xs
xsm
sm
md
lg

อุ้มมาบตาพุด เปิดคลีนิกช่วยเอกชน ครม.ไฟเขียวเกณฑ์ EIA-HIA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-อุตฯ เปิดคลินิกให้คำปรึกษา 64 กิจการเพื่อยื่นศาลฯ เว้นการระงับกิจการ ครม.ไฟเขียวหลักเกณฑ์ทำ EIA และ HIA แล้ว

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วานนี้ (29ธ.ค.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้เรียกผู้ประกอบการ 64 รายที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้ระงับกิจการชั่วคราวมาหารือถึงแนวทางการเตรียมพร้อมข้อมูลของเอกชนแต่ละราย เพื่อที่จะไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางในการขอทบทวนคำสั่งการระงับกิจการชั่วคราวเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยใช้ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน หรือโอเอสโอเอสของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นคลินิกเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ข้อมูลแนะนำแก่ภาคเอกชนที่จะยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติมต่อศาลฯ

“กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลเอกชน เพื่อให้แต่ละรายไปยื่นกันเอง ยืนยันว่าไม่ได้คิดว่าจะดันทุรังให้เอกชนไปยื่นทั้งหมด แต่เพื่อขอผ่อนผันลดผลกระทบต่อกิจการต่างๆ เท่าที่เห็นว่าเหมาะสม แต่ภาพรวมยังคงต้องให้เอกชนปฏิบัติตามกฏหมายภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550“ นายชาญชัยกล่าว

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุมได้จัดกลุ่ม 65 ประเภทกิจการที่ถูกระงับ แต่ล่าสุดบริษัท สยามยามาโตะได้พ้นจากคำสั่งระงับกิจการ เพราะไปยื่นคำร้องต่อศาลฯ ขอให้ยกเว้นแล้ว จึงเหลือ 64 กิจการ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณาแยกกลุ่มกิจการจากเหตุผลแบ่งเป็น 3 กลุ่มกิจการ ได้แก่

1.กิจการที่เข้าข่าย 11 โครงการที่ศาลฯ ให้เดินหน้าต่อ ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีทั้งสิ้น 26 กิจการ มูลค่าประมาณ 9.8 หมื่นล้านบาท มีทั้งอยู่ระหว่างก่อสร้างและก่อสร้างแล้วและยังไม่ดำเนินการ

2.กิจการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและยืนยันว่าพร้อมที่จะเดินหน้าและเสี่ยงในระยะยาว หากไม่ผ่าน HIA 15 กิจการ

3.กิจการที่ยังไม่ก่อสร้างหรือยื่นคำขอใดๆ มีประมาณ 20 ราย ซึ่งในที่นี้รวมสยามยามาโตะที่ถูกเว้นระงับกิจการแล้ว ก็จะเหลือ 19 กิจการ โดยยอมรับว่ากลุ่มนี้ยังกังวลจะใช้เหตุผลใด เพราะไม่เข้าข่ายข้อ 1-2 โดยต้องหาเหตุผลอื่นๆ มาสนับสนุน

ส่วนอีก 4 กิจการนั้น แจ้งยกเลิกดำเนินการแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวไม่เกี่ยวกับคำสั่งศาลฯ มูลค่าประมาณ 1,600 ล้านบาท เช่น โกลว์เหมราชพลังงาน ,ไทยพลาสติกเคมีภัณฑ์ ,ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะจัดทีมออกมาดูแล 3 ทีมตามกลุ่มกิจการที่จัดแยกไว้ โดยมีศูนย์การประสานงานที่ศูนย์โอเอสโอเอสของบีโอไอที่ตึกจามจุรีแสควร์เป็นที่ประสานงานกับเอกชน

“เหตุผล คือ ให้เขายื่นเองก็กลัวจะสับสน เราเลยจัดคลีนิคให้เพื่อสนับสนุนข้อมูล”นายสรยุทธกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรอ.และกนอ. ไปพิจารณาเตรียมความพร้อมในฐานะเป็นหน่วยงานอนุมัติ อนุญาตตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จะต้องเป็นหน่วยงานหลักจัดเวทีรับฟังความเห็นเป็นรายโครงการ ซึ่งแต่ก่อนทั้งสองหน่วยงานไม่ได้ดำเนินการ ดังนั้น จะต้องเตรียมพร้อมในเรื่องงบประมาณและหน่วยงานที่จะรับผิดชอบ ซึ่งอาจจะแยกออกมาเป็นกองใหม่ โดยขอให้เร่งสรุปโดยเร็ว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ซึ่งจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (30 ธ.ค.) และจะมีการเรียกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาซักซ้อมความเข้าใจต่อไป

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังการประกาศใช้ประกาศกระทรวงฯ แล้ว จะทำให้ 65 โครงการที่ติดล็อกอยู่ สามารถจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้ตามขั้นตอนในประกาศ เพื่อให้เป็นไปตามมาตราที่ 65 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ตลอดจนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และผู้มีส่วนได้เสียภายใต้กรอบเวลาทั้งหมด 105 วัน ก่อนที่จะเสนอองค์การอิสระ ซึ่งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย จะเสนอรูปแบบการตั้งองค์การอิสระเข้ามาในระยะเวลาที่สอดรับกันในอนาคต

"ประกาศฉบับนี้ เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ด้วยการเพิ่มเติมประกาศฉบับเดิมของกระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อให้มีการกลั่นกรองการศึกษาผลกระทบ การรับฟังความเห็นจากประชาชนในหลายขั้นตอนมากขึ้น"นายสุวิทย์กล่าว

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การหารือระหว่างสำนักนโยบายแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กับส.อ.ท.เกี่ยวกับกรอบการจัดทำEIA และHIA ที่ประชุมได้เห็นชอบตั้งทีมคณะทำงานระหว่างส.อ.ท.กับสผ. เพื่อตรวจสอบสถานะโครงการว่าอยู่ในกระบวนการที่จะต้องทำขั้นตอนไหน โดยขั้นตอนทั้งหมดจนกระทั่งการรับฟังความเห็นจากองค์กรอิสระจะใช้เวลา 6 เดือน แบ่งเป็นขั้นตอนสผ. 150 วัน ส่วนจะเร็วหรือช้าคงอยู่ที่การรวบรวมข้อมูลจากเอกชนและกระบวนการรับฟังความเห็นของ กรอ.และ กนอ.
กำลังโหลดความคิดเห็น