xs
xsm
sm
md
lg

ลั่นจุดยืน "มาบตาพุด" ไม่ต้องการเปลี่ยนนโยบาย เอกชนนัดสรุปทางออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.ห่วงปัญหา "มาบตาพุด" บานปลาย-ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง นัดสมาชิกถกหาทางออก-กำหนดแนวทางใหม่ วันนี้ ลั่นจุดยืนนักลงทุนในประเทศยังต้องการให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ โดยไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการลงทุน พร้อมแนะรัฐบาลควรชี้แจงขั้นตอนทำงานให้นักลงทุนต่างชาติรับทราบความคืบหน้าเป็นระยะๆ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติคลายกังวล เนื่องจากนักลงทุนบางรายไม่ทราบกระบวนการทางกฎหมายของไทยอย่างชัดเจน

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงการแก้ปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอออกจากมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของ 30 โครงการ โดยยอมรับว่า นักลงทุนต่างชาติมีความกังวลมากขึ้น แต่ภาคเอกชนจะผลักดันให้มีการเดินหน้ารวบรวมข้อมูล เพื่อยื่นคำร้องขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป

"ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงเรื่องโครงการที่ต้องหยุดชะงักไป ทั้งในส่วนที่จะเริ่มดำเนินการ และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน ซึ่งหากต้องกับไปเริ่มกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และด้านสุขภาพ (HIA) ใหม่ก็จะต้องเสียเวลาเป็นจำนวนมาก"

ทั้งนี้ ภาคเอกชนเตรียมรวบรวมข้อมมูลทั้งหมดเพื่อยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะรับดำเนินการหรือไม่ พร้อมกันนี้ ภาคเอกชนยังเห็นว่า รัฐบาลควรชี้แจงขั้นตอนทำงานให้นักลงทุนต่างชาติรับทราบความคืบหน้าเป็นระยะๆ เนื่องจากนักลงทุนบางรายไม่ทราบกระบวนการทางกฎหมายของไทยอย่างชัดเจน

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า นักลงทุนในประเทศยังต้องการให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ เพราะไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการลงทุน ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ ภาคเอกชนจะหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยพร้อมที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่มีอยู่

"เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งที่ลงทุนอยู่ในขณะนี้ และนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ ทำให้ต้องมีการทบทวนการลงทุนในไทยใหม่" นายพยุงศักดิ์ กล่าวสรุป

ล่าสุด 17.00 น. นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการประสานการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม เขตควบคุมมลพิษ จ.ระยอง โดยระบุว่า ในวันที่ 27 มกราคม ทางภาคเอกชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกระงับโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด จะนำข้อเสนอการแก้ปัญหาดังกล่าวเสนอต่อนายกฯในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) โดยข้อเสนอ ประกอบด้วย

1.ต้องการให้ภาครัฐผลักดันการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งศาลอย่างเร่งด่วน โดยนายกฯต้องมีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ 1.1 สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) ต้องชี้ชัดว่า โครงการใดบ้างที่ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) 1.2 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) และหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตอื่นๆ ต้องตีความเรื่องการออกใบอนุญาตให้ชัดเจนว่าหน่วยงานใดมีหน้าที่อย่างไรบ้าง

1.3 นายกฯต้องสั่งการให้ภาครัฐและเอกชนดำเนินงานเพื่อหาข้อสรุปต่างๆร่วมกันให้ชัดเจนในกรอบเวลาที่กำหนด 15 วัน 1.4 ให้มีการกำหนดหน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการดำเนินงานตามคำสั่งศาลฯ 1.5 ให้นายกฯกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทั้ง สผ. กรอ. กนอ. และหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตอื่นๆดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน เช่น กรณีที่ต้องการให้ สผ. ชี้ชัดว่าโครงการใดบ้างที่ต้องทำ หรือไม่ต้องทำ EIA

1.6 ให้หน่วยงานของรัฐเร่งวินิจฉัยและปฏิบัติตามกฎหมาย และอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ เช่น ถ้าเป็นโครงการที่ไม่เข้าข่าย 8 กิจการตามประกาศกิจการที่เข้าข่ายมีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ให้ดำเนินการต่อไปได้

2.ในกรณีที่เป็นโครงการที่ไม่เข้าข่ายถูกระงับการดำเนินการก่อสร้าง ให้หน่วยงานของรัฐสามารถวินิจฉัย เพื่อออกใบอนุญาตให้ดำเนินการต่อไปได้ทันที แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอผ่อนผันดำเนินการกิจการต่อศาล ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐในการยื่นคำร้อง เพื่อยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราว ตามที่ศาลสั่ง

3.ให้ผลักดันกระบวนการตามมาตรา 67 วรรค 2 เช่น การทำรายงานผลวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) ให้เร็วที่สุดตามกรอบที่กำหนดให้เสร็จภายใน 5 เดือน และ4.ให้ผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด

ด้านนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาการลงทุนในมาบตาพุดต่อที่ประชุมครม.โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการประสานงานและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษา และมีนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเพื่อหาทางแก้ไขให้โครงการที่ถูกศาลปกครองสั่งระงับ รวมทั้งหาทางช่วยเหลือโครงการที่มีปัญหากับสถาบันการเงินของไทยและของต่างชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น