xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาล “อภิสิทธิ์ ” จริงใจแก้ปัญหามาบตาพุดหรือ ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นประธานเปิดศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ หวังสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลเอาใจใส่ประชาชน
ศูนย์ข่าวศรีราชา

จนถึงวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ยังคงมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนับวันจะหนักหนาสาหัสสากรรจ์ จนทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นเครื่องเตือนใจ ถึงการทำงานในระบบราชการไทย รวมถึงจิตสำนึกของนักลงทุน และนโยบายของรัฐบาล ที่ขาดการเอาใจใส่ในเรื่องความปลอดภัยและปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน โดยกลับไปให้ความสำคัญต่อกลุ่มนักลงทุน โดยลืมมองถึงปัญหาที่จะมาบั่นทอนความสุขของประชาชนในสังคมท้องถิ่นว่าจะเป็นอย่างไร

ที่ผ่านมาหลังจากที่มาบตาพุด ถูกประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ รวมถึง ศาลปกครองสั่งระงับชั่วคราว 76 โครงการมาบตาพุดเพื่อคุ้มครองชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม แต่ครม.ชุดปัจจุบัน ก็พยามที่จะผลัดกันการลงทุนให้เกิดขึ้น โดยพยายามที่จะหาข้อหลีกเลี่ยง เพื่อที่จะให้มีการลงทุนเกิดขึ้นในในพื้นที่มาบตาพุด ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อการพัฒนาประเทศ

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ในการแก้ปัญหามาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นการตั้งขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่มาบตาพุดกำลังร้อนระอุ ตั้งแต่ศาลปกครองมีคำสั่งเมื่อเดือนกันยายน 2552 จนได้นายอานันท์ ปัญยารชุน มาเป็นตัวประสานและลดความร้อนแรงลงไปได้ในระดับหนึ่ง หลังจากนั้น ได้มีบุคคลหลากหลายระดับต่างลงพื้นที่มาบตาพุด ด้วยหลากหลายเหตุผล

ล่าสุดเมื่อวันที่เสาร์ที่ 9 มกราคม 2553นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อเปิดศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ และปล่อยขบวนรถตรวจสุขภาพประชาชน อย่างครึกโครม **และมีประชาชนบางกลุ่มที่มาต้อนรับ ได้แสดงความดีใจที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ เพื่อมาแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุด และเข้ามาใกล้ชิดประชาชน โดยเฉพาะกลุ่ม อสม.จังหวัดระยอง ได้มาให้การต้อนรับจำนวนมาก ซึ่ง อสม. นั้น ถือว่าเป็นกลุ่มฐานเสียงระดับรากหญ้า ในแต่ละพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี มีบางกลุ่มที่ไม่ค่อยให้ความสนใจและไม่เห็นด้วย ที่นายกลงพื้นที่จนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตมีกลุ่มคนมาต้อนรับ จำนวนมาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 3,000 นาย มารักษาความปลอดภัยและ อำนวยความสะดวก แต่จริงๆ แล้วเพียงเพื่อมาเปิดศูนย์ฯ ในการตรวจรักษาประชาชนในเขตใกล้โรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนั้น ยังใช้เวลาเกือบทั้งวันในจังหวัดระยอง คือ รับประทานอาหารกลางวัน และ ลงแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรกับนักการเมืองท้องถิ่นและผู้นำชุมชน

หลากหลายคำถามได้เกิดขึ้นในใจของคนระยอง ว่าท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ มาทำไมในเวลานี้ ? ท่านนายกฯ มีเวลามากมายหรือ ถึงได้ทุ่มเวลาเกือบทั้งวันให้แก่งานในครั้งนี้ ? หรือว่าท่านมาด้วยเหตุผลอื่น ?

ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น ปัญหาที่มาบตาพุด เกินขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว และปัญหาก็มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งการประท้วงของชาวบ้าน เพื่อเรียกร้องให้รัฐเข้ามาดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมประชาชนเจ็บป่วย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม มีการก๊าชพิษรั่วไหล ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องโดนหามส่งโรงพยาบาล และอีกหลายหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุด......

ในช่วงเวลานั้น นายกรัฐมนตรี อยู่ที่ไหน ซึ่งหากท่านจะเห็นว่าพื้นที่ นี้มีความสำคัญ เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขจริง ควรจะลงพื้นที่มาเพื่อดูปัญหาที่เกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องส่งเจ้ากระทรวงต่าง ๆ ลงมาในพื้นที่ แล้วนำปัญหาที่ได้พบเห็นไปรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งการรายงานข้อมูลที่ลงมาพบเห็น หากจะมีการเสริมเติมแต่งบ้างหรือไม่ ก็ไม่มีใครทราบ

การลงมาพื้นที่ในครั้งนี้ เพียงแค่มาเปิดศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ และปล่อยขบวนรถตรวจสุขภาพประชาชน จากนั้นก็เดินตรวจการให้บริการของเจ้าหน้าที่ ก็ถือว่าเสร็จพิธีในการเปิดศูนย์ฯ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรงมาเปิดก็น่าจะเพียงพอแล้ว

สำหรับนายกฯอภิสิทธิ์ การลงมาเปิดศูนย์ฯในครั้งนี้ มีนัยยะอะไรแอบแฝงลึกๆหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหามาบตาพุด ไม่เคยเห็นบทบาทของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่จังหวัดระยองเลย โดยมีเพียงกลุ่มชุมชน กลุ่มผู้นำชุมชน และกลุ่มเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เท่านั้นที่ออกมาต่อสู้และเรียกร้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน รัฐธรรมนูญ มาตรา 67

ช่างน่าสังสัยเหลือเกินว่า การเดินทางมามาบตาพุด จังหวัดระยองคราวนี้ของนายกฯอภิสิทธิ์ อาจเป็นการลดกระแสกลุ่มผู้นำชุมชนที่ออกมาเรียกร้องและต่อสู้ หรือเพื่อสร้างกระแสว่ายังได้รับความนิยม โดยนำกลุ่มอสม.ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตรี เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้แทน...หรือเปล่า
คณะของนายกฯ ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากลุ่ม อสม.ที่แห่กันมาร่วมงาน แต่ไม่เห็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษเท่าไรนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น