xs
xsm
sm
md
lg

ถ่ายทอดประชุมสภา ต้องเน้นสาระ-ยกมาตรฐาน !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในที่สุดฝ่ายรัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิป) ไฟเขียวให้มีการถ่ายทอดทางวิทยุโทรทัศน์เกี่ยวกับการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณา ร่างพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวม 8 แสนล้านบาท รวมไปถึง ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 อีกจำนวน 1.7 ล้านล้านบาท

เป็นการประชุมรวดเดียวตลอดทั้งสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่า โดยเฉพาะร่างพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติการกู้เงินดังกล่าว ไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติ จึงยอมอนุญาตให้ถ่ายทอดเฉพาะเสียงทางวิทยุเท่านั้น

อย่างไรก็ดีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ขอชื่นชมฝ่ายรัฐบาลที่ใจกว้าง และมองเห็นถึงความสำคัญในการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบฝ่ายบริหาร

นอกเหนือจากนี้ร่างกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน เพราะมีความผูกพันถึงอนาคต ต่อการเป็นหนี้เป็นสินของคนทั้งประเทศ เพราะชื่อกฎหมายก็บอกชัดอยู่แล้ว ร่างพระราชกำหนดและร่างพระราชบัญญัติการกู้เงินรวมกันแล้วเป็นจำนวนถึง 8 แสนล้านบาท

ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมีความรอบคอบ ต้องมีการอภิปรายอย่างมีสาระ มีเหตุมีผล ชี้ให้เห็นถึงผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน

เพราะที่ผ่านมามีเสียงวิจารณ์ และตำหนิติติงแผนการณ์ของรัฐบาลที่ “หมกเม็ด” ใช้วิธีออกเป็นพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติ “กู้เงิน” มาใช้ในหลายโครงการที่เรียกไว้สวยหรูว่า “ไทยเข้มแข็ง” ดำเนินการตั้งแต่ปี 2552-2555 มีลักษณะเป็นการใช้เงินนอก “งบประมาณ” ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐสภาหรือไม่ และสุ่มเสี่ยงต่อวินัยการเงิน การคลังหรือไม่

เพราะหลายโครงการที่มีจำนวนเงินมหาศาลแทนที่จะบรรจุเอาไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณในปี 2553 ก็กลับไม่ดำเนินการ มิหนำซ้ำยังลดวงเงินงบประมาณลงมา 2 แสนล้านบาท แล้วนำไปโปะในวงเงินสำหรับการกู้เงินดังกล่าวข้างต้น ซึ่งถือว่าเป็นการจัดทำงบประมาณแบบ “แหวกแนว” เป็นปีแรก

ขณะเดียวกันเมื่อมาพิจารณาโครงการ ไทยเข้มแข็งที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2552 ถือว่าแต่ละโครงการมีเม็ดเงินจำนวนมาก ก็ถูกวิจารณ์ว่านำไปแจกจ่ายกันในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล เพราะถ้าไล่ไปแต่ละโปรเจ็กต์ เช่น ขนส่ง ซึ่งมีทั้งงานบำรุงรักษาทางหลวง ถนนไร้ฝุ่น รถไฟฟ้า มีจำนวนถึง 40 เปอร์ซ็นต์ วงเงิน 335,900 ล้านบาท

โครงการบริหารจัดการน้ำ 17 เปอร์เซ็นต์ เช่น โครงการชลประทานขนาดใหญ่ โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำ วงเงิน 222,500 ล้านบาท นอกนั้นก็เป็น โครงการที่เกี่ยวกับการศึกษา 10 เปอร์เซ็นต์ วงเงิน 128,600 ล้านบาท สาธารณสุข 7 เปอร์เซ็นต์ วงเงิน 98,200 ล้านบาท เป็นต้น

หากมองในเรื่องของตัวเลขก็จะเห็นได้ทันทีว่ากระจายแบ่งกันไปตามกระทรวงสำคัญต่างๆ เช่น มหาดไทย คมนาคม ศึกษาธิการ สาธารณสุข และเกษตรฯ แบ่งกันไประหว่างพรรค ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และ ชาติไทยพัฒนา ลดหลั่นกันไป

นั่นเป็นเรื่องของตัวเงินที่จะต้องมีการซักไซ้ไล่เรียงกันให้ละเอียด ซึ่งถือว่าบทบาทของ สมาชิกรัฐสภาจะต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งและตรงไปตรงมา

เมื่อรัฐบาลเปิดโอกาสให้มีการถ่ายทอดสดทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสมาชิกสภาจะได้ทำหน้าที่ซักถาม ชี้แจง ขณะเดียวกันประชาชนจะได้ประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูล ได้ชั่งน้ำหนัก เพราะเกี่ยวพันกับพวกเขาโดยตรง ทั้งในปัจจุบันและยังผูกพันไปถึงอนาคต

อย่างไรก็ดีหากย้อนกลับไปดูผลงานของ สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะฝ่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ถือว่าทำหน้าที่ได้อย่างน่าผิดหวัง และบางครั้งยังมีพฤติกรรมน่า “สะอิดสะเอียน” และทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดการประชุม บรรดา ส.ส.ประเภทนี้ก็จะฉวยโอกาสใช้เวทีสภาหาเสียง หรือไม่ก็ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงชื่นชม “นักโทษหนีคดี” อย่าง นช.ทักษิณ ชินวัตร อย่างหน้าตาเฉย

และเชื่อว่าในการอภิปรายคราวนี้จะต้องมี ส.ส.ที่มีพฤติกรรมน่า “ทุเรศ” แบบนี้อยู่อีกอย่างแน่นอน แทนที่จะมุ่งเน้นอภิปรายในเนื้อหาสาระ ชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสียของการจัดทำงบประมาณในลักษณะที่ออกเป็นพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติกู้เงินเป็นหลัก

ดังนั้นหวังว่าในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญคราวนี้คงจะไม่มีพฤติกรรมอันน่ารังเกียจดังกล่าว และสมควรที่สมาชิกเหล่านั้นจะพัฒนาตัวเอง สร้างมาตรฐานใหม่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความศรัทธา ไม่เช่นนั้นนอกจากไม่เกิดประโยชน์อันใดแล้ว ยังต้องมาเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เปลืองค่าน้ำ ค่าไฟ เพิ่มภาระให้กับชาวบ้านเสียอีก !!

กำลังโหลดความคิดเห็น