ครม.ไฟเขียวตั้ง คกก.กลาง แก้ปัญหามาบตาพุด โดยเน้นการหาข้อสรุปในการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 พร้อมตั้งทีมให้ความรู้นักลงทุน เพื่อสร้างความชัดเจน เปิดแผน 2 งัดมาตรการเยียวยาทางการเงิน เพื่อลดผลกระทบต้นทุน-ดอกเบี้ย และแรงงาน เตรียมใช้ตะแกรงร่อน 30 โครงการ พร้อมนัดถกชุดใหญ่ 29 ม.ค.นี้
นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ รับทราบรายงานกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เนื่องจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ยกคำร้อง 30 โครงการที่อุทธรณ์ขอดำเนินโครงการต่อ
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้มีเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข มาทำงานประจำที่ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน และยังเห็นชอบตามข้อเสนอตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง
ทั้งนี้ คกก.กลางที่ตั้งขึ้น มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา มีนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะทำงาน ผู้แทนมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้คำปรึกษาแก่โครงการที่ยื่นคำร้องต่อศาลและให้คำแนะนำต่อขั้นตอนจัดทำรายงานผลการศึกษาด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) และผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่อยู่ระหว่างคุ้มครองชั่วคราว
ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินนั้น หากเป็นโครงการที่กู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ ครม.ได้อนุมัติกรอบการช่วยเหลือไว้แล้ว โดยให้ธนาคารพิจารณาผ่อนปรนภาระดอกเบี้ยให้ ส่วนโครงการที่กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศ รัฐบาลไทยจะทำหนังสือไปยังประเทศนั้นๆ เพื่อขอประสานความช่วยเหลือต่อไป ส่วนปัญหาแรงงานจะมีกระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแล
ด้านนายสรยุทธ์ กล่าวว่า จะเชิญคณะกรรมการทั้งหมดร่วมประชุมภายในวันที่ 29 มกรมคม 2553 นี้ เพื่อรีบพิจารณาให้ความช่วยเหลือ 30 โครงการที่ถูกศาลปกครองยกคำร้องก่อนในลักษณะเจาะลึกถึงข้อมูลที่เคยนำเสนอต่อศาลฯ เนื่องจากแต่ละโครงการมีสถานะภาพในการดำเนินโครงการต่างกันออกไป
"บางโครงการเพียงเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ หรือบางแห่งย้ายตำแหน่งเครื่องจักรเท่านั้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ ไม่น่าจะถูกให้ระงับ"
ทั้งนี้ ตนเองได้เร่งรัดให้เจ้าของโครงการทั้ง 30 โครงการ ส่งข้อมูลสำเนาคำร้องที่ได้ยื่นต่อศาลปกครองมาให้คณะกรรมการพิจารณาโดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้รับมาแล้ว 3 โครงการ ส่วนที่เหลือมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เร่งประสานเจ้าของโครงการให้จัดส่งมาโดยเร็วที่สุด เพราะการขอทบทวนคำสั่งศาลปกครองสามารถทำได้หากมีข้อมูลใหม่
ล่าสุด 17.00 น. นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม เขตควบคุมมลพิษ จ.ระยอง โดยระบุว่า ในวันที่ 27 มกราคม ทางภาคเอกชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกระงับโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด จะนำข้อเสนอการแก้ปัญหาดังกล่าวเสนอต่อนายกฯในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) โดยข้อเสนอ ประกอบด้วย
1.ต้องการให้ภาครัฐผลักดันการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งศาลอย่างเร่งด่วน โดยนายกฯต้องมีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ 1.1 สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) ต้องชี้ชัดว่า โครงการใดบ้างที่ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) 1.2 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) และหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตอื่นๆ ต้องตีความเรื่องการออกใบอนุญาตให้ชัดเจนว่าหน่วยงานใดมีหน้าที่อย่างไรบ้าง
1.3 นายกฯต้องสั่งการให้ภาครัฐและเอกชนดำเนินงานเพื่อหาข้อสรุปต่างๆร่วมกันให้ชัดเจนในกรอบเวลาที่กำหนด 15 วัน 1.4 ให้มีการกำหนดหน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการดำเนินงานตามคำสั่งศาลฯ 1.5 ให้นายกฯกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทั้ง สผ. กรอ. กนอ. และหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตอื่นๆดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน เช่น กรณีที่ต้องการให้ สผ. ชี้ชัดว่าโครงการใดบ้างที่ต้องทำ หรือไม่ต้องทำ EIA
1.6 ให้หน่วยงานของรัฐเร่งวินิจฉัยและปฏิบัติตามกฎหมาย และอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ เช่น ถ้าเป็นโครงการที่ไม่เข้าข่าย 8 กิจการตามประกาศกิจการที่เข้าข่ายมีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ให้ดำเนินการต่อไปได้
2.ในกรณีที่เป็นโครงการที่ไม่เข้าข่ายถูกระงับการดำเนินการก่อสร้าง ให้หน่วยงานของรัฐสามารถวินิจฉัย เพื่อออกใบอนุญาตให้ดำเนินการต่อไปได้ทันที แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอผ่อนผันดำเนินการกิจการต่อศาล ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐในการยื่นคำร้อง เพื่อยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราว ตามที่ศาลสั่ง
3.ให้ผลักดันกระบวนการตามมาตรา 67 วรรค 2 เช่น การทำรายงานผลวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) ให้เร็วที่สุดตามกรอบที่กำหนดให้เสร็จภายใน 5 เดือน และ4.ให้ผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด
ด้านนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาการลงทุนในมาบตาพุดต่อที่ประชุมครม.โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการประสานงานและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษา และมีนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเพื่อหาทางแก้ไขให้โครงการที่ถูกศาลปกครองสั่งระงับ รวมทั้งหาทางช่วยเหลือโครงการที่มีปัญหากับสถาบันการเงินของไทยและของต่างชาต