xs
xsm
sm
md
lg

ชงกรอ.วันนี้ พึ่งนายกฯ แก้มาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- เอกชนหน้ามืดหันหน้าซุกรัฐ หลังยังไม่มีข้อยุติจะพึ่งศาลฯ ใด ยื่นข้อเสนอแก้ไขมาบตาพุดต่อที่ประชุมกรอ.วันนี้ จี้นายกฯ ใช้อำนาจสั่งสผ.ชี้ชัดกิจการใดต้องทำ EIA รวมถึงการตีความให้ชัดเรื่องใบอนุญาต โดยให้รัฐและเอกชนหาทางสรุปร่วมกันใน 15 วัน “สรยุทธ์” เตรียมเรียก30กิจการถกสัปดาห์นี้ ยังมีลุ้นพึ่งศาลปกครองกลาง


วานนี้ (26 ม.ค.) นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการหารือถึงผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองกลางที่ยกคำร้องขอผ่อนผันระงับกิจการ 30 โครงการวานนี้ (26ม.ค.) ว่า เอกชนจะเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหามาบตาพุดใน 4 ประเด็นสำคัญต่อที่ระชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันนี้ (27ม.ค.)

สำหรับข้อเสนอแรกประกอบด้วย ข้อเสนอแรก ขอให้รัฐผลักดันการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งศาลอย่างเร่งด่วน โดยนายกฯ มีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน ดังนี้ 1. สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชี้ชัดว่าโครงการใดต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 2.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และหน่วยงานอนุญาตอื่นๆ ตีความและให้ความชัดเจนเรื่องใบอนุญาต 3.นายกฯ สั่งการให้ภาครัฐและเอกชนดำเนินงานเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันภายในกรอบเวลาที่กำหนด 15 วัน

4.กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการดำเนินงานตามที่ศาลมีคำสั่งทั้ง 4 ประเด็น 5.กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทั้งสผ. กรอ. กนอ.และหน่วยงานอนุญาตอื่นๆ ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันเช่นกรณีที่สผ.ชี้ชัดว่าไม่ต้องทำ EIA หน่วยงานอนุญาตที่เกี่ยวข้องต้องมีการนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการให้อนุญาต เป็นต้น 6.ให้หน่วยงานรัฐเร่งวินิจฉัยและปฏิบัติตามกรอบกฏหมายอำนาจและหน้าที่ที่มีอยู่ในปัจจุบันเช่น หากโครงการที่ไม่เข้าข่าย 8 กิจการตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมก็ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้

ส่วนข้อเสนอที่ 2. กรณีที่ไม่เข้าข่ายตามกฏหมาย หน่วยงานของรัฐสามารถวินิจฉัยเพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้เลย แต่หากกรณีที่มีความจำเป็นต้องยื่นต่อศาลให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐยื่นคำร้องต่อศาลให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อยกเลิกการคุ้มครอง 3.ผลักดันกระบวนการตามมาตรา 67 ให้เร็วตามกรอบที่กำหนดให้เสร็จภายใน 5 เดือน 4.ผลักดันให้กระบวนการจัดตั้งองค์กรอิสระให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

“เอกชนกำลังดูกฏหมายอยู่ว่าจะยื่นคำร้องต่อได้อีกหรือไม่ และจะไปที่ศาลใดแน่ ซึ่งบางฝ่ายมองว่าอุทธรณ์ไม่ได้อีกในชั้นศาลปกครองสูงสุด แต่ศาลปกครองกลางอาจจะได้ จึงยังไม่เป็นที่ยุติในประเด็นนี้”นายพยุงศักดิ์

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้จะเรียกผู้บริหารจาก 30 กิจการที่ล่าสุดศาลปกครองกลางไม่รับคำร้องขอผ่อนผันระงับกิจการมาหารือถึงแนวทางความเป็นไปได้ที่จะกลับไปใช้ช่องทางในการยื่นคำร้องใหม่ต่อศาลปกครองกลางอีกครั้งแต่จะต้องมาดูเหตุผลที่จะยื่นใหม่ พร้อมกันนี้ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากกรณีมาบตาพุดจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานเพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน

“กรณีการยื่นขอทบทวนต่อศาลปกครองกลางนั้น ทำได้ตลอดอยู่แล้ว ซึ่งเข้าใจว่า 30 กิจการที่ยื่นไปแล้วไม่ผ่าน เป็นเพราะต่างฝ่ายต่างยื่นกันไป ทำให้ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ไม่ตรงกัน จึงจำเป็นต้องมาดูเหตุผลใหม่ที่ชัดเจนว่ากิจการทั้งหมดที่จะยื่นขอยกเว้นระงับกิจการนั้น ไม่ได้จะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกติกาที่รัฐกำหนดให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2 ทั้งการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) แต่ต้องการขอผ่อนผันการระงับกิจการเพราะจะมีผลกระทบต่อระยะสั้นทันทีต่อเศรษฐกิจทั้งแรงงาน การตลาด การเงิน“ นายสรยุทธกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 28 ม.ค. รมว.อุตสาหกรรมพร้อมด้วยนางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะพบปะหารือกับหอการค้าญี่ปุ่นกรุงเทพ (JCC) นำโดย นายโย จิซึคาตะ ประธานหอการค้าญี่ปุ่นจำประเทศไทย

นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.รับทราบรายงานกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เนื่องจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ยกคำร้อง 30 โครงการที่อุทธรณ์ขอดำเนินโครงการต่อ นอกจากนี้ ยังเห็นชอบตามข้อเสนอตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 มีนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะทำงาน

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรณีการจัดรับฟังความเห็นที่กนอ.และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ต้องดำเนินการตามระเบียบใหม่นั้น กำลังดูในเรื่องงบประมาณในการดำเนินการอยู่ โดยกนอ.มีกฏหมายเองที่ง่ายจะกำหนดเรียกเก็บค่าธรรมนียมพิเศษจากเอกชนตรง แต่กรอ.จะต้องออกกฏหมายรองรับ ซึ่งใช้เวลา ดังนั้น กำลังดูความเป็นไปได้ในการใช้งบจากโครงการไทยเข้มแข็งหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น