xs
xsm
sm
md
lg

วาง 4 เงื่อนไขปลดล็อก กระเตง"มาบตาพุด" ยืดเคาะกิจการรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเร่งสรุปกรอบให้ 65 กิจการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 หวังเสนอครม. 22 ธ.ค.นี้ พร้อมยืดสรุปประเภทและขนาดกิจการรุนแรงออกไปเป็นม.ค. 53 เพื่อรับฟังความเห็นเพิ่มหลังไม่ตรงกัน เอกชนยันพร้อมทำHIA ขอให้กรอบออกมาโดยเร็ว ด้านก.อุตฯวาง 4 เงื่อนไขกิจการที่จะถูกปลดล็อคระงับกิจการเคาะสรุปวันนี้(19ธ.ค.)ร่วมก.พลังงานก่อนชงครม.22ธ.ค.ขณะที่รัฐจัดทัพ แจง “มาบตาพุด” นักธุรกิจญี่ปุ่นสัปดาห์หน้า พร้อมรอครม.ไฟเขียว อุทธรณ์ 10 โครงการ "ปูนใหญ่"อ้อนศาลฯขอเดินหน้าก่อสร้างโครงการที่ได้รับอีไอเอก่อนรธน.บังคับใช้ อ้างช่วยเพิ่มการว่าจ้างงาน

นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรรมการในคณะกรรมการ แก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีนายอานันท์ ปันยาระชุน เป็นประธาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะหารือรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)และสุขภาพ(HIA) การรับฟังความคิดเห็น เพื่อเป็นกรอบให้เอกชนโดยเฉพาะ 65 กิจการที่ถูกศาลปกครองสูงสุดระงับกิจการนำไปปฏิบัติในวันที่ 21 ธ.ค.ซึ่งหากได้ข้อสรุปจะนำเสนอนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอครม.วันที่ 22 ธ.ค.นี้

อย่างไรก็ตามความเห็นเกี่ยวกับ ประเภทกิจการ และขนาดของกิจการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรุนแรงยังมีความเห็นไม่ตรงกันนั้นคณะกรรมการ 4 ฝ่ายส่วนใหญ่จะเปิดรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางแล้วจะสรุปความชัดเจนได้ภายในเดือนม.ค. 2553 ดังนั้นเอกชนก็สามารถจัดทำEIA และHIA ไปก่อนได้ระหว่างนี้หากไม่แน่ใจก็ไปรอม.ค.53 ส่วนองค์กรอิสระนั้นจะเป็นองค์กรระดับชาติที่จะมีองค์กรย่อยที่มาขึ้นทะเบียนเพื่อมาเสนอความคิดเห็นต่อกิจการ

นายโกศล ใจรังษี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า องค์กรอิสระนั้นจะประกาศแยกออกมาจากประกาศของกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อให้มีความชัดเจนในรายละเอียดดังนั้นระหว่างนี้เอกชนก็ปฏิบัติตามกรอบที่จะออกมาก่อนได้ซึ่งองค์กรอิสระการจัดตั้งออกเป็นบทเฉพาะกาลกำหนดระยะเวลาจัดตั้งได้ใน 60 วัน

**วาง 4 กรอบลุ้นกิจการยื่นขอผ่อนผันวันนี้

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังการหารือร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) วานนี้(18 ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมได้สรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณา 65 กิจการที่ถูกระงับกิจการว่าจะเข้าข่ายขอยื่นต่อศาลปกครองกลาง จ.ระยองเพื่อขอผ่อนผ่อนการระงับกิจการเหมือนกับกรณี 11 กิจการที่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาให้เดินหน้าต่อไปได้ใน 4 ประเด็นคือ

1.กิจการที่ได้รับ EIA ก่อน ส.ค. 2550 ,2.กิจการที่ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 3. กิจการทีช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและ 4. กิจการที่ไม่อยู่ในประเภท 19 กิจการในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องทำ HIA หรือไม่ ซึ่งหากเข้าข่าย 4 ข้อดังกล่าวก็จะมีโอกาสจะยื่นขอผ่อนผันการระงับกิจการได้

นอกจากนี้ยังกำหนดกรอบการพิจารณาจัดประเภทผลกระทบจากการระงับ 65 กิจการไว้ 3 ด้านคือ 1. ผลกระทบทางตรงต่อการลงทุน 2. ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน 3. การจ้างงาน ซึ่งเมื่อจัดผลกระทบได้ก็จะมีการหามาตรการในการแก้ไขปัญหา

“ครั้งนี้ได้วางกรอบเบื้องต้นไว้แล้ววันนี้(19ธ.ค.) จะหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานเพื่อทำเป็นแพคเกจทั้งหมดเพื่อส่งเรื่องสรุปให้กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสศช.เสนอครม. 22 ธ.ค.นี้ซึ่งวันนี้ก็จะได้ข้อสรุปว่ามีกี่กิจการที่เข้าข่ายจะผ่อนผันได้ “นายวิฑูรย์กล่าว

นอกจากนี้จะนำเสนอครม.อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานสามารถประสานกับอัยการสูงสุดเพื่อเสนอคำชี้แจงต่อศาลปกครองกลางเพื่อผ่อนผันการระงับกิจการเป็นรายๆ ไปซึ่งก็อยู่ที่ครม.จะพิจารณา

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า เอกชนมีความพร้อมที่จะทำ HIA อยู่แล้วโดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ขอเพียงแค่มีกรอบให้ปฏิบัติตามเท่านั้นทีผ่านมายืนยันว่าไม่ได้เกี่ยงที่จะไม่ทำแต่อย่างใดซึ่งหากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมีความชัดเจนในการปฏิบัติได้ภายในสิ้นปีนี้ก็จะทำให้ผลกระทบลดน้อยลง

**ปูนใหญ่เล็งยื่นศาลปกครอง

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯเตรียมยื่นศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอความกรุณาให้สามารถดำเนินการก่อสร้างเฉพาะโครงการที่ได้รับใบอนุญาตผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)ก่อนที่กฎหมายรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ในปี 2550 เนื่องจากเห็นว่าโครงการก่อสร้างไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่จะมีส่วนช่วยการว่าจ้างแรงงาน แก้ปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นอันเนื่องจาก 65 โครงการที่มาบตาพุดที่ต้องหยุดกิจกรรมเป็นการชั่วคราวตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นโครงการในเครือซิเมนต์ไทยถึง 18 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 57,500 ล้านบาท

**ปิดซ่อมแหล่งเยตากุน 20 วัน

นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเยตากุนจากประเทศสหภาพพม่ามีแผนทำการบำรุงรักษาอุปกรณ์ประจำปีและติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มความดันให้สามารถจ่ายก๊าซธรรมชาติ ได้ตามปริมาณตกลงซื้อขาย โดยจะหยุดการผลิตเป็นระยะเวลา 20 วัน ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2552 - 10 มกราคม 2553 ส่งผลให้การจ่ายก๊าซธรรมชาติจากผู้ผลิตฝั่งตะวันตกหยุดลงทั้งหมด โดยปตท.ได้มีการประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)แล้วเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบ พร้อมกับเตรียมจ่ายก๊าซธรรมชาติเสริมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเต็มกำลังผลิต รวมทั้งจัดเตรียมปริมาณน้ำมันสำรองที่จำเป็น ซึ่งจากการเตรียมการดังกล่าว คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง NGV

**รัฐบาลจัดทัพ แจง “มาบตาพุด”

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของรัฐบาลว่า ในสัปดาห์หน้าจะเชิญนักธุรกิจญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนในมาบตาพุด มาชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการในทุกทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน และให้ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หลังจากที่เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้แสดงความกังวลในเรื่องนี้ และในการประชุม ครม.วันที่ 22 ธ.ค.นี้ จะพิจารณาสถานภาพของโครงการทั้ง 10 โครงการ ที่เปิดดำเนินการไปแล้ว และอีก 29 โครงการ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง อย่างละเอียดหลังจากที่ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งไปแจกแจงโครงการให้ชัดเจน

ทั้งนี้รัฐบาลไม่ได้จะขออุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดอีก แต่ตามคำพิพากษาแล้วได้เปิดช่องให้ส่งเรื่องไปพิจารณาใหม่ได้ หากมีข้อมูลเพิ่มเติมจึงได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมแยกแยะรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อที่รัฐบาลจะนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณา ขณะเดียวกันจะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง และความเดือดร้อนที่ได้รับ เพื่อรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดไปหารือร่วมกับอัยการ ว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร เพื่อช่วยเอกชนที่ได้รับผลกระทบโดยเชื่อมั่นว่า หากมีข้อมูลเพิ่มเติมที่ชัดเจนและสามารถพิสูจน์ได้ว่า ได้ดำเนินการตามกฎหมายและผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากที่โครงการเปิดดำเนินการไปแล้วจะเป็นประโยชน์กับเอกชนเอง

**PTTAR ปรับแผนรับมือพิษมาบตาพุด

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายวางแผน บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR กล่าวว่า จากคำพิพากษาของศาลทำให้บริษัทต้องะงับโครงการอุตสาหกรรมลำดับที่ 38. โครงการเพิ่ม ประสิทธิภาพการผลิตโรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 1 ระยะที่ 3 แต่โครงการดังกล่าวบริษัทฯตัดสินใจระงับการลงทุนไว้ชั่วคราวก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากยังไม่ได้ราคาค่าก่อสร้างที่เหมาะสม ขณะที่โครงการประเภทอุตสาหกรรมลำดับที่ 16.โครงการเชื้อเพลิงสะอาดและปรับปรุงคุณ ภาพผลิตภัณฑ์ และลําดับที่ 41.โครงการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง และเพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลยังคงดำเนินการได้ต่อไป

สำหรับผลกระทบทางอ้อมจากการที่โครงการของผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อขายให้แก่บริษัทสำหรับใช้ในโครงการอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 ซึ่งอาจจะต้องถูกระงับดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดนั้น บริษัทได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยติดต่อขอซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแทน และขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดเตรียมแผนการผลิตไอน้ำทดแทนด้วยวิธีการอื่นร่วมกับกลุ่มบริษัท ปตท.ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น