้ไขมาตราดังกล่าว แต่ไม่ต้องแก้มาตรา 237 พรรค ชทพ.ก็จะร่วมลงชื่อด้วย”

ตามต่อด้วยนายเนวินที่ให้สัมภาษณ์ว่า "วันนั้นนายบรรหาร (ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย) เป็นคนเสนอว่า ถ้ายังไม่ยอมแก้ เกิดพรรคเพื่อไทยเสนอเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมา พรรคก็ต้องโหวตให้เพื่อไทยนะ ซึ่งผมบอกสุเทพว่า พี่อย่าโกรธนะ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับเงื่อนไขการตั้งรัฐบาล แต่เรื่องรัฐธรรมนูญ พรรคผมก็ต้องโหวตให้ เพราะถือว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ดีสำหรับพวกผม แต่ไม่มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล ขอยืนยันว่า ไม่ได้บีบ คุณไม่แก้ก็อย่าแก้ แต่ถ้าฝ่ายไหนเสนอมาผมเอาด้วย"

ขณะที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ถึงขนาดประกาศขู่กันอย่างโต้งๆ ว่า งานนี้อาจถึงขั้นมีการสลับขั้วทางการเมืองเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องคำขู่ของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะสลับขั้วหากไม่ทำตามข้อเรียกร้อง เพราะไม่ว่าจะหาเหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาอธิบาย ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีทางไหนที่พรรคร่วมจะหันปากหนีจากกองผลประโยชน์ที่กองอยู่เบื้องหน้ากับการร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ได้ การเคลื่อนไหวของพรรคร่วมเป็นเพียงการต่อรองทางการเมืองเพื่อกดดันพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น

แต่สิ่งที่สังคมอยากรู้ก็คือ การแก้รัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยเช่นไร และเงื่อนไขที่แต่ละพรรคยื่นข้อเสนอมานั้น ใครจะได้ ใครจะเสียมากกว่ากัน

ที่สำคัญคือ เป็นการแก้เพื่อตัวนักเลือกตั้งเป็นหลักโดยไม่สนใจความรู้สึกหรือความเห็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศหรือไม่

ภท.-ชทพ.ลุ้นเขตเดียวเบอร์เดียว หวังโค่นเพื่อแม้ว

การเปิดเกมแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น จริงๆ แล้ว ต้องบอกว่า น่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า แต่ละพรรคเล็งเห็นถึงสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า ไม่น่าไว้วางใจและมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจ “ยุบสภา” ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ดังนั้น แต่ละพรรคจึงได้หันมาให้ความสนใจต่อรัฐธรรมนูญที่เสมือนหนึ่งเป็นกฎหมายที่จะบังคับใช้ในการเลือกตั้งว่า ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขแล้ว มาตราใด วรรคใดจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคของตนมากที่สุด เพราะถ้าหากไม่มีการแก้ไขให้สำเร็จเสร็จสิ้นก่อนการยุบสภาแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ สถานการณ์อาจจะไม่ดำรงสภาพเหมือนเช่นที่ผ่านมาก็เป็นได้

ทั้งนี้ พรรคที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดก็คือ พรรคภูมิใจไทย(ภท.)และพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.)

กล่าวสำหรับพรรคภูมิใจไทย สิ่งที่พวกเขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดก็คือประเด็นเรื่อง “เขตเลือกตั้ง” ที่ภท.ต้องการจะเปลี่ยนจากระบบที่เป็นอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 50 จากเขตละ 3 คนเป็นเขตเดียวคนเดียว เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะภท.เห็นว่า เป็นระบบที่พวกเขาได้ประโยชน์มากที่สุดและมีโอกาสที่จะแย่งชิงเก้าอี้จากพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคอีสานได้

สำหรับตัวเร่งที่ทำให้ภท.ต้องการเปลี่ยนแปลง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนสำคัญมาจากผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.มหาสารคาม ที่พรรคเพื่อไทยชนะไปอย่างหวุดหวิด ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยทุ่มเทเต็มที่ คนเสื้อแดงทุกกลุ่มก็ช่วยเต็มที่ แต่ก็ยังชนะหวุดหวิด

ดังนั้น แม้ภท.จะแพ้ แต่คะแนนที่ห่างกันเพียงแค่พันกว่าคะแนนได้จุดประกายให้แกนนำของภท.เกิดความฝันที่จะใช้เป็น “โมเดล” ในการหาเสียงในศึกเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า  และกลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว เพราะเห็นว่านี่เป็นหนทางที่จะชนะพรรคเพื่อไทยในภาคอีสาน

เหตุผลของภท. ไม่ต่างอะไรกับพรรคชาติไทยพัฒนาของนายบรรหาร ศิลปะอาชา

ธาตุแท้เพื่อแม้ว แก้ รธน.เพื่อช่วยนายใหญ่

สำหรับพรรคเพื่อไทยของนช.ทักษิณ ชินวัตรนั้น ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นเงื่อนไขทางการเมืองที่พวกเขาใช้เคลื่อนไหวมาโดยตลอด โดยอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ พร้อมทั้งชูธงให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี 40 อีกครั้ง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่เห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพิจารณาวัตถุประสงค์ที่แท้จริงแล้ว วันเวลาที่ผ่านมาทำให้เห็นความต้องการที่แท้จริงว่า เหตุผลที่พวกเขาต้องการแก้รัฐธรรมนูญมีเพียงประการเดียวคือต้องการช่วยให้นช.ทักษิณพ้นจากความผิด เพราะการนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ ถ้าใช้หมดทุกมาตราก็จะทำให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องที่กลุ่มคนของ นช.ทักษิณ ชินวัตร กำลังเรียกร้องอยู่ นั่นคือว่าผลจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 นั้นทำให้ นช.ทักษิณ ไม่ต้องติดคุก และทำให้ได้ทรัพย์สินคืนมาทั้งหมด รวมทั้งจะได้สถานภาพทางการเมืองกลับคืนมาทั้งหมด

ทั้งนี้ หากยังจำกันได้ หลังจากที่คณะกรรมการสมานฉันท์เห็นว่ามี 6 ประเด็นในการแก้รัฐธรรมนูญโดยทุกพรรคเห็นพ้องต้องกัน แต่แล้วอยู่ๆ พรรคเพื่อไทยตัดสินใจไม่ร่วมด้วยทำให้หยุดชะงักลง ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้สนใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อต้องการประชาธิปไตยตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะในเมื่อเงื่อนไขในการแก้ไม่ตรงกับความต้องการของตนเอง ก็ตัดสินใจไม่เข้าร่วมอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

ดังนั้น การที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเข้าพบนายบรรหารนั้น จึงเป็นเพียงปาหี่ที่เกิดขึ้นเพื่อหวังสร้างกระแสข่าวให้สังคมสนใจ รวมทั้งเดินเกมเสี้ยมให้พรรคร่วมรัฐบาลแตกกันเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว ความต้องการของพรรคเพื่อไทย กับพรรคชาติไทยพัฒนา รวมทั้งพรรคภูมิใจไทยก็มิได้ตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการแก้ไขเขตเลือกตั้งให้เป็นเขตเดียวคนเดียว เพราะหากกลับมาใช้ระบบนี้ มีความเป็นได้สูงมากที่พรรคเพื่อไทยจะต้องสูญเสียเก้าอี้ ส.ส.ให้กับพรรคภูมิใจไทยในพื้นที่ที่ตัวเองครองอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทยว่า พรรคเพื่อไทยรำคาญและเบื่ออย่างยิ่ง ที่พรรคการเมืองต่างๆพยายามมาตื๊อให้พรรคเพื่อไทยไปร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเรื่องนี้มาโยงใยมาถึงพรรคเพื่อไทย เราจึงขอประกาศอีกครั้งและเป็นครั้งสุดท้ายว่า 1.พรรคเพื่อไทยประเมินสถานการณ์แล้วว่าการที่มีผู้นำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพูดอีกในช่วงนี้ โดยที่หลายคนในรัฐบาลพยายามบอกว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่กระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งใหญ่กว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรามองแล้วเห็นว่าผู้ที่นำเรื่องนี้มาพูดนั้นต้องการสร้างเรื่องหลอกประชาชน เนื่องจากภายในพรรคร่วมรัฐบาลกำลังมีปัญหา ข้อขัดแย้งและพยายามต่อรองอะไรบางอย่างอยู่ จึงนำเรื่องนี้มาพูดเพื่อต่อรองผลประโยชน์กันภายใน ด้วยการหลอกให้ประชาชนงงเล่น เช่นมาบอกว่าจะมาจับมือกับพรรคเพื่อไทย ทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทยได้นำมือไปไว้ในกระเป๋าแล้วก็ต้องขอบอกเลยว่าพวกเรารู้ทันน่า

     2.นอกเหนือจากการต่อรองผลประโยชน์แล้วยังเป็นความพยายามกลบเกลื่อนเบี่ยงเบนความสนใจปัญหาคอร์รัปชันในรัฐบาลของประชาชน 3.พรรคเพื่อไทยขอเตือนพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งว่า อย่าพยายามดึงเกมเพื่อให้สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปและควรหยุดเล่นละครบทนี้ได้แล้ว เนื่องจากผู้ชมคือประชาชนเบื่อหน่ายที่จะชมต่อไปแล้ว 4.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พยายามเชิญชวนพรรคเพื่อไทยให้ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หลายครั้ง ดังนั้น พรรคเพื่อไทยขอชวนให้นายอภิสิทธิ์ มาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ทั้งฉบับเพื่อความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

5.ย้ำว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวหรือร่วมสังฆกรรมใดๆ กับรัฐบาลไม่ว่าจะแก้ไข 6 ประเด็น หรือ 2 ประเด็น เพราะล้วนแต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของคนในรัฐบาลทั้งนั้น ล่าสุด มีคนมาเล่าว่า การเลือกตั้งซ่อมที่ภาคอีสานที่ผ่านมา บางพรรคการเมืองต้องใช้เงินมาถึง 70-80 ล้านบาทต่อแห่ง จึงรู้สึกเสียดายเงินเพราะต้องการใช้เพียง 10-20 ล้านต่อแห่ง จึงไม่อยากใช้วงเงินขนาดใหญ่ แต่อยากจะใช้วงเงินขนาดเล็ก เราจึงเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่รัฐบาลเสนอจะไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนแม้แต่น้อย และ 6.พรรคเพื่อไทย ขอยืนยันอย่างเดียวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นบ่อเกิดของปัญหาและเป็นผลผลิตของเผด็จการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐธรรมนูญ 2540 เท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย และจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้ได้กลับคืนมา
       
ปชป.ตีขิม ลอยตัวเหนือปัญหา

พรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้น ดูเหมือนว่าจะตีบทละครที่พรรคร่วมรัฐบาลจะแสดงในครั้งนี้ออกอย่างทะลุปรุโปร่ง และมั่นใจว่า คำพูดเรื่องการสลับขั้วทางการเมืองจะไม่มีวันเป็นจริงได้ในเร็ววัน เพราะพรรคร่วมรัฐบาลต้องการที่จะบริหารงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ออกมาในช่วงต้นปี 2553 เพื่อสร้างคะแนนเสียงให้กับตนเองเสียก่อน ประกอบกับถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจนถึงขั้นยุบสภา ก็เชื่อว่า แต่ละพรรคคงจะต้องรอให้ผ่านพ้นเดือนกันยายนหรือตุลาคม ซึ่งเป็นฤดูโยกย้ายข้าราชการไปเสียก่อน เพื่อที่จะได้กระชับฐานอำนาจของตนเองให้แน่นหนามากยิ่งขึ้น

ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ได้อนาทรร้อนใจกับเรื่องนี้เท่าใดนัก เพราะมิได้รับประโยชน์อันใดไม่ว่าจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญก็ตาม แม้จะมีบ้างในบางประเด็นที่เห็นสมควรที่จะแก้ไขก็ตาม เช่น มาตรา 190 ที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญากับต่างประเทศ เนื่องจากเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดกระแสความรุนแรงจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ก็จำต้องแสร้งออกมาเออออห่อหมกกับการแก้รัฐธรรมนูญบ้างในบ้างครั้ง ดังเช่นที่ทำก่อนหน้านี้กับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ที่สำคัญคือ พรรคประชาธิปัตย์เองก็ดูเหมือนจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขระบบการเลือกตั้งจากเขตใหญ่ให้เป็นเขตเล็กเพราะตกอยู่ในฐานะเดียวกับพรรคเพื่อไทย เนื่องจากอาจทำให้เสียพื้นที่ที่เคยยึดครองในบางจุดได้

ด้วยเหตุนี้ ประชาธิปัตย์ไม่กระโดดเข้าสู่เกมตีรวนของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ และซื้อเวลาไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์ของพรรคจะมีความพร้อมมากที่สุด จากนั้นก็จะเลือกใช้วิธีการลงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

ดังนั้น เชื่อขนมกินได้ว่า การตีรวนของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนานั้นเป็นเพียงแค่เกมต่อรองและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของนักธุรกิจการเมืองเท่านั้น เพราะห้วงเวลานี้ ไม่ใช่ห้วงเวลาที่พวกเขาพร้อมเต็มร้อยที่จะกระโจนสู่สนามเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาสถานการณ์กันอีกครั้งในการเปิดประชุมสภา 21 มกราคมนี้ว่า จะมีการเคลื่อนไหวกันอีกระลอกหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น