ปตท.เร่งปรึกษาช่องทางกฎหมาย กนอ.-กรมโรงงานฯ หลังศาลปกครองกลางยกคำร้องคดี "มาบตาพุด" เล็งอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด เพื่อยื่นขอถอดออกจากการถูกคำสั่งระงับโครงการชั่วคราว
มีรายงานข่าวว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เตรียมหารือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรณีคำสั่งศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องโครงการในมาบตาพุด หลังจากที่เอกชน ยื่นขอถอดออกจากการถูกระงับโครงการชั่วคราว เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยจะหารือกับฝ่ายกฎหมายว่า ปตท.จะสามารถยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดได้หรือไม่
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีดังกล่วว่า หากดูคำสั่งของศาลปกครองกลางแล้ว ปตท.พบว่า มีช่องทางทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการเพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ เช่น การหารือกับหน่วยงานที่ออกใบอนุญาต ทั้ง กนอ. และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งต้องดูว่าจะให้ใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่
“โดยในกรณีนี้ทางกลุ่ม ปตท.จะให้โครงการที่ถูกระงับยื่นหารือเป็นรายโครงไป ขณะเดียวกัน ปตท.จะหารือกับฝ่ายกฎหมายว่ากรณีนี้จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอถอดจากการระงับโครงการได้หรือไม่ เรากำลังหาช่องทางกฎหมายเพื่อดำเนินการ โดยกรณีอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด คงต้องหารือร่วมกันว่า ควรจะอุทธรณ์หรือไม่”
นายอรรถพล กล่าวว่า ภายในกลุ่ม ปตท.ได้หารือกันอย่างใกล้ชิดโดยตลอด ทำแผนร่วมกันต่อเนื่องทั้งเรื่องผลกระทบต่อแผนการผลิต โดยเฉพาะโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 6 ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตแอลพีจี และเป็นวัตถุดิบต้นทางของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมไปถึงโครงการของบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยในส่วนของการผลิตของบริษัทในเครือ ยอมรับว่าบางโครงการต้องลดกำลังผลิตลง เพราะวัตถุดิบไม่เพียงพอ
ในขณะเดียวกันได้มีการเลื่อนการปิดซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซฯ โรงอื่นๆ เพื่อลดการนำเข้าแอลพีจีให้มากที่สุด ส่วนการนำเข้าแอลพีจีที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 100,000 ตันต่อเดือนนั้น ปตท.จะเริ่มนำเข้าและขนถ่ายที่คลังก๊าซลอยน้ำบริเวณเกาะสีชัง เป็นครั้งแรกในปลายเดือนมกราคม 2553 นี้ โดย ปตท.ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ดูแลการนำเข้าไม่ให้แอลพีจีขาดแคลน แต่ต้องยอมรับว่าต้นทุนของประเทศพุ่งสูงขึ้นตามปริมาณและราคาแอลพีจีที่นำเข้าสูงขึ้น
ด้านนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวย้ำอีกครั้งว่าจะดูแลแอลพีจีไม่ให้ขาดแคลน และในส่วนการปฏิบัติการตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 นั้น ได้สั่งให้ กลุ่ม ปตท.ดำเนินตามกรอบดังกล่าว โดยเฉพาะการทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) ซึ่งทาง ปตท.รายงานว่า พร้อมปฏิบัติตามทั้งคำสั่งศาล โดยจะดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2553 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องกรณีเอกชนเจ้าของโครงการ 30 โครงการในมาบตาพุด ยื่นขอถอดจากการถูกระงับโครงการชั่วคราว ระบุว่าศาลฯ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย หรือไม่มีอำนาจพิจารณาประเด็นที่ยื่นขอมา โดยบริษัทเอกชนที่ยื่นขอถอดจากการถูกระงับโครงการชั่วคราวนั้น เป็นกรณีที่โครงการนั้นๆ ได้รับอนุญาตก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 และในบางกรณีเป็นโครงการที่บริษัทมองว่า ไม่น่าก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน
ตามคำสั่งศาลฯ ระบุว่า ในกรณีโครงการ หรือกิจกรรมที่ได้รับใบอนุญาตก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 ประกาศใช้นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องสามารถตรวจสอบได้จากเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายนั้นๆ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในกรณีนี้
ส่วนกรณีโครงการของผู้ร้องเป็นกิจกรรมตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้เมื่อธันวาคม 2552 โดยระบุว่า บางโครงการไม่น่าก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างชัดเจน กรณีนี้จึงเป็นที่สุด ศาลปกครองกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาประเด็นนี้
สำหรับกรณีโครงการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ผู้ร้องสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และใช้เป็นหลักฐานแสดงว่า โครงการของผู้ร้องได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้คำสั่งการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลฯ และก่อนคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โครงการของผู้ร้องได้รับการยกเว้น ศาลจึงไม่จำเป็นต้องมีคำวินิจฉัย
กรณีนี้ศาลฯ ยังระบุว่า กรณีที่ผู้ร้องอ้างว่า ขณะนี้ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนไปนั้น เห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องแต่ละรายเคยนำเสนอในชั้นไต่สวนแล้ว จึงไม่มีข้อเท็จจริงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งตามคำร้องดังกล่าว