xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"ห่วงมาบตาพุดเดือดได้กลิ่นมือที่3ป่วน สั่งตร.เข้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผบก.ระยอง สั่งเตรียมกำลังตำรวจตรึงพื้นที่มาบตาพุดวันนี้ หลังกลุ่มเครือข่าวประชาชนภาคตะวันออกประกาศรวมพลคัดค้านการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม โดยขอให้รอแผนลดและขจัดมลพิษเสร็จก่อน "สุทธิ" ฮึ่มใส่การชุมนุมอาจยืดเยื้อ หากรัฐบาลยังดื้อ "มาร์ค" สั่งหน่วยงานด้านความมั่นคง ตำรวจภาค 2-ระยองให้ระดมกำลังคุมเข้มประชาชนค้านอุตสาหกรรมมาบตะพุด หวั่นมือที่สามยั่วยุ

วานนี้ (8 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ระยองว่า ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง ได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เตรียมกำลังพลให้พร้อมและเตรียมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสลายฝูงชนเพื่อรับมืองกลุ่มผู้คัดค้านการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานโดยขอให้รอแผนลดและขจัดมลพิษเสร็จก่อน ที่ได้มีการนัดรวมตัวกันในวันนี้ (9 ก.ย.) ที่บริเวณหน้านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง หลังจากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านจะมีการดาวกระจายไปที่บริเวณด้านหน้าบริษัท ไออาร์พีซี ซึ่งมีการสร้างส่วนขยายโรงไฟฟ้า และที่บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดระยอง โดยคาดว่าจะมีประชาชนทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก และจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียงเดินทางมาร่วมชุมนุมด้วยเป็นจำนวนมาก
นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแกนนำ กล่าวย้ำถึงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการออกใบอนุญาตแก่โรงงานที่ผ่านการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว (EIA.) ทั้งหมด 55 โครงการ เม็ดเงินการลงทุนประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยไม่ยึดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ซึ่งเรื่องนี้เห็นว่า รัฐบาลส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ผลกฤษฎีกาตีความไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้
กรณีดังกล่าวในเรื่องกฎหมายนั้น ตามหลักกฎหมายต้องมีการถกเถียงต่อไป เพราะการตีความของกฤษฎีกา ไม่ใช่หน้าที่ ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวต้องเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการอาจเอื้อมไปตีความแทนศาลรัฐธรรมนูญและกฤษฎีกาซึ่งเป็นนักกฎหมายของรัฐ ไปตีความแทนศาลรัฐธรรมนูญ ในทางที่ไม่ตรงกับเจตจำนงของมาตรา 67 อาจจะมีผลในทางปฏิบัติได้
นายสุทธิ กล่าวต่อว่า เหตุผลในการชุมนุมเคลื่อนไหวในครั้งนี้คือต้องการให้รัฐบาลยึดหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในการปฏิบัติหน้าที่ ประชาชนไม่ได้ขัดขวางการลงทุน แต่การลงทุนจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านขบวนการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 67 อย่างชัดเจน
"การชุมนุมครั้งนี้อาจยืดเยื้อแน่นอน หากรัฐบาลยังดื้อที่จะดำเนินการต่อไป ซึ่งอาจจะมีการปิดล้อมท่าเทียบเรือมาบตาพุด ปิดล้อมนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และปิดล้อมโรงงานแห่งใหม่ให้เป็นสัญลักษณ์ว่า นี่คือวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 และเป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนเห็นว่า ปัญหามลพิษยังไม่ได้แก้ไข แต่มาเร่งเพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นปัญหาในระยะยาว"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศโดยทั่วไปที่ จ.ระยอง ยังปกติโดยในช่วงที่ผ่านได้มีใบปลิวจากกลุ่มประชนภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนในเรื่องของสิ่งแวดล้อมขอให้ออกมาร่วมกันคัดค้านการก่อสร้างโรงาน ที่เพิ่มขึ้นไม่มีจับ ส่วนกลุ่มที่ก่อนหน้านี้ไม่เห็นด้วนนั้นในขณะนี้ไม่ความเคลื่อนไหวแต่อย่างใด

**มาร์คสั่งตำรวจเข้มคุมม็อบ
ด้านแหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลวานนี้ (8 ก.ย.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ครม.นายอภิสิทธ์ เวชชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งให้หน่วยงานด้านความมั่นคง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 2 และตำรวจภูธรจังหวัดระยอง ดูแลความปลอดภัยกรณีที่กลุ่มคัดค้านการให้ใบอนุญาตอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง จะเคลื่อนไหวบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในวันนี้ (9 ก.ย.) เนื่องจากเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากและเกรงว่าจะมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างประชาชนที่คัดค้านกับประชาชนที่ทำงานในโรงงาน รวมทั้งมือที่สามออกมายั่วยุ
นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุม ครม.ว่า ครม.เห็นชอบผลการตรวจติดตามการดำเนินงานตามกรอบแนวทางพัฒนาและแก้ปัญหาผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด และ จ.ระยอง โดยให้ทางกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาความเป็นไปได้ ในการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานผลการตรวจติดตามการดำเนินงานตามกรอบแนวทางการพัฒนาและการแก้ไข ปัญหาผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด และ จ.ระยอง ต่อ ครม.ให้รับทราบ เช่น การปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง ไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนในแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) อยู่ระหว่างการจัดทำแผนจังหวัด และการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) กำลังเร่งจัดทำรายละเอียด
การจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำลังกำหนดแนวทางปฏิบัติการเพื่อนำเสนอต่อมหาวิทยาลัยมหิดล ขณะที่ กนอ.กำลังเร่งทำแผนแก้ไขปัญหาสารอินทรีย์ระเหยอย่างง่าย สำหรับปัญหาผลกระทบทางสังคมนั้น อยู่ระหว่างการเตรียมการจดทะเบียนประชากรแฝง และแรงงานต่างด้าว
นอกจากนี้ ปัญหาในการบริหารจัดการน้ำพบว่าต้องมีการใช้น้ำในเขตพื้นที่นิคมดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นโดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 91.04% จาก 128 ล้าน ลบ.ม.ในปี 2550 เป็น 245 ล้านบ ลบ.ม. ในปี 2559 แต่ทางรัฐบาลได้อนุมัติ 2 โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ โครงการผันน้ำจาก จ.จันทบุรี ไปยังแหล่งกักเก็บน้ำ งบประมาณ 3,489 ล้านบาท และโครงการเชื่อมอ่างเก็บน้ำประแสร์ งบประมาณ 1,008 ล้านบาท
ขณะที่ผลกระทบ 67 โครงการลงทุนวงเงิน 3 แสนล้านบาท คาดการณ์สร้างรายได้ 3 แสนล้านบาทต่อปี และ เกิดการจ้างงาน 44,015 อัตรา นั้นกำลังปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตรา 67 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า องค์กรอิสระทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ยังไม่ได้จัดตั้งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น