xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติออกบอนด์ 5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – แบงก์ชาติจ่อออกพันธบัตรออมทรัพย์ 5 หมื่นล้านบาท บริหารความเสี่ยงตราสารระยะสั้น เตรียมเรียกแบงก์พาณิชย์เซ็นต์ตัวแทนจำหน่าย 20 ส.ค.นี้ ส่วนคลังรายงาน ครม.แผนลงทุนไทยเข้มแข็ง 400 โครงการมูลค่า 2 แสนล้านบาทวันนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เข้ามาหารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับแนวทางการออกพันธบัตรออมทรัพย์ โดยคาดว่าจะออกในวงเงินมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท เพื่อลดการบริหารความเสี่ยงในการออกพันธบัตรอายุสั้นให้มีระยะเวลายาวมากขึ้น โดยจะออกเป็นพันธบัตรอายุ 5-7 ปี หรือหลายช่วงอายุในช่วงต้นเดือนก.ย.นี้

รายงานข่าวแจ้งว่า ธปท.ได้นัดผู้บริหารธนาคารพาณิชย์เพื่อลงนามความร่วมมือเพื่อเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายพันธบัตรในช่วงสัปดาห์นี้หรือประมาณวันที่ 20 ส.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.วันนี้ (18ส.ค.) กระทรวงการคลัง จะเสนอให้ ครม.รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลงทุน ตามโครงการไทยเข้มแข็งปี 2553-55 โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 400 โครงการที่ เสนอของบประมาณมาแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท

ก่อนหน้านั้นรัฐบาล มีแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นโครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) ระยะ 3 ปี ช่วง 2553-2555 วงเงินรวม 1.43 ล้านล้านบาท กล่าวเฉพาะโครงการที่ต้องลงทุนระยะที่ 1 ในปี 2552 บางส่วนต่อเนื่องถึงปี 2553 นั้น มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 342,160 ล้านบาท มาจากเงินงบประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท รายได้ของรัฐวิสาหกิจ 64 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศตามกฎหมายปกติประมาณ 3,000 ล้านบาท และเงินกู้ต่างประเทศ ตามกฎหมายปกติ 2,771 ล้านบาท ส่วนเงินก้อนใหญ่จะมาจากเงินกู้ตามกฎหมายพิเศษหรือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท อีกจำนวน 289,070 ล้านบาท

ทั้งนี้ แผนการลงทุน 3 ปี มีโครงการใช้เงินกว่า 6 พันโครงการนั้น เฉพาะปีแรก มีโครงการที่ขอใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินนับพันโครงการ โดยที่รัฐบาลระบุว่า ต้องเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันทีในปี 2553 แต่ที่น่าสังเกตว่า มีโครงการถูกบรรจุในโครงการประเภทที่ 1 หมายถึง โครงการที่สามารถดำเนินการได้บางส่วนได้ปี 2552 และพร้อมจะดำเนินการได้ในปี 2553 ใน 12 สาขา วงเงิน 231,311 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 57,759 ล้านบาทนั้น ถูกบรรจุอยู่ในโครงการประเภทที่ 2 หรือกลุ่มที่พร้อมดำเนินการได้ในปี 2553 แต่ยังมีปัญหาที่อาจทำให้ไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2553 ซึ่งมีกระจายอยู่ใน 11 สาขา ยกเว้นแผนการเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐวงเงิน 14,500 ล้านบาทเท่านั้น

ขณะที่โครงการด้านสาขาทรัพยากรน้ำ และการเกษตรที่ดำเนินการได้ทันทีนั้น ได้รับจัดสรรเงินถึง 62,422 ล้านบาท โดย 3 อันดับแรก เป็นงบฯที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน เกือบ 5 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ชลประทานเดิมทั่วประเทศ และจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ ส่วนโครงการที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดำเนินการได้จริง (ประเภทที่ 2) มีการจัดสรรเงินไว้แล้ว 4,916 ล้านบาท รวมโครงการ 2 ประเภทได้รับงบฯสูงถึง 67,113 ล้านบาท

สำหรับสาขาขนส่ง ได้รับการจัดสรร 47,874 ล้านบาท แยกเป็นระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง สีเขียวอ่อน เขียวเข้ม และสายสีน้ำเงิน ซึ่งอยู่ในความดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย วงเงิน 4,842 ล้านบาท ขนส่งทางรางโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยวงเงิน 2,455 ล้านบาท ขนส่งทางรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบ 10 โครงการวงเงิน 39,819 ล้านบาท เช่น โครงการถนนไร้ฝุ่น ,แก้ไขปัญหาจราจรใน กทม.และปริมณฑล ,ปรับปรุงสะพานทั่วประเทศ ,ติดตั้งไฟฟ้า ,ป้ายจราจรและไฟสัญญาณจราจร ส่วนขนส่งทางอากาศ ได้รับจัดสรรเงิน 758 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา หากรวมกับโครงการประเภทที่ 2 ในทุกระบบขนส่งจะมีวงเงินกันไว้อีก 17,656 ล้านบาท จะทำให้สาขาขนส่งได้ รับจัดสรรเงินถึง 65,530 ล้านบาท ซึ่งโครงการที่ยังไม่พร้อมแต่ถูกบรรจุในโปรแกรมใช้เงินไว้แล้ว เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีน้ำตาล และสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เป็นต้น

ส่วนสาขาการศึกษาได้รับจัดสรรเงินรวม 53,270 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ดำเนินการได้ทันปี 2553 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สาขาสาธารณสุขได้รับจัดสรรวงเงินรวม 32,325 ล้านบาท มีโครงการประเภทที่ 2 เพียง 549 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข สุดท้ายโครงการสาขาลงทุนระดับชุมชน โครงการประเภท 1 วงเงิน 16,838 ล้านบาท เน้นพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 175 โครงการและโครงการต้นกล้าอาชีพ ส่วนโครงการประเภท 2 วงเงิน 19,783 ล้านบาท มี 212 โครงการป็นของพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 4,859 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการใช้เงินในแผนพัฒนา 76 จังหวัด รวมเป็นเงิน 36,621 ล้านบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น