xs
xsm
sm
md
lg

งานหนักของ“มาร์ค” เมื่อไอ้เข้พรรคร่วมฯ เริ่มหิวซี่โครงไก่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรหาร ศิลปอาชา เนวิน ชิดชอบ และชวรัตน์ ชาญวีรกูล แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังกดดันพรรคประชาธิปัตย์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ข่าวนายเนวิน ชิดชอบ ผู้กุมบังเหียนตัวจริงของพรรคภูมิใจไทย เร่งให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ โดยข่มขู่ว่าถ้าไม่รีบแก้ พรรคร่วมรัฐบาลจะหันไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้นั้น


แม้ว่าจะถูกปฏิเสธ โดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ว่าไม่เป็นความจริง แต่การแถลงข่าว ของ “ปลาไหลน้อย” นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ลูกชายนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทยนั้น เป็นการตอกย้ำไห้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า การเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ของบรรดาพรรคร่วมฯ ปัจจุบันนั้น อยู่บนเงื่อนไขของการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องทั้งสิ้น

คำแถลงของนายภราดร เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.นั้น ได้เร่งให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นตามข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง แต่ถ้าจะแก้ไข 2 ประเด็นก่อนคือมาตรา 190 และเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็เห็นด้วย โดยอ้างว่า รายงานของวิป 3 ฝ่ายพร้อมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นได้ส่งถึงมือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาเป็นเดือนแล้ว ทำไมไม่แสดงความชัดเจนออกมาเสียที

นายภราดร ยังกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ว่า ตั้งใจจะยื้อ ที่ไม่เริ่มกระบวนการประชามติเสียที และเรียกร้องให้ดำเนินการในสมัยประชุมสามัญทั่วไปที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 19 มกราคม 2553 ถ้ายังไม่ดำเนินการ พรรคร่วมฯ ก็จะไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำเนื้อหาหลักของรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ ตามที่พรรคร่วมฯ ได้คุยกันไว้แล้ว

คำแถลงของนายภราดร มีข้อน่าสังเกตอยู่ไม่น้อย ว่าเหตุใด จึงออกมาเร่งรัดกดดันรัฐบาล และข่มขู่ถึงขั้นจะพลิกขั้วทางการเมือง เช่นนี้

ถามว่า รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นนั้นมีความจำเป็นเข้าขั้นคอขาดบาดตายแค่ไหน ที่จะต้องเร่งรีบแก้ไข

เอาแค่ 2 ประเด็นที่ พรรคชาติไทยพัฒนาอ้างว่าควรแก้ไขเร่งด่วนที่สุดก่อน คือ มาตรา 190 ที่กำหนดให้การทำสัญญากับต่างประเทศ ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ต้องถามว่า ขณะนี้ รัฐบาลมีสนธิสัญญาอะไรที่ต้องรีบลงนามกับต่างประเทศอย่างด่วนจี๋ หากรอให้สภาพิจารณาก่อน จะทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์อย่างใหญ่หลวง

คำตอบก็คือไม่มี

ส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.จากเขตละ 3 คน เป็นเขตเดียวเบอร์เดียวนั้น ทำไมต้องกระเหี้ยนกระหือรือแก้ไข ถ้าไม่แก้ให้เสร็จโดยเร็ว ประเทศชาติจะพินาศล่มจมลงในบัดดลเชียวหรือ

คำตอบก็คือ ไม่ใช่

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์จงใจยื้อ ก็ต้องถามกลับเช่นกันว่า แล้วทำไม พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องเร่งรีบ ในเมื่อหากดูเนื้อหาที่จะแก้ไขในแต่ละประเด็น ไม่ได้เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของชาติ แต่อย่างใด

ข้ออ้างที่ว่า ข้อสรุปของวิป 3 ฝ่าย ส่งถึงมือนายอภิสิทธิ์ เป็นเวลาเดือนกว่าแล้วยังไม่เริ่มดำเนินการอะไรนั้น อย่าลืมว่า ฝ่ายค้านที่เคยสนับสนุนข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ ได้กลับลำประกาศถอนตัว หันไปเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งฉบับ กลับมาใช้แทน (ตามคำสั่งของ ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคตัวจริง) เท่ากับว่านั่นยังไม่ใช่ข้อสรุปของทุกฝ่าย และที่ผ่านมาฝ่ายรัฐบาลได้เรียกร้องมาตลอดเพื่อให้ฝ่ายค้านกลับเข้าร่วม เพื่อให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้นเสียที

ที่สำคัญคือเนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น หาประโยชน์อันใดที่จะเกิดกับประชาชนไม่ได้ ตรงกันข้าม ข้อดีของรัฐธรรมนูญ 2550 บางมาตรา ที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน กลับจะถูกตัดทอนออกไปด้วยซ้ำ โดยเฉพาะมาตรา 190 ที่กำหนดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในรูปของการรับฟังความคิดเห็น และการเข้าถึงรายละเอียดของสัญญา หากการทำสัญญากับต่างประเทศนั้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง

เมื่อการเร่งเร้าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น ไม่ก่อประโยชน์อันใดต่อคนส่วนรวม เหตุผลที่นายภราดรนำมาแถลงจึงเลอะเทอะเปรอะเปื้อน และจะมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นการเล่นเกมกดดันพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อต่อรองเอาผลประโยชน์บางอย่างให้แก่พรรคร่วมฯ เสียเอง

ผลประโยชน์ที่ว่า มีอย่างไรนั้น ก็ต้องมองย้อนกลับไปถึงเจรจาร่วมรัฐบาลกัน ตอนปลายปี 2551 ว่า ข้อตกลงที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ไปรับปากกับแกนนำพรรคร่วมที่เคยสังฆกรรมกับนอมินีของทักษิณ ชินวัตรมาก่อนนั้น มีอย่างไรบ้าง

1 ในข้อตกลงนั้น มีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 พ่วงอยู่ด้วยแน่นอน นั่นเพราะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหลายคน โดนพิษของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้าไปเต็มๆ โดยเฉพาะมาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองที่กรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งซึ่งมีโทษทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

บรรดาแกนนำพรรคร่วมฯ ที่ถูกลงโทษด้วยมาตรานี้ ก็มีตั้งแต่นายเนวิน ชิดชอบ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายสมศักดิ์และนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้ ต้องส่งนอมินีเข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาล ทำให้สิ้นเปลืองค่า “โสหุ้ย” ดังนั้นในใจลึกๆ ของแต่ละคนจึงต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตนเองพ้นโทษเว้นวรรค 5 ปีโดยเร็ว

ข้อตกลงอีกข้อที่ต้องมีเป็นปกติของรัฐบาลผสม ก็คือการแบ่งสรรโควตาตำแหน่งรัฐมนตรีให้แต่ละพรรคไปบริหารจัดการกันเองเรื่องตัวบุคคล ซึ่งกลายเป็นปัญหาทำให้นายกฯ ไม่สามารถควบคุมรัฐมนตรีแต่ละคนได้โดยตรง จนนำไปสู่ข้อครหาการทุจริตที่เกิดขึ้นยุบยับแทบทุกกระทรวง

เงื่อนไขที่จะทำให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ อยู่ได้นานเพียงใดนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่า จะยอมทนรับข้อตกลงอันอุบาทว์เหล่านี้ได้นานต่อไปอีกเท่าใด ยิ่งมาเร่งเร้าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยข่มขู่จะย้ายข้างไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ในข้อเท็จจริงพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข 6 ประเด็นตามข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่า พรรคร่วมฯ กำลังสร้างแรงกดดันอย่างน่าเกลียด

พิสูจน์ชัดว่า พรรคการเมืองขนาดกลาง-ขนาดย่อมเหล่านี้ ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งสิ้น โดยพร้อมที่จะเปลี่ยนขั้วย้ายข้างได้ทุกเมื่อ หากขั้วไหนให้ประโยชน์แก่ตัวเองได้มากกว่า โดยไม่สนใจว่าฝ่ายไหนจะมีอานุภาพทำลายล้างประเทศชาติมากกว่ากัน

ภายในช่วงต้นปี 2553 หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคแกนนำ อาจต้องตัดสินใจบางอย่าง เพื่อให้บทเรียนสำหรับความเห็นแก่ตัวของพรรคร่วมฯ เสียที เว้นเสียแต่ว่า เขาจะยังยอมรับได้กับเงื่อนไขอันอุบาทว์ในการอยู่ร่วมกัน เพียงเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้นานขึ้นเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น