xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯปาฐกถาพิเศษ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำพรมแดน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในการประชุมระหว่างประเทศระดับรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่อง “การเสริมสร้างความเข็มแข็งในการบริหารจัดการน้ำพรมแดน ในมิติของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” ณ ห้องกมลทิพย์ บอลรูม โรงแรมสยามซิตี้ โดยระบุว่าแม้ขณะนี้ไทยจะต้องเผชิญปัญหาการเมืองในประเทศ และวิกฤตเศรษฐกิจ แต่การบริหารจัดการทรัพยากรข้ามพรมแดนยังเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลไทย และจะเป็นแผนงานที่ทำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

วันนี้ (22 พ.ค.) เวลา 10.30 น.ณ โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมระหว่างประเทศระดับรัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่อง การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในการบริหารจัดการน้ำพรมแดน ในมิติของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

โดยกล่าวถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำต่อมวลมนุษยชาติ ว่า ปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต และเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในการขับเคลื่อนการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในโลกที่มีทรัพยากรจำกัดและมีความขัดแย้งจากความจำกัดของทรัพยากร

และเป็นเวลาหลายทศวรรษ ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ทั้งด้านการบริหารจัดการ เทคโนโลยี และการสร้างเขื่อน ในฐานะประเทศเกษตรกรรม และประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่น้ำจึงเป็นเหมือนชีวิตของคนไทย พื้นที่ร้อยละ 33 ของไทยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีประชากรที่อาศัยอยู่โดยรอบ 80 ล้านคน จาก 6 ประเทศ และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านคน ภายในปี 2025 เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง มีความจำเป็นจะต้องวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยจะต้องให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมด้วย และจะทำให้ภารกิจง่ายขึ้น ความร่วมมือระหว่างประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง จะต้องเกิดขึ้น เพื่อเอาชนะความท้าทายที่มีอยู่และคาดว่าจะเกิดขึ้น และนำมาซึ่งสันติภาพ ความมั่งคั่ง และความสามัคคีระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แท้จริงแล้ว “วันน้ำโลก” หัวข้อของปีนี้นั้นคลอบคลุมครบถ้วน การบริหารจัดการน้ำพรมแดน : แบ่งปันน้ำ แบ่งปันโอกาส

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวแสดงความยินดีที่ทราบว่า การประชุมน้ำโลกครั้งที่ 5 ณ กรุงอิสตันบูล ตุรกี มีข้อเสนอในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำพรมแดน ซึ่งการประชุมระดับรัฐมนตรีนี้จะนำมาสานต่อ ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้เสนอยุทธศาสตร์ที่ปรับเปลี่ยนได้ เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่ยุติธรรม ทั้งน้ำระดับผิวดินและใต้ดิน ในแง่ของความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเข้มข้นและสลับซับซ้อนของการแข่งขันด้านทรัพยากรน้ำ

พร้อมเสนอว่า การใช้ประโยชน์สูงสุด และการป้องกันที่มีประสิทธิภาพของทรัพยากรน้ำพรมแดนนั้นเป็นไปได้ เพียงแต่ รัฐที่อยู่บนลุ่มน้ำร่วมมือกัน ภายใต้หลักการที่เห็นพ้องร่วมกัน ทรัพยากรน้ำพรมแดนแสดงถึงโอกาสสำหรับ ความร่วมมือ มากกว่าเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งและข้อจำกัดการพัฒนา แม้กระนั้น ยังมีความหลากหลายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องเผชิญ ดังนั้น เพื่อรักษาประโยชน์ที่ยั่งยืนของทรัพยากรน้ำพรมแดนของประเทศในลุ่มน้ำ จึงต้องมีความพยายามร่วมกัน และต้องมีความเต็มใจที่จะร่วมมือกันในการพบปะหารือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันและความเข้าใจระหว่างรัฐในลุ่มน้ำนั้น รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายยังเป็นสิ่งจำเป็น และกรอบดำเนินการระดับองค์กรที่เกี่ยวข้อง

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มดำเนินการ หรือวางแผนไว้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ซึ่งเน้นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคระยะยาว รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำด้วย ขณะที่แม่น้ำไหลตามพรมแดนเพื่อเป็นทรัพยากรสำหรับสาธารณูปโภค น้ำจะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงจะต้องมีความร่วมมือที่แนบแน่นระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ไทยจะต้องเผชิญปัญหาสถานการณ์การเมืองในประเทศ และปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่การบริหารจัดการทรัพยากรข้ามพรมแดนยังเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลไทย และต้องเป็นแผนงานที่ทำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ในการแก้ไขปัญหาการมีน้ำจืดอย่างจำกัดนั้นจะต้องมีการร่วมมือกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้แนวทางที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ดังนั้นการใช้น้ำของประเทศริมชายฝั่งจะต้องมีการดูแลเพื่อไม่ให้กระทบกับประเทศอื่นๆ ที่ต้องใช้ลำน้ำเส้นเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่านโยบายและการจัดการน้ำนอกจากจะเกี่ยวโยงกับภาคเศรษฐกิจและสังคมแล้วยังต้องคำนึงถึงผลกระทบระหว่างพรมแดนด้วย

โดยที่ผู้กำหนดนโยบายจะต้องดำเนินนโยบายและวิธีการจัดการน้ำโดยอยู่บนพื้นฐานของสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดการทรัพยากรน้ำพรมแดนที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้นการจัดการทรัพยากรน้ำให้ประสบความสำเร็จนั้น จะต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกฝ่ายและการร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของประเทศริมชายฝั่ง นอกจากนี้จะต้องไม่มองข้ามความสำคัญของการริเริ่มและค้นคว้าซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ประเทศกำลังพัฒนาต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตการเงิน ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำจึงควรนำภูมิปัญญาชาวบ้าน และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้แทนที่จะเป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีราคาสูง

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ตนหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสและแนวทางในการจัดการทรัพยากรน้ำจืด และในนามของรัฐบาลไทย นายกรัฐมนตรีมีความยินดี และแสดงความขอบคุณต่อองค์การสิ่งแวดล้อมโลก (UNEP) ที่ช่วยให้การสนับสนุน และอวยพรให้การประชุมในครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี








กำลังโหลดความคิดเห็น