xs
xsm
sm
md
lg

ปูนใหญ่กระอัก พิษมาบตาพุดฉุดรายได้สูญ6หมื่นล./ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปูนซิเมนต์ไทย เผยแผนรับรู้รายได้ปีหน้าสะดุด หลังศาลฯ สั่งระงับ 76 โครงการที่ลงทุนในมาบตาพุด กระทบลงทุนธุรกิจปิโตรฯ ที่คาดจะรับรู้รายได้ปีละเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ขณะผลงานไตรมาส 4 มั่นใจดีกว่าปีก่อนเหตุไม่มีผลขาดทุนจากสต๊อกสินค้าคาดปี 53 พลิกฟื้นกำไร เหตุธุรกิจกระดาษหนุนและมาตรการรัฐกระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์บริษัท เผยแผนการควบรวมกิจการสรปุได้ปีนี้หรือต้นปีหน้า ล่าสุดทุ่มงบ 670 ล.เพิ่มกำลังผลิตซีเมนต์

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เปิดเผยว่าจากกรณีที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ระงับโครงการลงทุน 76 โครงการที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไว้เป็นการชั่วคราวนั้น ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ โดยเฉพาะกับบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์จำกัด (เอสซีจี เคมิคอลส์) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เนื่องจากเอสซีจี เคมิคอลส์ มีโครงการปิโตรเคมีขั้นต้น (Naphtha Cracker) และขั้นปลายที่ต่อเนื่อง ซึ่งโครงการดังกล่าวส่วนใหญ่มีการก่อสร้างที่ใกล้จะแล้วเสร็จ พร้อมเริ่มทยอยเปิดดำเนินการในช่วงปลายปี 2552 - กลางปี 2554

" อาจกระทบต่อรายได้ของบริษัทที่คาดว่าจะได้ถึงปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท และผลดังกล่าวทำให้นักลงทุนก็เป็นกังวลเป็นธรรมดาเพราะเราชวนเขาเข้ามาลงทุนที่ประเทศเรา แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราก็ต้องเจรจาเพื่อให้เข้าใจ ซึ่งเรายังไม่ได้ประเมินผลกระะทบที่เกิดขึ้น แต่เราได้ยื่นอุทรณ์ต่อศาลไปแล้วเพื่อให้เราได้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริง "

สำหรับเม็ดเงินที่ SCC ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดทั้งหมด มีมูลค่า106,000 ล้านบาท ซึ่งบางโครงการจะแล้วเสร็จต้นปี 53 และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2511 ที่จะแล้วเสร็จทั้งหมดทุกโครงการ โดยตามแผนงานเดิมนั้น รายได้ที่บริษัทจะรับรู้เข้ามาได้เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 53 เป็นต้นไป

" เดิมที่เราคิดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้โครงการโอเลฟินส์ใหม่ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 ก็คงต้องล่าช้าออกไป จึงต้องการให้รัฐมีข้อกำหนดที่ชัดเจน และแบ่งแยกโรงงานที่มีมาตรการกับไม่มีมาตรฐาน และยืนยันว่าที่ผ่านมาเครือซิเมนต์ไทยดำเนินการตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูงสุด 100% และยังมีการทำ HIA ล่วงหน้าแม้ว่าจะยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจน รวมทั้งการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่(HIA)ในรอบรัศมีโรงงาน 5 กิโลเมตรเป็นรายแรกแม้ว่าทางการจะยังไม่มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจน โดยการศึกษาดังกล่าวยึดมาตรฐานของประเทศแคนาดาและนิวซีแลนด์ที่มีความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก "

นายกานต์กล่าวถึงทิศทาง 3 ธุรกิจหลักในไตรมาส 4 ปีนี้ว่าธุรกิจปิโตรเคมีฯ นั้นจะต่ำลงจากปีก่อนๆ เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ที่ดีล่าช้ากว่ากำหนดนั้นจะเข้าสู่ตลาดประมาณ 3 ล้านตัน จึงจะส่งผลให้ราคาปิโตรเคมีจะปรับลดลงจากมาร์จิ้นและสเปรดที่ต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นราคาของแนฟทา และเม็ดพลาาสติก HEPP ก็จะต่ำกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่งผลให้มาร์จิ้นลดจาก 600 ดอลลาร์สหรัญต่อตันเหลือ 470 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดต่อเนื่องเป็นเวลานานตามวัฎจักรปิโตรเคมี ซึ่งบริษัทยอมรับว่าอาจจะได้รับผลกระทบด้านยอดขายบ้าง เนื่องจากบริษัทพึ่งพารายได้หลักจากธุรกิจปิโตรเคมีถึง 40 %

ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์ไตรมาส 3 ดีขึ้นคือยอดขาย 11,527 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อนแต่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนเพราะราคาขายในประเทศลดลง และปริมาณส่งออกก็ลดลงด้วย แต่ประเมินว่าไตรมาส 4 จะดีขึ้นแน่นอน เพราะโครงการรถไฟฟ้าที่จะต้องใช้ซีเมนต์ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มมีความต้องการใช้มากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากเดือนกันยายนมาแล้ว ส่งผลให้ส่วนวัสดุก่อสร้างก็เติบโตไปในทิศทางเดียวกัน

"ราคาซีเมนต์คงเป็นไปตามกลไกและความต้องการของตลาด หรือหากมีความต้องการใช้สูง เชื่อว่าจะส่งผลให้ราคาปูนซีเมนต์มีเสถียรภาพมากขึ้น และมั่นใจว่าปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่ธุรกิจซีเมนต์จะติดลบ ผมเชื่อว่าปี 53 จะกลับมาเป็นบวกได้จากเม็ดเงินโครงการไทยเข้มแข็งเกือบ 1.5ล้านล้านบาทจะเข้ามา รวมทั้งโรงงานผลิตกระดาษที่ขอนแก่น "

ส่วนธุรกิจกระดาษที่เวียดนามนั้นเดินเครื่องผลิตแล้วครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตทั้งหมด รวมทั้งโรงงานที่ขอนแก่นด้วย ซึ่งขณะนี้มีออร์เดอร์จากญี่ปุ่นเข้ามาล่วงหน้าถึง 3 ปี ขณะที่ราคาขายกระดาษและเยื่อก็ปรับเพิ่มขึ้นโดยตัวเลข EBITDA จะดีขึ้นมาก แม้ว่ากำไรไม่มากเพราะคิดค่าเสื่อมเข้ามาด้วย จากการก่อสร้างโรงงานใหม่ ๆ
นายกานต์กล่าวยืนยันว่าตัวเลขเป้ารายได้ปี 52 จะลดลง 20-25% จากปีก่อนที่มีทำได้ 2.93 แสนล้านบาท แม้ครึ่งปีแรกยอดขายติดลบ 30% เพราะเห็นภาพรวมแล้วดีขึ้น ซึ่งผลงานไตรมาส 3 กำไรถึง 6,988 ล้านบาท ส่วนไตรมาสสุดท้ายผ่านมา 1 เดือนพบว่าเพิ่มขึ้น จึงมั่นใจว่าจะไม่ขาดทุน

ขณะที่ปีก่อนขาดทุนจากการสต๊อกสินค้าถึง 3 พันล้านบาท แม้กำไรและยอดขายจะไม่สูงเท่าไตรมาส 3 สำหรับการเจรจาพาร์ทเนอร์ 2 บริษัทเพื่อควบรวมกิจการ (M&A) ที่เจรจามาก่อนหน้านั้นพลาดหวัง เพราะพาร์ทเนอร์ไม่ยอมขายหุ้นส่วนใหญ่ให้เข้าบริหาร อย่างไรก็ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทที่มีขนาดเงินลงทุนหลักพันล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ คาดได้ข้อสรุปในปีนี้และต้นปีหน้าด้วย

"เราต้องการลงทุนในลักษณะ M&A เพื่อเข้าปรับปรุงโรงงานเดิมที่เดินเครื่องผลิตอยู่ พร้อมกับพัฒนาให้ดีขึ้นตามระบบของบริษัท ส่วนการลงทุนในอินโดนีเซียยังไม่คืบหน้า ซึ่งปัจจุบัน SCC มีกระแสเงินสดในมือ 22,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนตามแผนต่าง ๆ "

ล่าสุด ได้ให้บริษัทสยามมอร์ตาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มธุรกิจซิเมนต์ที่ SCC ถือหุ้น อยู่ 100 % ลงทุนขยายกำลังการผลิตปูนสำเร็จ รูปเพิ่มอีก 9 แสนตันต่อปี มีมูลค่าลงทุนของโครงการทั้งสิ้น 670 ล้านบาท และคาดเริ่มการผลิต ได้ปี 2554 โดยเป็นโรงงานเขาวง จังหวัดสระบุรี กำลังการผลิต 450,000 ตันต่อปี และการขยายกำลังการผลิตปูนสำเร็จรูปที่โรงงานทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 450,000 ตันต่อปี

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ SCC มีกำไรสุทธิ 6,988.37 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,933.93 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,054.44 ล้านบาท คิดเป็น 17.77% ขณะที่มียอดขายสุทธิ 64,543 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ยอดขายทุกกลุ่มธุรกิจเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น