xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการหล่อหลอมเด็ก – เยาวชน!

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

ท่านผู้อ่านน่าจะเกิดอาการงงกับ “แสงแดด” ว่า ทำไม 2-3 สัปดาห์นี้ ไม่ได้ร่ายถึงสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอลัมน์นี้มักจะวิพากษ์วิจารณ์เลยไปจนถึงการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์บ้านเมืองมากเป็นพิเศษ แต่มาเกาะติดอยู่กับ “เด็ก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แนวคิด-ทิศทาง” ใน “การพัฒนาเด็ก”

ในขณะเดียวกัน “การเมือง” เริ่ม “อุณหภูมิร้อนฉ่า!” ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว และจะร้อนมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงปลายเดือนเมษายน แต่ปลายกุมภาพันธ์น่าจะหฤโหดที่สุด กับกรณี “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ในการพิพากษาเงิน 7.6 หมื่นล้าน ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า “ผู้ใหญ่” ทุกวันนี้ เกิดจากเมื่อ “เด็ก-เยาว์วัย” นั้น ต้องมีปัญหามาก่อน มิเช่นนั้น คงไม่มี “พฤติกรรม” ที่ “ผิดเพี้ยน!” อย่างเช่นทุกวันนี้ ที่เราก็พยายามพร่ำพรรณนาสอนให้รู้จักแยกแยะ “ผิด ชอบ ชั่ว ดี” แต่ผู้ใหญ่วันนี้ โดยเฉพาะ “นักการเมือง” ยัง “เลอะเทอะ!” ด้วยพฤติการณ์คดโกงทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง และบิดเบือนความจริง หรือ “โกหก”

และเลวร้ายสุดๆ นอกเหนือจากยังไม่เคยคิดที่จะพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุดหน้าไปมากกว่านี้ ทั้งในเชิงสังคมวิทยาและจิตวิทยา กับสังคม เศรษฐกิจ แต่กลับเป็น “แบบอย่างเลว!” ให้ชนรุ่นหลัง ได้ลอกเลียนแบบอีก

ไหนๆ ก็เริ่มต้นด้วย “พฤติกรรมผู้ใหญ่” และ “พฤติกรรมนักการเมือง” ที่เป็น “ต้นแบบ” ให้กับเด็กรุ่นใหม่ มิให้ได้รับการอบรมบ่มสั่งสอนที่ดี แต่กลับเลวร้ายซ้ำเติมมากกว่าเดิม

การพัฒนาเด็กเยาวชนจากพื้นฐานนั้น นับว่าสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่ต้องตอกย้ำจนก่อให้เกิด “ความเคยชิน” ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า “กระบวนการหล่อหลอม (Formulating Process)” ที่ต้องสร้างรากฐานให้แน่นและแข็งแรง เพื่อก่อให้เกิด “ความแข็งแกร่ง” ในการพัฒนาต่อยอดอย่างมั่นคงได้

การเน้นย้ำให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจขั้นพื้นฐาน (Basic) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คำหมาย-คำนิยาม” ของสารพัดปัจจัยที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเด็ก ซึ่งต้องสามารถอธิบายได้ หรืออย่างน้อยที่สุด พอที่จะแยกแยะและอธิบายได้ว่า “อะไรเป็นอะไร!”

เมื่อพัฒนาสู่ขั้นตอนของกระบวนการนี้ “การเสริมสร้างระเบียบวินัย” ในตัวเด็ก นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องรู้ว่า “อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้!” โดยเริ่มต้นด้วยการกำหนดเวลาในการตื่นนอน เข้านอน และจัดสรรแบ่งเวลาให้ถูกกับการดำเนินชีวิตประจำวันและการศึกษาเล่าเรียน

เมื่อ “ขั้นตอนระเบียบวินัย” ได้ถูกปลูกฝังจนเกิด “ความเคยชิน” ที่ยึดถือปฏิบัตินับตั้งแต่เด็ก ซึ่งในที่สุดจะกลายเป็น “ผู้ใหญ่วินัยดี!” และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ในสังคม เริ่มตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน และสังคมขนาดใหญ่

“ทรัพยากรมนุษย์” ที่ล้ำค่านี้กับการเป็น “พลเมืองดี” จะเกิดขึ้นกับเด็กที่เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ที่ต่างฝ่ายต่าง “เคารพสิทธิเสรีภาพ” ซึ่งกันและกัน และแน่นอนสังคมขนาดใหญ่จะเป็น “สังคมสันติสุข” ไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ ในโลกแห่งความเป็นจริง คงเป็นไปได้ยากในเชิงอุดมคติว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องด้วยจะเป็น “ยุคพระศรีอาริย์” เท่านั้นที่จะเกิดขึ้น โดยเราจะสังเกตได้ว่า “สังคมยุคใหม่” เป็น “สังคมวัตถุนิยม” และ “สังคมบริโภคนิยม” หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Materialism – Consumerism”

เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่มีจำนวนน้อยมาก ที่จะเป็นไปตามการพัฒนาอย่างเป็นกระบวนการที่สาธยายไว้ข้างต้น ยิ่งเป็น “สังคมโลกาภิวัตน์” ด้วยแล้ว ที่การสานต่อเชื่อมโยงด้านข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว แทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน จนเกิดอะไรขึ้น ณ ที่ใดในโลก ทุกคนจะสามารถรับรู้ ติดตามได้อย่างทันทีทันใด การรับรู้และส่งต่อเป็นทอดๆ และเลียนแบบกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สังคมยุคใหม่ปัจจุบันจะมีพื้นฐานที่คล้ายคลึงจนเหมือนกันมาก เรียกว่า “วัฒนธรรมโลก (Global Culture)” ตั้งแต่ภาษาที่ใช้ ซึ่งเป็น “ภาษาอังกฤษ” พัฒนามาจนถึง “กระบวนการทางความคิด-วิธีคิด” และเลยเถิดไปจนถึง “พฤติกรรม” จนในที่สุด ประพฤติปฏิบัติจนเคยชิน จนเป็น “วิถีชีวิต (Way of Life)” ในที่สุด

กระบวนการ “หล่อหลอม” ทั้งหมดนี้ มิใช่ใช้ระยะเวลาเพียง 2-3 ปี แต่ต้องใช้ระยะเวลาเกิน 15 ปีขึ้นไป แต่ในยุค “สังคมวัฒนธรรมโลก” ที่ระบาดอย่างรวดเร็วที่ผสมผสานกันระหว่าง “ดี-เลว” โดยเราไม่อาจเหมารวมทั้งหมดได้ว่ามีแต่สิ่งที่ไม่ดี จริงๆ แล้ว สังคมโลกาภิวัตน์นั้น มีส่วนดีมากเช่นเดียวกัน ในเชิงเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เพียงแต่ว่า “การกลั่นกรอง” ของ “ผู้บริโภค” นั้น ต้องมีพื้นฐานที่ดี มิเช่นนั้นแล้ว ก็จะบริโภคอย่างรวดเร็ว โดยมิได้มีการพิจารณากลั่นกรองแต่ประการใด

“การพัฒนาการเรียนรู้” ต่อยอดจากการที่พื้นฐานของเด็กต้องแข็งแกร่ง ในกรณีของการแยกแยะ และพัฒนาสู่การมีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักสำคัญในการอยู่ร่วมกับสังคมขนาดใหญ่ได้ โดยต้องมี “การแนะนำ” กำหนดกรอบทิศทางให้เด็กเดินหน้าพัฒนาได้ต่อไป

ขอย้ำว่า “กระบวนการบ่ม-อบรม-สั่งสอน” เป็นกระบวนการที่ต้องมี “ภาคบังคับ” พร้อมทั้งต้องใช้ “หลักจิตวิทยา” มิใช่ “บังคับขู่เข็ญ” จนเลยเถิดไปถึงการดุด่าว่ากล่าว และเลวร้ายจนถึงขั้นทำโทษด้วยการตี ซึ่งจะก่อให้เกิด “กระบวนการต่อต้าน” และเกลียดชังกับกระบวนการนี้ทันที

ขอย้ำว่า ผู้ใหญ่ต้องอดทนและต้องแฝงด้วยความสนุกสนานไปด้วย เพราะฉะนั้น “หลักจิตวิทยาเด็ก” จึงเป็นองค์ประกอบหลักในการอบรมสั่งสอนเด็ก

ส่วน “กระบวนการระเบียบวินัย” ก็เช่นเดียวกัน ที่มีลักษณะทำนองเชิงบังคับ แต่ก็ต้องสอนให้เข้าใจว่า “ความมีระเบียบวินัย” มีความสำคัญอย่างไร ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งในส่วนของโรงเรียน สถานที่ทำงาน สังคมส่วนรวม หรือแม้กระทั่ง ในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม “สองกระบวนการ” สำคัญข้างต้นนั้น เราจะสังเกตได้ว่า ใช้ระยะเวลาตั้งแต่ระดับอนุบาล จนมาถึงระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในที่สุด ประมาณ 18-19 ปี โดย “สถาบันครอบครัว-ครู-ชุมชน” จึงต้องมีส่วนร่วมกับบทบาทประกบคู่ไปตลอด

“ความชอบ-ความสนุก” เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก ที่จะทำให้เด็กไม่เกิดความเบื่อหน่าย และ/หรือไม่ชอบ เพราะเมื่ออาการเช่นนั้นเกิดขึ้น “การปฏิเสธ” จะเกิดขึ้นทันที และ “การหักเห” ก็จะเกิดขึ้น

ดังนั้น “ความอดทน” ที่จะต้องร่วมกันของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ “ฝ่ายผู้ใหญ่-ฝ่ายเด็ก” โดยเฉพาะฝ่ายผู้ใหญ่ต้องมีมากกว่าฝ่ายเด็ก เนื่องด้วย “ความด้อย-ความพร่อง” ของฝ่ายเด็กที่มีประสบการณ์น้อยกว่า ตลอดจน “ความอยากรู้” ในส่วนอื่นๆ ก็มีมากพอๆ กัน

“ขวัญ-กำลังใจ” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เด็กเยาวชนเพรียกร้องหาอย่างมาก ด้วยการให้กำลังใจ ปลอบโยน และ “ความเชื่อมั่นตนเอง” ก็จะเกิดในที่สุด

ในระบบการศึกษาของกลุ่มประเทศตะวันตก “การเคารพสิทธิ” และ “ความอดทน” ระหว่างกันของทั้งสองฝ่ายจะเกิดขึ้นตลอดเวลาในช่วง “วัยรุ่น” ตลอดจนการให้ขวัญกำลังใจช่วงวัยนี้ หรือแม้กระทั่งวัยเด็กเล็ก

แต่ที่สำคัญคือ “ชุมชน-สังคมขนาดใหญ่” ต่างตระหนักถึงภารกิจหน้าที่ใน “การจรรโลง-ประคับประคอง” ให้เด็กเยาวชนได้ผ่านกระบวนการนี้อย่างมีกรอบ วินัย ทิศทางที่ชัดเจน สังคมเขาถึงเป็นสังคมที่น่าอยู่และ “วัฒนธรรมสูง (High Culture)”

ทั้งนี้ ก็มิใช่เหมารวมว่า สังคมขนาดใหญ่ของสังคมตะวันตกจะ “สวยงาม-อุดมคติ” ไปเสียทั้งหมด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาวัยรุ่น ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ประชาชนในกลุ่มประเทศเขาก็ต้องแก้ไขอยู่ตลอดเวลา

ว่าไปแล้ว สังคมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา ก็จะมีปัญหาคล้ายคลึงกับกลุ่มประเทศตะวันตก ในด้านปัญหาสังคมเช่นเดียวกัน เพียงแต่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ถึง “กระบวนการทางการเรียนรู้ (Socialization)” การพัฒนาบุคลากรทางด้าน “ความคิด-ความรู้-ความเข้าใจ” ที่ต่างระดับกัน

ตลอดระยะเวลา 18-19 ปี ของกระบวนการเรียนรู้ เด็กและเยาวชนต้องเกิด “ความมีส่วนร่วม” ของทุกฝ่าย ที่องค์ประกอบสำคัญคือ “การใช้เวลาร่วมกัน” เพื่อสนทนาพูดคุย และเปลี่ยนความคิดเห็น และไม่สำคัญเท่ากับ “การยอมรับ” และ “การเคารพสิทธิเสรีภาพ” ต่อกัน!
กำลังโหลดความคิดเห็น