xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าไทยเข้มแข็งปีแรก3.4แสนล. พบ5.7หมื่นล."โครงการยังมืด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผ่าแผนใช้เงินโครงการไทยเข้มแข็งปีแรกใช้เงินกว่า 3.4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ 2.89 แสนล้านบาทหวังพึ่งใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้ฉุกเฉิน จับตาโครงการที่ไม่มีความพร้อมแต่ถูกใส่ในแผนใช้เงินกว่า 5.7 หมื่นล้าน ขณะที่โครงการด้านพัฒนาแหล่งน้ำแชมป์ใช้เงิน 6.7 หมื่นล้าน กรมชลประทานได้งบสูงสุด ด้านขนส่งตามมา 6.5 หมื่นล้าน ขณะที่ด้านท่องเที่ยวได้งบจิ๊บจ้อยรวมกันแค่ 4 พันกว่าล้านบาท

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า แผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งเป็นโครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (SP2) ระยะ 3 ปี ในช่วงปี 2552-2555 วงเงินรวม 1.43 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลรับภาระการลงทุน วงเงิน 1,110,168 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมในทุกสาขาและโครงการที่รัฐวิสาหกิจรับภาระการลงทุนเอง ในโครงการสาขาพลังงาน การสื่อสาร ขนส่ง วงเงินรวม 321,162 ล้านบาท

สำหรับโครงการที่ต้องลงทุนระยะที่ 1 ในปี 2552 บางส่วนต่อเนื่องถึงปี 2553 นั้นมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 342,160 ล้านบาท โดยมาจากเงินงบประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท รายได้ของรัฐวิสาหกิจ 64 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศตามกฎหมายปกติ 3 พันกว่าล้านบาทและเงินกู้ต่างประเทศตามกฎหมายปกติ 2,771 ล้านบาท ส่วนเงินก้อนใหญ่อีกจำนวน 289,070 ล้านบาท มาจากเงินกู้ตามกฎหมายพิเศษหรือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท

ในแผนการลงทุน 3 ปี ซึ่งมีโครงการใช้เงินกว่า 6 พันโครงการนั้น เฉพาะปีแรกมีโครงการที่ขอใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.นับพันโครงการ แต่ที่น่าสังเกตคือในการเสนอโครงการขอใช้เงินซึ่งรัฐบาลระบุว่าต้องเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันทีในปี 2553 นั้น กลับพบว่ามีโครงการที่ถูกบรรจุในโครงการประเภทที่ 1 หมายถึงโครงการที่สามารถดำเนินการได้บางส่วนได้ปีนี้และพร้อมจะดำเนินการได้ในปี 2553 ใน 12 สาขาวงเงิน 231 ,311 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ อีก 57,759 ล้านบาท นั้น ถูกบรรจุอยู่ในโครงการประเภทที่ 2 หรือ กลุ่มที่มีความพร้อมดำเนินการได้ในปี 2553 แต่ยังมีประเด็นปัญหาด้านความพร้อมและสถานะโครงการที่อาจทำให้ไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2553 ซึ่งมีกระจายอยู่ใน 11 สาขา ยกเว้นแผนการเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐวงเงิน 14,500 ล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายละเอียดของโครงการใช้เงินในปีแรก พบว่า โครงการด้านสาขาทรัพยากรน้ำและการเกษตรที่ดำเนินการได้ทันทีนั้นได้รับจัดสรรเงินถึง 62,422 ล้านบาท นั้นพบว่า 3 อันดับแรกเป็นงบที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน เกือบ 5 หมื่นล้านบาทเช่น โครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานเดิมทั่วประเทศ และจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ ส่วนโครงการที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดำเนินการได้จริง (ประเภทที่ 2 ) มีการจัดสรรเงินไว้แล้ว 4,916 ล้านบาทรวมโครงการ 2 ประเภทไดรับงบสูงถึง 67,113 ล้านบาท

สาขาขนส่งได้รับการจัดสรรเงินรวม 47,874 ล้านบาท แยกเป็นระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง สีเขียวอ่อน เขียวเข้ม และสายสีน้ำเงิน ซึ่งอยู่ในความดูแลของรฟม. วงเงิน 4,842 ล้านบาท ขนส่งทางรางโดยรฟท. วงเงิน 2,455 ล้านบาท ขนส่งทางถนนมีกรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบ 10 โครงการวงเงิน 39,819 ล้านบาท เช่น โครงการถนนไร้ฝุ่น แก้ไขปัญหาจราจรใน กทม.และปริมณฑล ปรับปรุงสะพานทั่วประเทศ ติดตั้งไฟฟ้า ป้ายจราจรและไฟสัญญาณจราจร

ขนส่งทางอากาศ ได้รับจัดสรรเงิน 758 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา หากรวมกับโครงการประเภทที่ 2 ในทุกระบบขนส่งจะมีวงเงินกันไว้อีก 17,656 ล้านบาท จะทำให้สาขาขนส่งได้รับจัดสรรเงินถึง 65,530 ล้านบาท ซึ่งโครงการที่ยังไม่พร้อมแต่ถูกบรรจุในโปรแกรมใช้เงินไว้แล้วเช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีน้ำตาลและสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เป็นต้น

แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ได้รับจัดสรรเงิน 1,159 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการในความรับผิดชอบของการประปาภูมิภาค (กปภ.) ส่วนสาขาการศึกษาได้รับจัดสรรเงินรวม 53,270 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ดำเนินการได้ทันปี 2553 ของกระทรวงศึกษาธิการ ยกเว้นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพของส่วนราชการกระทรวงศึกษาในการจัดหาครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างที่ถูกนำมาบรรจุในโครงการประเภทที่ 2 วงเงิน 9,346 ล้านบาท สาขาสาธารณสุข ได้รับจัดสรรวงเงินรวม 32,325 ล้านบาท มีโครงการประเภทที่ 2 เพียง 549 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข มีกระทรวงศึกษาธิการร่วมด้วยประมาณ 1.8 พันล้านบาท และกลาโหมอีกเล็กน้อย 890 ล้านบาท

สาขาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสวัสดิภาพของประชาชน รวมได้รับเงิน 4,825 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม เช่น โครงการสร้างที่พักข้าราชการกลาโหม รวมถึงการก่อสร้างที่พักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 163 แห่งทั่วประเทศ ส่วนส่วนสาขาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ได้รับจัดสรร 3,563 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลของสวทช. สวทน.และสมอ. สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับจัดสรรเงิน 2,108 ล้านบาท เช่นโครงการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ส่งเสริมการปลูกป่าของกรมป่าไม้ เป็นต้น

ขณะที่สาขาการเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไดรับงบ 3,179 ล้านบาท มี 25 โครงการ ส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของ สสปน. สำหรับจัดงานต่างๆ ในการดึงดูดการท่องเที่ยวและโครงการพัฒนาปรับปรุงแหล่งเท่องเที่ยว โดยกองอาสารักษาดินแดน(อส.) ส่วนแผนงานพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้รับจัดสรรงบ 4,873 ล้านบาท กระจายในโครงการหลากหลายทั้งพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้านต่อยอดธุรกิจเอสเอ็มอี พัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ อนุรักษ์พื้นฟูมรดกโลกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างตราสินค้า เป็นต้น

สุดท้ายโครงการสาขาลงทุนระดับชุมชน โครงการประเภท 1 วงเงิน 16,838 ล้านบาท เน้นพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 175 โครงการและโครงการต้นกล้าอาชีพ ส่วนโครงการประเภท 2 วงเงิน 19,783 ล้านบาท มี 212 โครงการเป็นของพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 4,859 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการใช้เงินในแผนพัฒนา 76 จังหวัด รวมเป็นเงิน 36,621 ล้านบาท

ส่วนแผนการเพิ่มทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ วงเงิน 14,500 ล้านบาทนั้น อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังสำหรับการเพิ่มทุนของสถาบันการเงิน 5 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อให้สถาบันการเงินดังกล่าวมีความเข้มแข็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น