xs
xsm
sm
md
lg

ชทพ.ผนึกภท.หักปชป.ดันแก้ไขรธน.4มาตรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา แก้วภารดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล )กล่าวว่า วันที่ 20 ม.ค.ตน จะเข้าพบกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาเกี่ยวกับวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดแรก ที่จะเปิดวันที่ 21 ม.ค. ทั้งนี้ในการประชุมวิปรัฐบาลที่ทำเนียบฯ ที่ผ่านมายังไม่มีการหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอย่างเป็นทางการ แต่มอบหมายให้แต่ละพรรคการเมือง กลับไปถาม ความเห็นของสมาชิกพรรคก่อน เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จึงจะมาหารืออีกครั้ง โดยในส่วน ของพรรคประชาธิปัตย์จะมีการหารือเรื่องนี้ ในการสัมมนาพรรคประชาธิปัตย์ที่จังหวัดกระบี่ ระหว่าง วันที่ 23-24 ม.ค.นี้
นายวิทยา กล่าวว่า ที่พรรคชาติไทยพัฒนาไม่รอความชัดเจนจากพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค เร่งเดินเกม ขอเสียงสนับสนุน กดดัน ให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการนัดรับประทานอาหาร กับแกนนำพรรคภูมิใจไทย อาทิ นายเนวิน ชิดชอบ ในวันพุธที่ 20 ม.ค. เวลา 11.00 น. ที่โรงแรมสยามซิตี้ และใน วันพฤหัสบดี ที่ 21 ม.ค. นายบรรหาร จะหารือกับแกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธีนี เวลา 18.00 น. นอกจากนี้ นายบรรหาร ยังนัด รับประทานอาหารกับแกนนำพรรคกิจสังคม วันจันทร์ ที่ 25 ม.ค. ที่ โรงแรมปรินซ์เซส หลานหลวงเวลา 12.00 น.ด้วย
รายงานจากพรรคชาติไทยพัฒนาแจ้งว่า แกนนำพรรค มั่นใจว่า การเดินสาย ขอเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมือง ต่างๆ ครั้งนี้ จะทำให้ได้เสียงสนับสนุนในการ ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญครบ 1 ใน 5 หรือ 95 เสียง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 กำหนด โดยพรรคพร้อมจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม โดยจำนวน ส.ส ของแต่พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อแผ่นดิน 32 คน พรรคภูมิใจไทย 31คน พรรคชาติไทยพัฒนา 25 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 คน พรรคกิจสังคม 5 คน รวม 102 คน
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่าแกนนำพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา จะหารือกันที่โรงแรมสยามซิตี้ ในวันนี้ (20 ม.ค.) เพื่อประกาศจุดยืน 2 พรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสิ้น 3 ประเด็น 4 มาตรา ประกอบด้วย ม.94 เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง มาตรา 190 เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญาใดๆ กับต่างประเทศต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมสภา มาตรา 265 เกี่ยวกับการห้าม ส.ส.ดำรงตำแหน่งใน หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ และ มาตรา 266 ห้าม ส.ส.ใช้สถานะเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ซึ่งหากมีพรรคใดจะมาร่วมด้วย เราก็ยินดีให้ร่วม
การพูดคุยกันครั้งนี้ เป็นการจุดประกาย คือเป็นผู้ริเริ่มก่อน ไม่ใช่ผู้นำในการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการพูดคุย คาดหวังว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการระหว่าง 2 พรรค และจะเอารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาดูว่า จะแก้ไขข้อไหน อย่างไร เพื่อความสงบสุขของประชาชน และยึดเอาประเทศชาติเป็นหลัก
นายชวรัตน์ ย้ำว่า การประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการริเริ่มรอพรรคอื่นเข้าร่วมให้เสียงเพียงพอ เปรียบเหมือนก้อนหิมะที่เริ่มตกลงมาเป็นก้อนเล็ก หากกลิ้งบนหิมะไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นก้อนใหญ่
ส่วนที่ว่า จะมีการเร่งรัดพรรคประชาธิปัตย์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรนั้น เรารู้อยู่แล้วว่า เขาต่อต้านเรื่องนี้ไม่ได้ ซึ่งเขาคงต้องตาม และอาจไม่เห็นด้วยในบาง บรรทัด ยืนยันว่า ไม่เป็นการปลดล็อคให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ แต่เป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ประชาชน
ด้านนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมมีมติผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา คือ ม. 94 และ ม. 190 เพราะ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการแก้ไขครั้งนี้โดยตรงทำให้คนจนมีสิทธิ์ เข้ามาเป็น ส.ส.ได้บ้างโดยขณะนี้พรรคเพื่อแผ่นดินได้ทำการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราและ ลงชื่อไว้แล้วทั้งสองแบบ จำนวน 29 คน จากนี้ไปจะดำเนินการผลักดันกับพรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาต่อไป
ส่วนจะยื่นญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาฯได้เมื่อใดนั้น นายชาญชัย กล่าวว่า กำลังรอวัดใจพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมีการประชุมพรรคภายในสัปดาห์นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรครวบรวมรายชื่อได้ครบ 1 ใน 5 ของ ส.ส.ก็จะทำการยื่นต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯทันที
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวถึงกรณีที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เตรียมเดินสายล็อบบี้พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลร่วมกันผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่มีปัญหาอะไรครับ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของสภา โดยเฉพาะการแก้ในประเด็นที่ไม่เป็นมีข้อขัดแย้ง ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เราจะมีการสัมมนาพรรคในวันที่ 23-24 ม.ค.นี้ ที่ จ.กระบี่ เพื่อกำหนดแนวทาง ในเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วย ที่จะแก้ไขจะร่วมลงชื่อด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาๆ แต่ประเด็นเรื่องแก้ไขการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นยังมีความเห็นที่ไม่ตรงวกัน ซึ่งหลังการสัมมนาพรรคก็คงจะได้คำตอบและมีข้อยุติ เมื่อถามว่า ความเห็นของนายกฯ กับพรรคร่วมรัฐบาลไม่ตรงกันหลายครั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนก็มีความคิดเห็นของตน
ส่วนหากมติของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลจะทำให้การทำงานร่วมกันมีปัญหาหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลได้พูดคุยตรงกันแล้วว่า ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล การทำงานของรัฐบาลก็เรื่องหนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผมเพียงแต่บอกว่า ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญส่งผลกระทบในเชิงความขัดแย้งของบ้านเมือง อย่างนั้นรัฐบาลก็ต้องเข้าไปดูแล
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเมื่อประชุมสัมมนาพรรคจนได้ข้อสรุปแล้วก็จะนัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลพูดคุย ความจริงตั้งใจว่าอยากจะคุยกันก่อนประชุมสภาฯ ตอนแรกเข้าใจว่าวันที่ 21 ม.ค.ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะไม่นัดประชุมสภาฯ แต่เมื่อประธานสภาฯนัดประชุม ก็คงต้องไปคุยกันก่อนวันที่ 28 ม.ค.
ส่วนที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามตินั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันเป็นคนละเรื่องกัน กรุณาลำดับเรื่องที่ตนพูดให้ตรง เดี๋ยวจะไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าเปลี่ยน มันไม่มีเปลี่ยน เฉพาะถ้าจัดทำใน 6 ประเด็น หรือมีประเด็นใดก็ตามที่นำไปสู่ความขัดแย้งในวงกว้างของสังคม เราก็ยืนยันไปทำประชามติก่อน เฉพาะประเด็น มาตรา 190 และมาตราที่ว่าด้วยการเลือกตั้งไม่กระทบกระเทือนความขัดแย้งในสังคมก็ไม่ต้องทำประชามติ
เมื่อถามว่า ยืนยันหรือไม่ว่าการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องนี้ พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ติดใจ นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องคุยกัน เพราะยังไม่ทราบว่ามติจะเป็นอย่างไร ตนก็ฟังเสียงของส.ส.อยู่ เพราะก็มีทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่ต้องการให้เป็น เขตเล็ก กับฝ่ายที่ต้องการให้เป็นเขตใหญ่เหมือนเดิม ทุกพรรคก็มี 2 ฝ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่บอกว่าบางส่วนในพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยในการแก้ไข กลัวเรื่องอะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันไม่ใช่เรื่องกลัว นักการเมืองเลือกตั้งระบบไหน ก็ต้องเลือกได้ มันก็เป็นความเห็น ก็ต้องเรียนว่า ระบบเขตละคนมันก็มีความเป็นสากลอยู่ มีข้อได้เปรียบในเรื่องการดูแลประชาชนในเขตเลือกตั้ง แต่ระบบที่เป็นเขตใหญ่ก็มีข้อดี 2 ข้อ ที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นมาตลอด คือทำให้การแข่งขันทางการเมืองในสภาฯอิงกับเรื่องนโยบายในระดับชาติ แยกแยะออกจากการแข่งขันทางการเมืองท้องถิ่นได้มากขึ้น ประสบการณ์เขตละคนเป็นประสบการณ์ทำให้เกิด ความแตกแยกในพื้นที่ค่อนข้างสูง การแข่งขันค่อนข้างรุนแรงนำไปสู่การทุจริต และการซื้อเสียงมากขึ้นด้วย มันก็มีแค่นี้ มองได้ 2 อย่าง มีข้อดีของเขตใหญ่ในเรื่องนี้ แต่เราไม่ปฏิเสธว่าระบบเขตก็เป็นระบบสากล มันก็เป็นข้อดีของการไปเยี่ยมประชาชน อันนี้มันก็ชัดเจนอยู่แล้ว หลายคนก็ผ่านมาทั้ง 2 ระบบแล้ว
ส่วนที่ไม่ต้องทำประชามติใน 2 ประเด็นดังกล่าวจะอธิบายอย่างไรว่าไม่เป็นประโยชน์ทางการเมืองนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการเมืองมันไม่มีประเด็นอยู่แล้ว การแก้ไขระบบการเลือกตั้งมันก็เป็นแค่เป็นการเปลี่ยนกติกาการแข่งขัน และอย่างที่บอกมันก็มองได้ทั้ง 2 มุม ที่อยากให้เป็นเขตเล็กเขาก็บอกว่า เขาดูแลประชาชนได้มากกว่า ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องจริงที่ว่า บนพื้นที่ของส.ส.ในระบบเล็กทำได้ทั่วถึงได้มากกว่า แต่ที่เขาสนับสนุนเขตใหญ่เขามองในเรื่องของภาพรวม แก้ปัญหาความแตกแยก การแข่งขันที่รุนแรงกับเรื่องของการได้นักการเมืองอิงกับนโยบายระดับชาติมากขึ้นมากกว่า ความเห็นที่แตกต่างมันไม่ได้มีบอกว่า เขตเล็ก เป็นประโยชน์นักการเมืองมากกว่า หรือเขตใหญ่เป็นประโยชน์กับนักการเมืองมากว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่าการยื่นแก้รัฐธรรมนูญในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังไม่มี ความเห็นเป็นเอกภาพ ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้านก็กำลังจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นแรงกดดันอยู่ร่วมกันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนให้เกียรติคนที่ร่วมงานกัน เราทำความเข้าใจตรงกันว่า เรื่องของรัฐบาลก็เป็นเรื่องของรัฐบาล เหมือนสภาพรรคการเมืองก็มีอิสระ ในเมื่อเราตกลงกันอย่างนี้ก็เดินทางแนวทางนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น