รายงานพิเศษ
โดย....แสงตะวัน
การออกมารับหน้าเสื่อเป็นแกนหลักกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลของบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาตัวจริง ในการเดินเกมกดดัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ หลังที่สภาผู้แทนราษฏรเปิดสมัยประชุมไปแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม 2553
ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอน ที่มังกรเติ้งลงมาเล่นบทผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลในการเคลื่อนไหวแก้ไข รธน. เสียเอง
แม้บรรหารจะมากด้วยบารมีการเมืองมากที่สุดในบรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอันประกอบด้วย ชาติไทยพัฒนา-ภูมิใจไทย-เพื่อแผ่นดิน-รวมใจไทยชาติพัฒนา-กิจสังคม แต่การขยับแบบโอเวอร์แอคชั่นของบรรหาร ย่อมทำให้ผู้คนคิดว่า
ต้องมีเป้าหมายการเมืองอื่นซ่อนอยู่ข้างหลังด้วยแน่ นอกเหนือคำประกาศล่าชื่อส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเดินหน้าชำเรารธน. 2 มาตรา คือ
มาตรา 190 ในเรื่องการทำข้อตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยจะมีการแก้ไขเพื่อไม่ให้ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาโดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ฝ่ายบริหารเกิดความคล่องตัวในการทำงาน
และเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากปัจจุบันที่เป็นเขตใหญ่หรือรวมเขต ไปเป็นแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ เขตเดียวเบอร์เดียว หรือวันแมนวันโหวต ซึ่งจะทำให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็คือพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดในเวลานี้มีโอกาสในการแข่งขัน หากมีการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้น มากกว่าระบบปัจจุบันที่ทำให้พรรคขนาดใหญ่ได้เปรียบ
บรรหาร ที่ผ่านสนามเลือกตั้งมาโชกโชน รู้ดีว่าสนามเลือกตั้งครั้งหน้า สองพรรคใหญ่ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” จะแข่งขันกันดุเดือดยิ่ง
ดังนั้นหากปล่อยให้ระบบเลือกตั้งเป็นแบบเขตใหญ่ ต่อให้ฐานที่มั่นของชาติไทยพัฒนา ในภาคกลางอย่างเช่น สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี อุทัยธานี ก็มีสิทธิ์ทัพแตก
จนชาติไทยพัฒนาแปรสภาพจากพรรคขนาดกลางรอเสียบทุกขั้ว กลายมาเป็นพรรคเล็ก
อันเห็นได้จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งพรรคชาติไทยต้องเสียพื้นที่ไปอย่างพลิกความคาดหมาย ไม่ว่าจะเป็น ชัยนาท นครปฐม นครนายก เป็นต้น
กอปรกับชาติไทยพัฒนาก็เป็นพรรคที่ไม่มีจุดขายทางการเมืองอะไร นอกจากอาศัยฐานเสียงผู้สมัครตัวแข็งๆ ที่ต้องช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก จะมาหวังพึ่งกระแสพรรคให้ชนะการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ชาติไทยพัฒนาไม่มีในสิ่งนี้
และคนอย่าง “เติ้ง” ย่อมรู้ดีว่า เขาจะฝากความหวังให้กับน้องชาย ชุมพล ศิลปอาชา นำทัพ ชทพ. สู้ศึกเลือกตั้งก็คงฝากผีฝากไข้ไม่ได้ เพราะลำพังต่อให้ลงสมัคร ส.ส.สุพรรณบุรีหากไม่มีบารมีพี่ชายคุ้มหัวเอาไว้ “น้องเบี้ยว” ก็เอาตัวไม่รอดเหมือนกัน
จึงทำให้บรรหารต้องดิ้นรนมากกว่าแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอื่นอย่างเห็นได้ชัดในการเดินหน้ารวบรวมเสียง ส.ส.รัฐบาล 102 เสียง เพื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติม รธน.
เนื่องเพราะบรรหารตระหนักดีว่า หากไม่ขยับอะไร ชาติไทยพัฒนาวันข้างหน้าต้องเป็นพรรคเล็ก อันทำให้อำนาจการต่อรองทางการเมืองของบรรหาร โดยเฉพาะในการไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคแกนนำ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทยในอนาคตจะยิ่งอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ
ส่วนในทางการเมืองเฉพาะหน้า การออกมาเล่นบทผู้กับการแก้ไขรธน.ของบรรหาร มันก็คือการประกาศศักดาการเมืองให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ รวมถึงพลพรรคประชาธิปัตย์ได้เห็นว่า
“ห้าสั้น-เมืองสุพรรณฯ” คนนี้ ยังไม่หมดบารมีการเมือง
และเมื่อรุ่นใหญ่ลงมาเล่นเอง หากอภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์ ยังดื้อดึงจะปล่อยให้การแก้ไขรธน.ดำเนินไปแบบตามมีตามเกิด ทั้งในชั้นรัฐสภา และขั้นตอนการทำประชามติ โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของรัฐสภา แล้วไม่ยอมลงมากำกับส.ส.ปชป. ให้โหวตหนุนการแก้ไขรธน.โดยปล่อยให้เป็น “ฟรีโหวต” ซึ่งย่อมทำให้มีความเสี่ยงสูงที่การแก้ไขรธน.จะแท้งก่อนคลอด
หากปชป.ทำแบบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลที่จับมือกันแน่น ก็พร้อม“พยศ” การเมืองกันให้เห็น ไม่ใช่แค่ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะระเบิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น แต่หมายถึงว่า คลื่นใต้น้ำในพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมเกิดได้ทุกระลอก และทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะความต้องการที่จะข่มขวัญให้อภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์ รับรู้ว่า
พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดก็พร้อมสลัดการจับมือกับประชาธิปัตย์ ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้ทุกเมื่อ หากผลประโยชน์การเมืองลงตัว !
เพราะภาพที่บรรหาร นัดพบและเลี้ยงอาหารแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ไล่ตั้งแต่ภูมิใจไทย 20 ม.ค.53 ที่โรงแรมสยามซิตี้ ตามด้วย 21 ม.ค.53 พรรคเพื่อแผ่นดิน และ 25 ม.ค.53 พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา รวมถึงพรรคกิจสังคม คือการแสดงพลังทางการเมืองข่มขู่ปชป.
โดยที่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวมีการหารือกันเองบนโต๊ะอาหารตามโรงแรมต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข่าวในรอบปี 2552 มีเกือบนับสิบครั้ง และบางครั้งก็นำไปหารือกับอภิสิทธิ์ และสุเทพ ที่บ้านพิษณุโลกด้วยซ้ำ
ซึ่งเรื่องแบบนี้ คุยกันทางโทรศัพท์ไม่กี่นาทีก็จบ เพราะทุกพรรคก็เห็นดีเห็นชอบในการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับหากมีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง เพียงแต่เพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียด ก็เลยพ่วงมาตรา 190
แอบอ้างว่าทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติบังหน้า
จึงไม่มีความจำเป็นทางการเมืองใดๆ เลยที่ต้องจัดฉากนัดเลี้ยงอาหาร และเดินสายขอเสียงสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่เหตุที่บรรหาร ต้องเขียนบทให้ออกมาแบบนี้ ก็เพราะรู้ดีว่า หากไม่กระทุ้งหนักๆ ยากที่ปชป.จะร่วมมือการชำเรารธน.ให้ลุล่วง เพราะระบบเลือกตั้งพวงใหญ่ในปัจจุบัน ปชป.กุมความได้เปรียบเหนือพรรคการเมืองอื่น ยกเว้นก็แค่ เพื่อไทย
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง บรรหาร ก็กล่อมสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้จัดการรัฐบาลให้เห็นคล้อยตามว่า อย่างไรเสีย ปชป.ก็สู้เพื่อไทยไม่ได้ในอีสาน-เหนือ ดังนั้นโอกาสที่ปชป.จะแพ้เพื่อไทยและต้องกระเด็นไปเป็นฝ่ายค้าน ก็มีความเป็นไปได้มาก
ดังนั้นก็สู้มาร่วมหอลงโรง แก้รธน.ด้วยกัน เพื่อเปิดให้พรรคร่วมรัฐบาลได้มีลมหายใจ ไปต่อกรกับเพื่อไทยในพื้นที่ซึ่งพอมีลุ้นได้ จะได้แซะตัวเลขส.ส.เพื่อไทย ให้ลดลง แล้วมาเพิ่มในพรรคร่วมรัฐบาล จะได้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง มาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันอีกสมัย
อภิสิทธิ์ก็ได้เป็นนายกฯอีกหนึ่งสมัย ปชป. ก็เป็นแกนนำรัฐบาล แฮปปี้กันทุกฝ่าย แต่น่าแปลกที่ อภิสิทธิ์ และส.ส.ปชป.จำนวนมาก ล่าสุดเช็คเสียงกันแล้วพบว่าส่วนใหญ่ไม่คล้อยตามสิ่งที่บรรหาร พยายามดันทุรัง
และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ บรรหาร คงต้องกระทุ้ง อภิสิทธิ์-ปชป.ให้หนักขึ้น เพื่อให้ภารกิจ รักษาพรรคชาติไทยพัฒนา สมบัติการเมืองชิ้นสำคัญของตระกูล “ศิลปอาชา”