รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย ชี้ภาพรวมแนวโน้มดีขึ้นหลายด้าน แต่ปัญหาน้ำขาดแคลน คุณภาพเสื่อมโทรม ยังวิกฤตต่อเนื่อง ขณะที่ป่าไม้ยังคงถูกทำลาย แต่ในอัตราต่ำลงกว่าอดีต สิ่งมีชีวิตหลายชนิดถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ ที่ประชุมเสนอเพิ่มเติม ให้เก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในทุกระบบนิเวศ ระบุเป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัด พร้อมแนะแก้ปัญหาแบบบูรณาการ และผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ
สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2552" ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 52 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และรับฟังความคิดเห็นในที่ประชุมเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขร่างรายงานดังกล่าวให้ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนาจำนวนมาก และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ร่วมสังเกตการณ์
ในการประชุมครั้งนี้ มีได้มีการนำเสนอร่างรายงานสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติ และร่างรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม โดยนายชุมพล ลิลิตธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน และรศ.ดร.จันทนา อินทปัญญา อาจารย์ประจำสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งได้จัดทำร่างรายงานฯ ขึ้นโดยการรวบรวมข้อมูลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมระหว่างปี 2547-2551 จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
รศ.ดร.จันทนา เปิดเผยข้อมูลส่วนหนึ่งว่า ทรัพยากรน้ำยังเป็นปัญหาหลักของไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีความต้องการใช้น้ำมาก แต่ยังพบปัญหาขาดแคลนน้ำ วิกฤตภัยแล้ง เกิดขึ้นเป็นประจำ ขณะเดียวกันในบางพื้นที่กลับมีปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก รวมไปถึงปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมในหลายพื้นที่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุจากทั้งปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ขาดการวางแผนจัดการน้ำที่ดีพอ และการบุกรุกทำลายพื้นที่ต้นน้ำ รวมทั้งผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
ส่วนสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยขณะนี้ ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะป่าไม้ยังคงถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการลดลงของพื้นที่ป่ามีแนวโน้มลดลงจากในอดีต ถึงกระนั้นก็ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์ป่าหลายชนิดที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และบางชนิดจัดอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์ เช่น แรด กระซู่ นกกระเรียน
ทว่าทางด้านพื้นที่ป่าชายเลนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าชายเลนทดแทน โดยความร่วมมือของทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนในท้องถิ่นที่มีมากขึ้น
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นักวิชาการได้เสนอผ่านร่างรายงานฯ ว่าควรแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ เช่น ให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาด ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการ โดยทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรระดับชุมชน และเน้นให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วม
ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากดำเนินตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังต้องส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สนับสนุนการดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรเหล่านี้อย่างจริงจังและยั่งยืน ด้วยจิตสำนึกและความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบในการจัดการทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพให้เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมการสัมมนาหลายคนได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในทำนองเดียวกันว่า ควรมีข้อมูลสถานการณ์ที่แท้จริงในเวลานี้ของความหลากหลายทางชีวภาพในทุกระบบนิเวศมากกว่านี้ เพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
รวมทั้งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะความหลากหลายทางชีวภาพจะเป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ส่วนแนวทางแก้ปัญหาควรเป็นแบบองค์รวม และผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ สผ. จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการสัมมนาครั้งนี้ไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้พิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้ประกอบการจัดทำนโยบายและวางแผนแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป.