xs
xsm
sm
md
lg

"พรรคร่วมฯ-เทพเทือก" ตัวแปรทำ"มาร์ค"ล่ม!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนวิน ชิดชอบ
เมื่อครั้งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ โดยมีพรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็กที่ย้ายขั้วมาจาก"นอมินีทักษิณ"ร่วมค้ำบัลลังก์นั้น หลายฝ่ายต่างปรามาสว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ หน้าละอ่อน จะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือนบ้าง 5 เดือนบ้าง

แต่ในที่สุดรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ผ่านปี 2552 มาได้ และมีอายุครบ 1 ปีพอดิบพอดีเมื่อเริ่มเข้าสู่ศักราชใหม่ ในสภาพที่ยังสามารถบริหารประเทศต่อไปได้อีกอย่างน้อยๆ ก็สัก 1 ปี หรือจะลุ้นอยู่ต่อจนครบวาระสภาผู้แทนฯ ปลายปี 2554 ก็น่าจะยังพอไหว

ทั้งนี้ มองจากช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่พรรคร่วมรัฐบาลสามารถประนีประนอมข้อขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมด้วยกันได้ ซ้ำยังสามารถข้ามผ่านการก่อกวนของคนเสื้อแดงและเครือข่ายระบอบทักษิณที่พยายามสร้างความปั่นป่วนอยู่ตลอดทั้งปีมาได้

กระนั้นก็ดี ใช่ว่าจุดเปราะบางของรัฐบาลท่านนายกฯ รูปหล่อ จะไม่มีเลยเสียทีเดียว

แต่จุดเปราะบางนั้น ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายตรงข้าม อย่างคนเสื้อแดง หรือทักษิณ ชินวัตร เพราะฝ่ายนี้เคลื่อนไหวบนความไม่ถูกต้อง จึงไร้พลังความชอบธรรมใดๆ ที่จะล้มล้างรัฐบาลชุดนี้ลงได้

เห็นได้จากยุทธการป่วนเมืองเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่งทักษิณระดมคนมาได้นับแสนพร้อมประกาศย้ำว่า อย่ากลับบ้านมือเปล่า แต่สุดท้ายคนที่ไม่ได้กลับบ้านมือเปล่าก็มีแต่แกนนำระดับ “หัวขวด” ที่เมื่อเสร็จงานต่างอ้วนพีไปตามๆ กัน

จุดเปราะบางของรัฐบาล ยังไม่ใช่ นายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ ที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลให้ฉายาว่า “ไส้ติ่งรัฐบาล” โดยอ้างว่า เพราะเป็นรัฐมนตรีจากการไปช่วยพันธมิตรฯ ยึดสนามบิน เมื่อเข้ามาทำหน้าที่แล้ว ก็สร้างปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ทำให้ไม่เป็นประโยชน์แถมยังจะเป็นภัยต่อรัฐบาล ซึ่งเหตุผลดังกล่าวขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่านายกษิตได้ตำแหน่งเพราะเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้วและมีประสบการณ์ทางการทูตมาตลอดชีวิตราชการ ซึ่งเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งก็พยายามสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านตลอด จะมีปัญหาก็เฉพาะกัมพูชาที่แทรกแซงกิจการภายในของไทยโดยการแต่งตั้ง นช.ทักษิณ ชินวัตรเป็นที่ปรึกษา และละเมิดสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จึงเห็นชัดเจนว่าเบื้องหลังที่นายกษิตถูกโจมตีนั้น ก็เพราะการทำหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อนำตัว “นช.ทักษิณ”มารับโทษและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น

กษิต ภิรมย์ จึงไม่ใช่ไส้ติ่งรัฐบาล ที่รอวันอักเสบจนเป็นอันตรายต่อรัฐบาลได้

จุดเปราะบางของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จริงๆ แล้ว อยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาล และตัวผู้จัดการรัฐบาลอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต่างหาก

พรรคร่วมรัฐบาลเกือบทุกพรรคล้วนมีแผลเต็มตัว จากพฤติกรรมที่ส่อทุจริตในช่วงที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลนอมินี 2 รัฐบาลก่อนหน้านั้น รวมทั้งหลายพรรคก็มีแกนนำตัวจริงเป็นอดีตกรรมการบริหารที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองอันเนื่องมาจากคดียุบพรรค ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องคอยจับตาการทำงานของรัฐมนตรีพรรคร่วมฯ อย่างใกล้ชิด และคอยใช้เทคนิคทางการบริหารขัดขวางไม่ให้รัฐมนตรีพรรคร่วมแสดงพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตอย่างน่าเกลียดจนเกินไปนัก

ในส่วนรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์เอง นายกฯ มีกฎเหล็ก 9 ข้อ คอยจัดการ หากรัฐมนตรีคนไหนมีพฤติกรรมส่อทุจริต ทำให้มีรัฐมนตรี 2 คนต้องหลุดจากตำแหน่ง คือ นายวิฑูรย์ นามบุตร อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากรณีปลากระป๋อง และนายวิทยา แก้วภราดัย อดีต รมว.สาธารณสุข จากกรณีงบฯ ไทยเข้มแข็ง

ส่วนนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ ที่รับผิดชอบดูแลโครงการชุมชนพอเพียง แม้ยังไม่ออกจากตำแหน่ง แต่ก็ไม่ได้รับผิดชอบโครงการนี้อีกต่อไป และกำลังจะถูกโยกไปทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีแทน

ปัญหาในการควบคุมรัฐมนตรีไม่ให้มีพฤติกรรมส่อทุจริต จึงอยู่ที่พรรคร่วมฯ ที่นายกฯ ยังไม่สามารถใช้กฎเหล็กเข้าไปจัดการได้ ดังกรณีของนายมานิต นพอมรบดี ที่ยังไม่ลาออกจากตำแหน่ง มิหนำซ้ำแกนนำพรรคภูมิใจไทย ยังมาเยาะเย้ยถากถางกฎ 9 ข้อของนายกฯ เสียอีก

หากกฎเหล็กไม่สามารถบังคับใช้กับรัฐมนตรีของพรรคร่วมฯ ได้เสียแล้ว ขณะที่พฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวงยังคงอยู่ ซ้ำยีงมีการข่มขู่จะย้ายขั้วออกมาอยู่เนืองๆ เมื่อตัวเองไม่ได้ดั่งใจ หายนะก็ย่อมจะมาเยือนรัฐบาลในไม่ช้านี้

สำหรับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ซึ่งสื่อมวลชนประจำทำเนียบ ให้ฉายาที่ดูแล้วน่าเห็นใจว่า “แม่นมอมทุกข์” เพราะเป็นผู้จัดการรัฐบาล ต้องคอยแก้ปัญหาที่นายกฯ อภิสิทธิ์สร้างขึ้น ทั้งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องแต่งตั้ง ผบ.ตร. แต่เมื่อดูจากพฤติกรรมตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นายสุเทพน่าจะได้ฉายา “ตัวถ่วงนายกฯ” มากกว่า

นั่นเพราะนายสุเทพต่างหากที่เป็นฝ่ายสร้างปัญหาให้นายกฯ ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไปรับปากพรรคร่วมเอาไว้ตอนจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนายอภิสิทธิ์ต้องแก้เกมด้วยการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาซื้อเวลา เพราะหากดำเนินการแก้ไขทันที พันธมิตรฯ ต้องออกมาชุมนุมต่อต้านแน่นอน

ส่วนการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ซึ่งเป็นอำนาจของนายกฯ โดยตรงแต่เพียงผู้เดียว ที่จะเสนอชื่อต่อคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(กตช.) แต่นายสุเทพกลับไปถือหาง กตช.ฝ่ายที่ต่อต้านคนที่นายอภิสิทธิ์เสนอชื่อ

ขณะที่ผลงานด้านความมั่นคงของนายสุเทพฯ ต้องถือว่าล้มเหลวเกือบสิ้นเชิง โดยเฉพาะการปล่อยให้คนเสื้อแดงล้มการประชุมอาเซียนซัมมิตที่พัทยาได้สำเร็จเมื่อเดือนเมษายน และนายอภิสิทธิ์เกือบเอาชีวิตไม่รอด สุดท้ายต้องออกโรงแก้ไขสถานการณ์เอง

ที่สำคัญ นายสุเทพฯ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องสูญเสียแรงสนับสนุนจากพันธมิตรฯ กรณีที่เมินเฉยต่อคดีที่ประชาชนถูกฆ่าในช่วงการชุมนุม 193 วัน ในปี 2551 และคดียิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ กลางกรุงเทพฯ ช่วงเดือนเมษายน 2552

ล่าสุด คือกรณีที่ คณะกรรมการตำรวจ(กตร.) ที่มีนายสุเทพฯ เป็นประธานมีมติสวนทางกับ ป.ป.ช.ว่านายตำรวจ 3 คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ ไม่มีความผิด และจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งที่ตามกฎหมายแล้ว คำชี้ขาดของ ป.ป.ช.ผูกพันทุกองค์กร ซึ่งเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว เมื่อปี 2546

การกระทำของนายสุเทพ นอกจากจะทำลายแนวร่วมจากฝ่ายพันธมิตรฯ ที่เคยเอาใจช่วยรัฐบาลแล้ว ยังเสี่ยงต่อการทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งหากนายสุเทพส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญในนาม ครม.ก็อาจทำให้รัฐบาลชุดนี้ มีอันเป็นไปก่อนเวลาอันควรก็ได้
บรรหาร ศิลปอาชา
สุเทพ เทือกสุบรรณ 3 คนนี้อาจทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงจุดสิ้นสุดก่อนเวลาอันควร
กำลังโหลดความคิดเห็น