xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.เกษตรฯวุฒิสภาเปิดเวทีชัยภูมิ ระดมแก้ปัญหาลุ่มน้ำชี “ท่วม-แล้ง” ซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมาธิการการเกษตรฯ วุฒิสภา เปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำบริเวณลุ่มลำชีตอนบน: สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข” ที่จ.ชัยภูมิ วันนี้ (28 ส.ค.)
ชัยภูมิ - คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “การบริหารจัดการน้ำบริเวณลุ่มลำชี ตอนบน” เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการน้ำและดินอย่างเป็นระบบยั่งยืน รวมถึงแก้ไขปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้งต่อเนื่องนับสิบปี

วันนี้ (28 ส.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมสยามริเวอร์ จ.ชัยภูมิ นายบรรชา พงศ์อายุกูล ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำบริเวณลุ่มลำชีตอนบน : สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข”

ทั้งนี้ มีนายถาวร พรหมมีชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ, นางพรทิพย์ โล่วีระ จันทร์รัตนปรีดา ส.ว.ชัยภูมิ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการชลประทาน แหล่งน้ำ และที่ดินเพื่อการเกษตร ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา, พล.ต.ต.เดชา ชวยบุญชุม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ พร้อมส่วนราชการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ผู้นำชุมชน และองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมรับสัมมนาครั้งนี้กว่า 1,000 คน

นางพรทิพย์ โล่วีระ จันทร์รัตนปรีดา ส.ว.ชัยภูมิ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการชลประทาน แหล่งน้ำและที่ดินเพื่อการเกษตร เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำชีตอนบน มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจ.ชัยภูมิ จุดเริ่มต้นอยู่ที่ อ.หนองบัวแดง ไหลผ่าน อ.หนองบัวระเหว อ.บ้านเขว้า อ.จัตุรัส อ.เมือง และ อ.คอนสวรรค์ สภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูงชัน ลำน้ำไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ ทำให้น้ำไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มตอนล่างอย่างรวดเร็ว ทำให้จังหวัดชัยภูมิซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของลำน้ำชี ยังคงประสบปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้งอย่างต่อเนื่องนับสิบปี

คณะอนุกรรมาธิการการชลประทาน แหล่งน้ำและที่ดินเพื่อการเกษตร วุฒิสภา ได้พิจารณาเห็นว่า หากสามารถแก้ไขการบริหารจัดการน้ำ บริเวณลุ่มน้ำชีตอนบนได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อันเนื่องมาจากปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน รวมถึงพื้นที่ตอนล่างบางส่วนได้ จึงได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อรับทราบสถานการณ์ความต้องการ

ปัญหาและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ลุ่มน้ำชี รวมถึงศักยภาพ นโยบาย ยุทธศาสตร์ และกลไกในการดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำ และดินของลุ่มน้ำชีตอนบนของภาครัฐและภาคประชาชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

นางพรทิพย์ กล่าวต่อว่า จะนำผลสรุปการสัมมนาครั้งนี้เสนอต่อกรรมาธิการและเสนอต่อวุฒิสภา เพื่อที่จะได้เสนอต่อรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกัน ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ จะไม่ปล่อยเรื่องนี้ทิ้งไว้แบบสัมมนาจบแล้วก็แล้วไป แต่เราจะสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำในแต่ละชุมชน

ต่อไปวุฒิสภาจะมีอีก 2 โครงการ คือ โครงการวุฒิสภาประชาสังคม และการจัดตั้งโครงข่ายในการบริหารจัดการน้ำ โดยรวมกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ ไม่ใช่ราชการอย่างเดียว ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำของเขาด้วยเหมือนกัน ถ้าปล่อยให้ส่วนราชการทำอย่างเดียวก็อาจไม่เห็นปัญหาชัดเจน แก้ไขปัญหาไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ฝั่งหนึ่งได้ อีกฝั่งหนึ่งเสียประโยชน์

“ฉะนั้น ทุกส่วนต้องคุยกัน จะปล่อยให้เป็นปัญหาของรัฐบาลฝ่ายเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องร่วมแก้ไข ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งจะส่วนสร้างชุมชนให้เกิดความเข็มแข็งได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นางพรทิพย์ กล่าว
นายบรรชา  พงศ์อายุกูล ประธาน กมธ.การเกษตรฯ วุฒิสภา




นางพรทิพย์  โล่วีระ จันทร์รัตนปรีดา ส.ว.ชัยภูมิ

กำลังโหลดความคิดเห็น