xs
xsm
sm
md
lg

นายกสั่งอุ้ม 8 โครงการมาบตาพุด ญี่ปุ่นจวกไทยตกอันดับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"มาร์ค"สั่งอุ้ม 8 โครงการมาบตาพุด มูลค่าหมื่นล้านที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ฝ่ายญี่ปุ่นจวกยับระงับ64 กิจการมาบตาพุดภาพพจน์ลงทุนไทยตกอันดับมองหาประเทศอื่นในอาเซียนแทน คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอใช้ประกาศสำนักนายกฯตั้งองค์กรอิสระ มอบหมายให้กฤษฎีกายกร่างก่อนเสนอกลับ 11 ม.ค.นี้ ด้านสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนย้ำออกพ.ร.บ.ตั้งองค์กรอิสระพร้อมคุณสมบัติต้องครบถ้วน ขู่ทส.-กฤษฎีกาดึงดันเจอขวางแน่ เตือนนักลงทุนอย่าใช้เวทีแก้วิกฤตหาเสียงชิงเก้าอี้ประธานสภาอุตฯ

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำชับในที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการดูแล 8 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ว่า มีขั้นตอนช่วยเหลือไปถึงไหน หรือไม่ อย่างไร

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ 8 โครงการที่นายกฯ สั่งให้ไปดูขั้นตอนช่วยเหลือนั้น จะสามารถทำเรื่องขอเสนอข้อเท็จจริงไปยังศาลว่าอยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกับ 11 โครงการ ได้จำนวน 19 โครงการ โดยแบ่งเป็นที่ดำเนินการอยู่ 4 โครงการ ก่อสร้างเสร็จแล้ว 8 โครงการ และอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 7 โครงการ ซึ่งเอกชนจะยื่นคำร้องต่อศาลเอง และควรดำเนินการเป็นรายกรณี ซึ่งไม่ควรไปดำเนินการแบบเหมารวม เพราะศาลจะดูตามข้อเท็จจริงของแต่ละโครงการ แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาล

โดยในทุกกรณีโครงการเหล่านี้ก็พร้อมที่จะทำตามกระบวนการของมาตรา 67 วรรค 2 ตามที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายตกลงกัน ก็คงเหลือเพียง 8 โครงการ ที่ไม่เห็นว่ามีช่องทางที่จะไปดำเนินการให้เข้าหลักเกณฑ์ ซึ่งมีมูลประมาณหมื่นกว่าล้านบาท

**ญี่ปุ่นจวกลงทุนไทยตกอันดับ

นายมูเนโนริ ยามาดา ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทรกรุงเทพ) เปิดเผยหลังการเข้าพบนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม วานนี้(6ม.ค.) ว่า กรณีปัญหามาบตาพุดที่นำมาสู่การระงับ 64 กิจการขณะนี้ส่งผลให้ภาพพจน์เมืองไทยสั่นคลอนในสายตานักลงทุนญี่ปุ่นและนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ ซึ่งอดีตไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นในสายตานักลงทุนญี่ปุ่นมากสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชียและอาเซียน แต่ปัจจุบันคงไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นรัฐบาลไทยจะต้องเร่งแก้ไขปัญหามาบตาพุดโดยเร็วให้เห็นภาพชัดเจนภายใน 2-3 เดือน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา

“อยากจะฝากรัฐบาลไทยที่ไม่ใช่แค่นายกรัฐมนตรี อยากฝากไปยังสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎร ฝ่ายตุลาการ ว่าแทนที่จะห่วงอนาคต ควรดูว่าแต่ละวันกิจการที่หยุดไปได้สูญเสียอะไรไปบ้าง” นายมูเนโนริกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยประสบกับปัญหาการเมืองทั้งมีการประท้วง การยึดสนามบิน แต่นั่นเป็นเรื่องการเมืองไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับภาคการลงทุนความเชื่อมั่นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบ แต่กรณีปัญหามาบตาพุดกระทบเศรษฐกิจไทยโดยตรง เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยอย่างมาก

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ทางเจโทรได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหามาบตาพุดเนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่นมีการลงทุนและร่วมทุนใน 64 กิจการที่ถูกระงับ โดยได้ชี้แจงประเด็นที่นักลงทุนญี่ปุ่นกังวล 2 ประเด็น คือ 1. ถ้ากระบวนการแก้ไขปัญหามาบตาพุดของไทยใช้เวลานานจะกระทบต่อความเชื่อมั่นจึงต้องการให้ภาพทุกอย่างชัดเจนโดยระบุว่าหากเป็นไปได้ก็ไม่ควรจะเกิน 4-5 เดือน

ประเด็นที่ 2. ระหว่างที่กิจการถูกระงับมีการได้รับข้อมูลถึงความกังวลจากสถาบันการเงินเช่น บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นกับปตท.เริ่มสอบถาม ซึ่งวิตกว่าอาจจะนำไปสู่การชะลอการสนับสนุนทางการเงิน จึงต้องการให้รัฐบาลไทยช่วยชี้แจงกับสถาบันการเงินเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น

“ส่วนของกรณีนี้กระทรวงอุตสาหกรรม เคยนำเสนอหารือในคณะรัฐมนตรีไปแล้วโดยจะประสานกระทรวงการคลังให้หากมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าสถบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อ” นายสรยุทธกล่าว

ทั้งนี้ ประธานเจโทร ได้เชิญรมว.อุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องร่วมงานสัมมนาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 8 ก.พ.โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล โดยความร่วมมือระหว่างเจโทร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าญี่ปุ่น ซึ่งจะเชิญดร.อากิฮิชะ โมริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเกียวโตมาให้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นเพื่อให้ไทยใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหามาบตาพุด

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งสำนักการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีและประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อทำหน้าที่ดูแลในเรื่องการรังฟังความเห็นคาดว่าจะจัดตั้งแล้วเสร็จในเดือนม.ค.นี้

ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ก็จะตั้งสำนักงานลักษณะดังกล่าวด้วยเช่นกัน อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยรูปแบบจะได้ดูรายละเอียดอีกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อน

**ยกร่างตั้งองค์กรอิสระเสนอ 11 ม.ค.

นายสุทธิ อัชฌาศัย กรรมการในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายกล่าวว่า ขณะนี้หลักการการจัดตั้งองค์กรอิสระคงจะต้องใช้ประกาศสำนักนายกในการดำเนินงานเพื่อความรวดเร็ว แต่เพื่อให้เกิดความรอบคอบและไม่ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญปี 2550 ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะกลับไปพิจารณายกร่างประกาศฯเพื่อจัดตั้งซึ่งจะมีเนื้อหาและองค์ประกอบที่ชัดเจนเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายวันที่ 11 ม.ค. 53

“จะต้องเขียนให้ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวกับนิติบุคคลและงบประมาณเพราะไม่เช่นนั้นก็จะไปขัดหลักการรัฐธรรมนูญเดิมที่ท้ายสุดจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ” นายสุทธิ กล่าว

**ย้ำออก พ.ร.บ.ตั้งองค์กรอิสระ

ในวันเดียวกันนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องคดีมาบตาพุด เปิดเผยถึงการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 ว่า หากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกอย่างคลี่คลายไปด้วยดี โดยเฉพาะปัญหาในมาบตาพุดและจังหวัดระยองนั้น รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจใช้อำนาจในเชิงนโยบายมากกว่าที่จะติดกับดักทางบริหารของระบบราชการแบบเก่าที่ล้าสมัย ไม่สนใจกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและเป็นตัวถ่วงของการพัฒนาเชิงรุก

นายศรีสุวรรณ ระบุว่า การหาทางออกของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 เรื่องการจัดตั้งองค์กรอิสระนั้น เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่าการจัดตั้งองค์กรอิสระไม่อาจจัดตั้งภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากอาจขัดต่อพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งการจัดตั้งองค์กรเป็นนิติบุคคล ต้องตั้งงบประมาณ สมาคมฯ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียตามรัฐธรรมนูญฯ ยืนยันว่า หากจัดตั้งในรูปแบบดังกล่าวไม่ได้ ก็ต้องจัดตั้งในรูปแบบ “พระราชบัญญํติ” อย่างเดียวเท่านั้น

นอกจากนั้น รัฐบาลไม่ควรให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกต่อไป เพราะวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นยืนยันชัดเจนว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นที่ผิดพลาด ขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด รวมทั้งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550มาตรา 67 วรรคสอง อย่างสิ้นเชิงมาโดยตลอด อีกทั้งไม่มีปฏิกิริยาที่จะแสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

**ขู่ทส.-กฤษฎีกาดึงดันเจอขวางแน่

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยังกล่าวว่า องค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นต้องเป็นองค์กรระดับชาติองค์กรเดียวเท่านั้น ส่วนจะแยกย่อยเป็นหลายๆ อนุกรรมการแต่ละด้านสามารถทำได้ภายใต้การบริหารจัดการขององค์กรระดับชาติ องค์กรอิสระต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่สอนทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพ จึงจะครบองค์ประกอบ มิใช่องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือสถาบันอุดมศึกษาฯ ที่มีอยู่แล้วที่เป็นปัจเจกองค์กรเดี่ยวๆ จะมาสมอ้างว่าเป็นองค์การอิสระดังกล่าวได้ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พยายามผลักดัน

“หากรัฐบาลไม่เชื่อฟังคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และดื้อดึงตามข้อเสนอหรือความเห็นของทส.และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สมาคมฯพร้อมที่จะใช้กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะจะยื่นเรื่องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้วินิจฉัยว่าความเห็นของกฤษฎีกา กับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่แท้จริง ควรจะมีข้อยุติเป็นเช่นไร โดยไม่สนใจว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาหรือการปลดล็อควิกฤตปัญหาของมาบตาพุด จะยืดเยื้อยาวนานต่อไปอีกสักกี่ปีก็ตาม” นายศรีสุวรรณ ระบุ

**ชะลอฟ้อง 181 โครงการ แลกเลิกป่วน

นายศรีสุวรรณ ยังเรียกร้องให้ผู้แทนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการ ยุติการให้ข่าวหรือให้ข้อมูลที่ขัดหรือแย้งหรือกดดันต่อคำสั่งของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด อย่าใช้เวทีของความพยายามแก้ไขวิกฤตปัญหาของมาบตาพุด มาเป็นเวทีการหาเสียงเลือกตั้งการเป็นผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมฯ ที่จะมีการเลือกตั้งกันในเร็วๆ นี้ มิฉะนั้น กระบวนการบังคับให้ 181 โครงการทั่วประเทศ ต้องดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง โดยผ่านกระบวนการยุติธรรมจะใช้ระยะเวลาที่สั้นขึ้นแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น