xs
xsm
sm
md
lg

จ่อเก็บต๋ง 5 แสน กิจการมีผลกระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “อุตสาหกรรม” เล็งเสนอครม.อนุมัติการจัดงบประมาณอุดหนุดหรือเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษกิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรงเพื่อจัดเวทีรับฟังความเห็นกับประชาชน 4-5 แสนบาทต่อกิจการ เพื่อให้สอดรับมาตรา 67 วรรค 2 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ เอกชนไม่เชื่อทำได้ไว เพราะแนวทางไม่ชัดเจน “มาร์ค” มั่นใจเคลียร์ญี่ปุ่นได้ ครม.อนุมัติคณะกรรมการ 4 ฝ่าย สวมบทคณะกรรมการประสานฯ จัดตั้งองค์การอิสระแล้ว

นายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมชี้แจงซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินการตามมาตรา 67วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีนายชายชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรมเป็นประธาน วานนี้ (19 ม.ค.) ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ที่เป็นหน่วยงานอนุมัติและอนุญาตจะต้องมีหน้าที่จัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนการดำเนินการดังกล่าวหรือจะให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงแทน

นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่ากนอ. กล่าวว่า อยู่ระหว่างการสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งกนอ.ในฐานะหน่วยงานอนุมัติ อนุญาตจะต้องดำเนินการภายใต้มาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี
2550ที่กำหนดให้กิจการประเภทรุนแรงจะต้องเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งยอมรับว่าอาจจำเป็นจะต้องเก็บเงินค่าธรรมเนียมพิเศษเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่กับกิจการที่ถูกกำหนดให้เป็นประเภทส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 4.3-5 แสนบาทต่อราย

“กนอ.กำลังดูว่าการเปิดเวทีรับฟังความเห็น ตามมาตรา 67 วรรค 2 นั้น หน่วยงานอนุมัติ อนุญาตจะต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีดังกล่าวขึ้น ซึ่งหน่วยงานเบื้องต้นจะประกอบด้วย กนอ. กรมโรงงานอุตสาหกรรมและคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า (เรกูเลเตอร์) ที่จะต้องอนุมัติการลงทุนในกิจการไฟฟ้า ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานนั้นมีค่าใช้จ่าย การจัดหางบประมาณรัฐมาสนับสนุนเป็นเรื่องที่ลำบากเช่นกัน ก็กำลังดูรายละเอียดอยู่ หากสรุปก็จะเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกนอ.วันที่ 27 ม.ค. เห็นชอบแนวทางเพื่อเสนอกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป”นางมณฑากล่าว

ทั้งนี้ กระบวนการรับฟังความเห็นจะต้องเปิด 1 ครั้ง กนอ.ยอมรับว่ายังไม่ชัดเจนในวิธีปฏิบัติ ซึ่งจำเป็นจะต้องหารือร่วมกับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการประสานกับชุมชนเพื่อมารับฟังความเห็นว่าจะว่างไหม และจะมีจำนวนมากพอที่จะยอมรับหรือไม่อย่างไร จึงไม่สามารถกำหนดเวลาที่ชัดเจนได้

นายประสบศิลป์ โชติมงคล รองผู้ว่าการกนอ.กล่าวว่า การเก็บค่าธรรมเนียมจากกิจการประเภทรุนแรงที่จะต้องจัดทำ EIA และ HIA ภายใต้กติกาใหม่นั้น ได้กำหนดให้หน่วยงานอนุมัติ และอนุญาตเป็นผู้จัดเวทีรับฟังความครั้งละกิจการ จึงไม่สามารถทำรวมได้ ดังนั้น เมื่อมองค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจึงเสนอแนวทางการเก็บค่าธรรมเนียมจากเอกชน เพราะเป็นผู้ลงทุน โดยวงเงินที่จะเก็บ 4.3-5 แสนบาทต่อราย คาดว่าจะจัดเก็บก่อนการอนุญาตการใช้ที่ดิน ซึ่งจากนั้นก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการขอใช้ที่ดินรายละ 10,700 บาท ส่วนหน่วยงานรับฟังความเห็นอาจตั้งเป็นคณะกรรมการกลางหลายๆ ชุดมาดูแล เพราะแต่ละกิจการมีรายละเอียดต่างกัน

“ส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็จะต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกัน คือ การเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น แต่กรอ.จะต้องออกเป็นกฏกระทรวง ซึ่งยุ่งยากกว่า แต่กนอ.สามารถออกระเบียบโดยการเสนอความเห็นให้บอร์ดกนอ.ดำเนินการได้ ซึ่งเบื้องต้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมก็จะยึดกิจการรุนแรงตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมไปก่อน แต่เมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงหลังข้อสรุปจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขมาบตาพุดก็จะบวกเพิ่มเข้าไป ส่วน 67กิจการที่ถูกคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับกิจการ เพราะไม่ปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ก็จะถือว่าเข้าข่ายการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มด้วย”นายประสบศิลป์กล่าว

นายชายน้อย เผื่อโกสุม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนไม่ขัดข้อง หากจะมีค่าใช้จ่ายในการจัดเวทีรับฟังความเห็น เพราะเป็นสิ่งที่เอกชนควรจะจ่ายอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เอกชนกังวล คือความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติทั้งวิธีการและหลักการ โดยระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่การทำ EIA และ HIA จนไปสู่กระบวนรับฟังความเห็นก่อนการอนุมัติประกอบกิจการไม่น่าจะเสร็จภายใน 6 เดือน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีการหารือกับตัวแทนประธานเจโทรไปแล้วก่อนหน้านี้ และทราบว่าเบื้องต้นว่ารัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะเดินทางมาไทยสัปดาห์หน้า ซึ่งคงจะมีการชี้แจงกัน และก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ชี้แจงไปแล้วระดับหนึ่ง จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

สำหรับการประชุมครม. เมื่อวานนี้ (19 ม.ค.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระ ในโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 67 วรรค 2 ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อ ชุมชนอย่างรุนแรง พ.ศ.... ที่ ครม. มีมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ ส่วนคณะกรรมการคนอื่นจะยกคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตาม มาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่เหลือมาเป็นกรรมการ และตัดชื่อนายกอร์ปศักดิ์ออกไป และใส่ชื่อคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าไปแทนตามระเบียบที่ระบุเอาไว้ ทั้งนี้ สาเหตุที่ลบชื่อของนายกอร์ปศักดิ์ออกนั้น เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นชื่อของผู้แทนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง เข้าไปมากกว่า อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้สามารถทำงานได้ทันที

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้อำนวยการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแจ้งยืนยันการยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต่อศาลปกครองสูงสุดฐาน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบหรือขั้นตอน หรือวิธีการ อันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เหตุออกระเบียบว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็นองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง โดยมิชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ในวันพุธที่ 20 มกราคม 2553 เวลา 10.00 น. ณ ศาลปกครองสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ ศูนย์ราชการฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น