xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ยันอุ้มธุรกิจ มุ่งอัดสภาพคล่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ขุนคลังยันใช้แบงก์เฉพาะกิจของรัฐลุยอัดฉีดเงิน 1 ล้านล้าน ช่วยเหลือสภาพคล่องธุรกิจ ยาหอมภาคอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจีดีพี จากการว่าจ้างแรงงานกว่า 5 ล้านคน แย้มมาตรการน้ำไฟฟรี รื้อได้อีก ด้าน 3 บิ๊กธุรกิจมองเศรษฐกิจไทยปีหน้าฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกแต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง จี้รัฐต้องมีกึ๋นวางนโยบายให้ชัดเจนเรื่องอาฟตา และดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยในงานกาลาดินเนอร์ “Economic Outlook 2010” จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูง มีการจ้างงานจำนวนมากถึง 5 ล้านคน ทำให้มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม จนทำให้นักธุรกิจต่างชาติ มาตั้งโรงงานขยายการผลิต โดยเฉพาะญี่ปุ่น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมมากกว่าเดิมที่เคยพึ่งพาภาคการเกษตร

“รัฐบาลและคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เอง พยายามที่จะหาแนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมให้เดินหน้าต่อเนื่องไปได้ โดยเฉพาะปัญหาแหล่งเงินทุน เพราะเดิมมีการคาดการณ์ว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ปีนี้จะติดลบ รัฐบาลจึงได้ใช้กลไกให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (เอสเอฟไอ) ให้เข้ามาปล่อยสินเชื่อแทน ด้วยการเพิ่มเป้าหมายจาก 9 แสนล้านเป็น 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจได้รับสินเชื่อและเดินหน้าต่อได้” นายกรณ์กล่าว

สำหรับปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการแก้ไขปัญหา และมีกรรมการจากทุกฝ่าย ซึ่งจะมีความสมบูรณ์และคาดว่าจะสรุปได้ต้นปี ขณะที่ทุกฝ่ายยังรับฟังมากขึ้น โดยรัฐบาลเองได้ชะลอการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เพื่อรอความชัดเจนจากกรรมการชุดดังกล่าวว่าจะสรุปแนวทางใดบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างความเชื่อมั่นและเป็นหลักประกันที่ดีในการประกอบกิจการของนักธุรกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ

**อาจรื้อมาตรการฟรีอีกครั้ง

ส่วนความคืบหน้าของ 5 มาตรการ 5 เดือน ที่จะหมดอายุในสิ้นเดือน นายกรณ์กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะรับฟังทำข้อเสนอแนะที่ให้ตัดมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟที่เป็นข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งจะรวบรวมข้อคิดเห็นและประเมินผลกระทบต่างๆ อีกครั้งก่อนตัดสินใจในช่วงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนี้ขึ้นกับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

**ภาคเอกชนเน้นรัฐควบคุมค่าบาท

ขณะเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ “Economic Outlook 2010” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานและเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย, นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ และ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานและเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.ปตท. ร่วมดำเนินรายการ

นายบุณยสิทธิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2553 ภาคธุรกิจไทยและรัฐบาลจะต้องปรับตัวในการรองรับกับการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน หรืออาฟตา เนื่องจากกำแพงภาษีจะเป็นศูนย์และนโยบายหนึ่งที่สำคัญคือรัฐบาลจะต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทให้มีมาตรฐานเพียงพอที่ธุรกิจไทยจะสามารถต่อสู้กับสินค้าจากต่างประเทศได้ ไม่เช่นนั้นกำไรที่ธุรกิจเคยได้รับที่ผ่านมาจะโดนดูดกลับหมด

ทั้งนี้ ปัจจัยเศรษฐกิจไทยหากมองในแง่การบริโภคปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นตัวแล้ว เช่นเดียวกับ การส่งออกที่ขยับเพิ่มขึ้น เว้นแต่ภาคการลงทุนเท่านั้นที่ยังค่อนข้างไม่ดีนัก ดังนั้น ปัญหาเกี่ยวกับมาบตาพุดคงจะต้องเร่งหาทางออก

ด้าน นายกานต์ กล่าวว่า มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2553 นั้น ยังคงมีปัจจัยที่ต้องระวังหรือน่าห่วงอยู่เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นจะเป็นการฟื้นตัวที่ถาวรจริงๆ หรือไม่ อีกทั้งเห็นว่ารัฐบาลไทยควรจะต้องให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนโดยเร็วและเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก็ควรจะค่อยๆ ลดลงเพื่อให้เวลากับภาคธุรกิจปรับตัว

ส่วน นายประเสริฐ ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจปี 2553 ทุกค่ายมองคล้ายกันคือจะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเอเชียจะฟื้นตัวสูงโดยเฉพาะจีน อินเดีย สำหรับราคาน้ำมันดิบในปีหน้า เฉลี่ยจะสูงกว่าปีนี้โดยอยู่ที่ 80 เหรียญต่อบาร์เรล เชื่อว่า จะไม่ปรับตัวหวือหวามากนัก อย่างไรก็ตามก็คงจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่ต้องบริหารจัดการด้วย โดยเฉพาะการชดเชยราคาแอลพีจี เอ็นจีวี

ขณะที่มุมมองต่อค่าเงินบาทนั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า แต่ละกลุ่มธุรกิจมีมุมมองที่ต่างกันแต่ในแง่ของประเทศแล้วจะต้องหาจุดสมดุลให้ได้เพื่อทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ดังนั้นหากเกรงว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากไป เพราะมีทุนไหลเข้าก็ควรจะนำเม็ดเงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น