นับตั้งแต่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่มีนพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดสธ.เป็นประธาน ที่ใช้เวลาตรวจสอบนานกว่า 2 เดือน ออกมาแถลงข่าวผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 28 ต.ค.52 กระทั่งมี 2 รัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งคือนายวิทยา แก้วภราดัยและนายมานิต นพอมรบดี หลายคนคาดว่า สถานการณ์น่าจะเงียบสงบและนำไปสู่การสะสางปัญหาเพื่อเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ที่ถูกกล่าวหา
แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก สถานการณ์ก็ถูกขยายผลจนลุกลามใหญ่โต เมื่อฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำกลับฮึดขึ้นสู้ ประหนึ่งเสมือนเพิ่งนึกขึ้นมาได้ว่า ถ้าหากปล่อยให้ตกอยู่ในสภาพนี้ต่อไป กลุ่มก๊วนของตนเองจะไม่สามารถมีที่ยืนอยู่ในสธ.ได้ บรรดาแพทย์ พยาบาล ที่ตกเป็นจำเลยจากผลกรตรวจสอบครั้งนี้ ก็ทยอยออกมาให้ข้อมูลโจมตีการทำงานของคณะกรรมการฯ ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องและพิรุธต่างๆ ทั้งการไม่เชื่อถือผลการตรวจสอบ ความไม่เป็นธรรม กระทั่งมีการระดมทุนเพื่อซื้อสื่อโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายวันติดต่อกัน
ด้วยเหตุดังกล่าว ภาพที่สังคมเห็นอยู่ในขณะนี้ก็คือ กระทรวงสาธารณสุขกำลังแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมี “นพ.วิชัย โชควิวัฒน” เลขานุการและคระกรรมการตรวจสอบฯ เป็นหัวขบวน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมี “นพ.เรวัต วิศรุตเวช” อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นหัวขบวน
ปัญหาก็คือ การต่อสู้ในครั้งนี้ดูเหมือนว่า ฝ่ายนพ.เรวัตกำลังตีตื้นขึ้นมาได้ จนทำให้หลายคนกำลังงุนงงว่า ใครกันแน่ถูกและใครกันแน่ผิด
ทว่า เรื่องนี้ มีเบื้องหน้าเบื้องหลังไม่ธรรมดาทีเดียว และเป็นศึกที่ต้องบอกว่าความสำคัญยิ่ง และจะต้องจับตาให้ดี เพราะเดิมพันครั้งนี้สูงเกินกว่าที่หลายคนคาดคิดไว้ มิฉะนั้นแล้ว นพ.เรวัตจะไม่เทหมดหน้าตักและอาสาออกหน้าเพื่อการณ์นี้อย่างแน่นอน
นพ.เรวัตเริ่มต้นด้วยการเปิดประเด็นเครื่องมือแพทย์ของกรมการแพทย์ที่ยืนยันว่าจำเป็นต่อผู้ป่วย รวมทั้งการขยายประเด็นเรื่องเบื้องหลังการเข้ามาแย่งชิงอำนาจในสธ.ของกลุ่มแพทย์ชนบท หลังทำสำเร็จแล้วในองค์กรตระกูล ส. รวมทั้งการใช้จุดอ่อน โดยยกกรณีคนยากจน ดึงมวลชนเข้ามาเป็นพวก ถือว่าได้ผลอย่างงดงาม เพราะยิ่งนานวันสังคมเริ่มเคลือบแคลงความโปร่งใสของคณะกรรมการฯ ว่ามีการ “ตั้งเป้า” มาตั้งแต่ต้นจริงตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ แม้ว่าความเป็นจริง คณะกรรมการฯ ทั้งหมด จำนวน 9 คน ที่ในจำนวนนี้ นอกจากจะมีกลุ่มแพทย์ชนบท ที่นพ.บรรลุ เป็นผู้คัดเลือกเสนอให้นายกฯ แต่งตั้งแล้ว ยังมีพล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตมือปราบฝีมือดี เข้ามาถ่วงดุล และคงไม่มีใครสามารบังคับ ให้คณะกรรมการฯ เห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันหมดได้ เพราะเมื่อเกิดอะไรขึ้นทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน
จากนั้น แพทย์ที่ตกอยู่ในหัวอกเดียวกันก็เคลื่อนทัพออกมาเป็นระลอก เช่น นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ออกมาระบุว่า กรรมการดูตัวเลขผิดพลาด ทำให้ราคาตารางเมตรต่อพื้นที่ของ อาคารผู้ป่วยนอก หออภิบาลและสำนักงาน 16 ชั้นโรงพยาบาลนพรัตน์ฯ สูงเกินจริง 3,000 บาท ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการฯ ลดลง
หรือ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล แพทย์ประจำโรงพยาบาลราชวิถี และผู้ประสานงานคณะแพทย์และบุคคลเพื่อความถูกต้องกรณีกล่าวหากระทรวงสาธารณสุขทุจริตงบไทยเข้มแข็ง รวมทั้งนพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผอ.สถาบันมะเร็งแห?งชาติ เป็นต้น
เท่านั้น ไม่พอ คณะกรรมการฯ ยังถูกพ่วงข้อกล่าวหาว่า “สุดโต่ง” จากกรณีที่ผลสอบชี้มูลว่า นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดสธ.บกพร่องต่อหน้าที่ โดยไม่มีหลักฐานเจตนาทุจริต ซึ่งอันที่จริงนพ.ไพจิตร์ แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการไทยเข้มแข็ง แต่ก็ถูกหางเลขไปด้วย
ทั้งนี้ นพ.วิชัยยืนยันว่า คณะกรรมการฯ ทำงานโดยยึดพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่เป็นหลักในการบริหารประเทศ 6 ข้อ ซึ่งการทุจริต คอรัปชั่นเป็น 1 ในนั้น แต่หากมุ่งประเด็นการทุจริตเรื่องเดียวประเทศไปไม่รอดแน่จะต้องมีหลายส่วนประกอบกัน เพื่อให้การบริหารงบประมาณเกิดประโยชน์และมีประสิทธิ์ภาพสูงที่สุด
“รู้ตั้งแต่ก่อนที่จะมารับหน้าที่ว่าต้องเจ็บตัวได้ทั้งดอกไม้ละก้อนหินแต่ผมไม่ได้อาสาเข้ามาเป็นกรรมการตรวจสอบฯ เอง แต่นพ.บรรลุ ได้มาทาบทามตนให้มาช่วยทำงาน เมื่อตอบรับแล้วก็มีทางเลือกอยู่ 2 ทางเท่านั้น คือ 1.สอบแล้ว ไม่พบอะไรเลย ซึ่งผมทำไม่ได้ กับ2.สอบแล้ว ผลออกมาอย่างไรก็ว่ากันตรงไป ตรงมา”
ที่สำคัญคือ หากได้อ่านผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการฯ จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการฯ มีวัตถุประสงค์ให้มีการทบทวนรายการก่อสร้างและการจัดซื้อครุภัณฑ์ในโครงการไทยเข้มแข็งใหม่ และไม่ได้เพียงชี้มูลความผิดที่เกี่ยวข้องกับกรณีการทุจริตเท่านั้น แต่สรุปว่า มีผู้ที่บกพร่องต่อหน้าที่ และมีพฤติกรรมส่อเจตนาไม่สุจริต ซึ่งอาจจะเปิดช่องให้มีการทุจริตได้ ที่สำคัญคณะกรรมการฯ มองในภาพรวมของนโยบายและยุทธศาสตร์ในการบริการจัดงานงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ
แต่นั่นก็เป็นเหตุทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการกระทำที่เข้าข่าย “เกินขอบเขตหน้าที่” โดยเฉพาะกรณีที่สรุปว่า การจัดสรรงบประมาณกระจุกตัว ไม่เหมาะสม รวมถึงการชี้มูลความผิดกรณีนพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 6 จัดซื้อรถโฟล์คสวาเกนและการซื้อเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตร้าไวโอเลตระบบปิด(ยูวีแฟน) โดยไม่เกี่ยวกับงบฯ ในโครงการไทยเข้มแข็ง แต่มีการนำมาเชื่อมโยงกัน ในที่สุดจึงเกิดคดีฟ้องร้องขึ้น โดยนพ.จักรกฤษณ์ วัสดิ แจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการฯ ทุกคน ยกเว้น พล.ต.อ.ประทิน ข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้เสียชื่อเสียง ที่ จ.นครศรีธรรมราช
ทว่า ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ หากจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ไม่มีใครเปิดโปง หรือ ตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งเลย การวางแผนเตรียมการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง อาจดำเนินไปอย่างเงียบๆ คอรัปชั่นจนสำเร็จโดยไม่มีใครล่วงรู้ก็เป็นได้
ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การเคลื่อนไหวชนิดเปิดหน้าชกของนพ.เรวัตแม้จะทำให้สังคมเริ่มคล้อยตามได้บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่ผลสะท้อนกลับสู่กลุ่มของนพ.เรวัตก็รุนแรงและหนักหน่วงไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการที่ไม่อาจสลัดข้อสงสัยได้ว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่จวนตัวและกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มก๊วนตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้ทำอะไรเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน การออกมาเคลื่อนไหวแบบยอมเสี่ยงของนพ.เรวัต ก็นำไปสู่การขุดคุ้ยเบื้องหน้าเบื้องหลังของนพ.เรวัตอย่างละเอียดยิบ เพราะต้องไม่ลืมว่า เส้นทางชีวิตของนพ.เรวัตก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน ผู้คนที่ไม่เคยรับรู้อาจจะต้องย้อนความหลังกันว่า ในอดีตนั้น นพ.เรวัต มีความใกล้ชิดกับนายมนตรี พงษ์พานิช และมิอาจปฏิเสธได้ว่า มีความใกล้ชิดกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หัวขบวนของพรรคภูมิใจไทยที่ส่งนายมานิต นพอมรบดีเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และส่งนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ น้องสาวเข้ามาสืบทอดอำนาจ
ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้การเคลื่อนไหวของ นพ.เรวัตมิอาจสลัดภาพความสัมพันธ์ที่มีต่อกลุ่มการเมืองได้ กระทั่งถูกมองว่า หมากเกมนี้กำลังถูกเบี่ยงประเด็นจากการทุจริตเป็นเรื่องผลประโยชน์และความขัดแย้งในกลุ่มแพทย์ด้วยกันเอง
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เรามิอาจปฏิเสธได้ว่า เวลานี้กระทรวงหมอได้แตกเป็นเสี่ยงๆ จนยากที่จะเยียวยาให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป