xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องอีก181โครงการ เชฟรอน-ปูน-ไทยออยล์ แจ๊กพ็อต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเสริฐ บุญสัมพันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน – สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เดินหน้ายื่นศาลปกครองกลางอีก 181 โครงการเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง เผยโครงการขุดเจาะน้ำมันเชฟรอน - รถไฟฟ้า - โรงเหล็กสหวิริยา – โรงปูนซิเมนต์ไทย – โรงกลั่นไทยออยล์ อยู่ในข่ายถูกฟ้อง กกร.ชี้ปัญหาบานปลายกระทบทุกฝ่าย ปตท.อ้อนศาลขอเดินหน้าต่อ ด้านปูนใหญ่หนุนคณะกก.4ฝ่าย

เมื่อเวลา 09.30 น.วานนี้ (2 พ.ย. ) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 ศาลปกครองสูงสุด นายเกษม คมสัตย์ธรรม ตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบังลังก์ไต่สวนนัดแรกในคดีหมายเลขดำที่ 908/2552 กรณีที่นายประศาสน์ชัย ตัณฑพานิช อธิบดีอัยการฝ่ายคดีปกครอง ผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กับพวกรวม 8 คน ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางที่สั่งระงับการดำเนินโครงการในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ทั้ง 76 โครงการ ในการพิจารณาไต่ส่วนครั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดได้เรียกผู้เกี่ยวข้องในคดีทั้ง ฝ่ายผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องรวมอย่างน้อย 23 ราย เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวโครงการต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป

***แจงศาลมลพิษท่วมมาบตาพุด

นาย สุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ในฐานะผู้ฟ้องคดี เปิดเผยว่า ในการไต่สวนคดี ศาลปกครองสูงสุดได้ซักถามใน 3 ประเด็น ได้แก่ เรื่องศักยภาพการรองรับมลพิษของชุมชนมาบตาพุด เรื่องการประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 52ที่ผ่านมา เกี่ยวกับโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง และเรื่องการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67

นายสุทธิ กล่าวว่า ตนและนาย ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนได้ร่วมกันชี้แจงต่อศาลว่า ขณะนี้สภาพชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไม่สามารถจะรอบรับมลพิษเพิ่มเติมได้อีก โดยมีรายงานการรักษาพยาบาลชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากมลพิษยืนยัน ขณะที่ประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าว ก็ขาดการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ และยังมีการลดจำนวนโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงจาก 18 โครงการเหลือเพียง 8 โครงการ ทำให้เห็นได้ชัดว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ไม่เคยมีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 อย่างจริงจัง

พร้อมกันนี้ ได้นำหลักฐานซึ่งเป็นผลการศึกษาวิจัย หลักฐานการเจ็บป่วย และเทปวิดีโอบันทึกภาพผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการมาบตาพุดล่าสุด มามอบให้ศาลนำไปพิจารณาประกอบคำคัดค้านการอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดี

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สมาคมฯ มีความมั่นในข้อมูลหลักฐานด้านผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งข้อกฎหมายที่นำมาประกอบการไต่สวนของศาลปกครองสูงสุด ทั้งคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง ที่สั่งให้พื้นที่ อ.มาบตาพุด อ.บ้านฉาง และพื้นที่ใกล้เคียงในจ.ระยอง เป็นเขตควบคุมมลพิษ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวเนื่องกับคดี ตามมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่ามาตราดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยของศาลจะออกมาเป็นอย่างไร ทางสมาคมฯ ก็พร้อมปฏิบัติตาม

***อุทธรณ์ยันรัฐมุ่งมั่นทำดีแล้ว

ด้านนาย สรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้แทน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการเข้าให้ปากคำต่อศาล ทางอัยการได้เตรียมพยานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ มาร่วมชี้แจงนอกเหนือจากตัวแทนจากหน่วยงานทั้ง 8 รวมถึงทางผู้แทนจากบมจ.ปตท. และบมจ.ปูนซีเมนต์ไทย เพื่อชี้แจงถึงศักยภาพของรองรับมลพิษของชุมชนมาบตาพุด รวมถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดูแลสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยชุมชน ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

นายสรยุทธ์ กล่าวว่า ในการให้ปากคำได้พยายามอธิบายให้ศาลเห็นว่า มาตรการที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่นั้นจะเป็นประโยชน์แก่ชุมชนโดยรอบนิคม อุตสาหกรรมมาบตาพุดในระยะยาว โดยเฉพาะการสร้างความไว้วางไว้ระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการในชุมชน เพื่อให้ไม่กระทบต่อปัญหาการลงทุนของประเทศ ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงว่าไม่ได้ละเลยปัญหา ขณะนี้กำลังดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การไต่สวนนัดแรกวันนี้ (2พ.ย.) ใช้เวลาทั้งสิ้นกว่า 8 ชั่วโมง ทั้งนี้การไต่สวนนั้นยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ โดยศาลนัดหมายวันไต่สวนอีกครั้ง ในวันที่12 พ.ย. เวลา09.30น.

***เตรียมยื่นศาลอีก 181 โครงการ

นายศรีสุวรรณ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า สมาคมฯ ยังเตรียมรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนทั่วประเทศ ร้องเรียนมายังสมาคมฯ ยื่นให้ศาลปกครองกลาง พิจารณาอีก 181 โครงการทั่วประเทศ ที่จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ภายในปีนี้ โดยจะพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นรายโครงการ

เช่น โครงการลงทุนขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม ของบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด 11 โครงการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระช่วงหัวลำโพง-บางแค และส่วนต่อขยายสายพหลโยธิน (หมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา) เฉพาะช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและถมทะเล ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี โครงการขยายกำลังการผลิตเหล็ก ของบริษัท สหวิริยา เพลทมิล จำกัด (มหาชน) โรงงานปูนซิเมนต์ ของเครือซิเมนต์ไทย และโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และน้ำเย็น สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและโครงการปรับปรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ หน่วยที่ 3 บมจ.ไทยออยล์

***ร้องมาบตาพุดเป็นคดีพิเศษ

ในวันเดียวกันนี้ เวลา 14.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ได้เดินทางมาร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้พิจารณาบรรจุปัญหาผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมมาบตาพุดและข้างเคียงเป็นคดีพิเศษ โดยมีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้รับเรื่องไว้พิจารณา

นายสุทธิ กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้ลงตรงจสอบพื้นที่จริงจนมีเป็นเหตุให้มีการดำเนินการต่อกรณีที่มีการแอบนำขยะอุตสาหกรรมมาทิ้งในที่ไม่ถูกต้องในช่วงที่ผ่านมา และเห็นถึงการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ รวมไปถึงการบังคับใช้กฏหมาย ทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชน จึงได้มาขอให้ดีเอสไอผลักดันปัญหาผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นคดีพิเศษโดยเร่งด่วน เพื่อประโยชน์กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาเพื่อบรรจุเป็นคดีพิเศษต่อไป

***กกร.ชี้บานปลายไม่ดีต่อทุกฝ่าย

ทางด้าน นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถบัน(กกร.) เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ว่า กกร.มีความตระหนักถึงปัญหามาบตาพุดที่ภาคเอกชนพร้อมจะร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรณีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเตรียมยื่นฟ้องร้องต่อศาลฯเพิ่มเติมอีก 181 โครงการ เป็นสิทธิ์ที่ห้ามไม่ได้ แต่เอกชนที่ดำเนินธุรกิจดีก็ไม่น่าจะหวั่นวิตกอะไรคงจะต้องดูกันที่เจตนาและไม่ต้องการให้เหตุการณ์บานปลายไม่รู้จบ เพราะหากปัญหายืดเยื้อก็จะไม่ดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประเทศไทยโดยภาคเอกชนเห็นว่ายิ่งชัดเจนและจบเร็วจะเป็นผลดีต่อทุกส่วน

“ผมเห็นด้วยว่าควรจะมีการตั้งกรรมการ 4 ฝ่ายแล้วหารือกันถอยกันคนละก้าวน่าจะเป็นทางออกที่ดีจบวันนี้ได้ยิ่งดีผมไม่อยากเห็นยืดเยื้อเพราะไม่มีผลดีต่อใคร ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหามาบตาพุดส่วนหนึ่งเพราะเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยไม่มีความต่อเนื่องด้วย” นายดุสิตกล่าว

***พร้อมทำHIAแต่ระเบียบต้องชัด

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่กลุ่มเอ็นจีโอเตรียมยื่นฟ้องร้องเพิ่มเติมอีก 181โครงการไม่เข้าใจว่ามีจุดประสงค์อะไรแน่ซึ่งต้องระวังเพราะประเด็นเหล่านี้จะเป็นความวิตกหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนของไทยในอนาคตได้ทั้งนี้ภาคเอกชนเห็นว่าควรจะแยกแยะกิจการที่ดีและไม่ดีออกจากกันไม่ใช่การเหมารวมเช่นนี้

นอกจากนี้ กกร.ยังได้หารือกันและเอกชนทั้ง 76 กิจการพร้อมที่จะทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) แม้ว่ากิจการหลายอย่างไม่ได้เข้าข่ายรุนแรงก็ตามแต่ขอเพียงให้หน่วยงานรัฐมีความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำ HIA ว่าจะต้องประกอบด้วยอะไรและเป็นกิจการประเภทใดกันแน่ ซึ่งปัจจุบันประเด็นเหล่านี้ยังไม่ชัดเจนซึ่งหากมีความชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐานสากลเอกชนก็พร้อมจะดำเนินการ

***ปตท.งงฟ้องเพิ่มอีก

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองให้สั่งระงับ 181 โครงการลงทุนทั่วประเทศ เพื่อให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด และไม่รู้ว่าจะยื่นฟ้องศาลฯเมื่อใด ขณะที่ผลการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองที่ให้ระงับชั่วคราว 76 โครงการในมาบตาพุดก็อยู่ระหว่างการไต่สวน ยังไม่ได้ข้อสรุปชี้ขาด

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ภาคเอกชนอยากขอความกรุณาต่อศาลให้โครงการที่ถูกระงับนี้ดำเนินการต่อไปได้ก่อน เนื่องจากโครงการยังไม่ได้แล้วเสร็จไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และบางโครงการยังส่งผลดีต่อการลดมลภาวะสิ่งแวดล้อม เช่นโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 4 หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาอย่างรอบคอบ ที่ผ่านมา ปตท.ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อกำหนดที่มีอยู่

***ปูนหนุนคณะกก.4ฝ่าย

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีภาคประชาชนเสนอจัดตั้งคณะกรรมการอิสระ 4 ฝ่าย เพื่อร่วมแก้ปัญหามาบตาพุดว่า เห็นด้วย เรื่องนี้เป็นปัญหาของประเทศที่ทุกภาคส่วนควรหันหน้าเข้าหากัน เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาสร่วมกันแก้ปัญหา และพัฒนาความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งในประเทศให้ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหานี้ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการอิสระ 4 ฝ่าย น่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และทำให้โครงการต่างๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน สามารถดำเนินการต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการอิสระชุดนี้ สามารถกำหนดแนวทางการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น และดำเนินการอย่างสอดคล้องกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้แล้ว นอกจากจะช่วยยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมไทยแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น