xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ คาดจันทร์นี้ ปชป.ได้คำตอบแก้ รธน.ไม่ห่วง “เติ้ง” ฮัลโหลล็อบบี้พรรคร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
นายกฯ ไม่ห่วง “เติ้ง” ฮัลโหลหาพรรคร่วมนัดหม่ำแก้รัฐธรรมนูญ คาดหลังสัมมนาพรรค ปชป.ได้คำตอบแน่ เชื่อความเห็นไม่ตรงไม่มีผลร่วมรัฐ คาดได้คุยพรรคร่วมก่อน 28 ม.ค. ยันแก้ 2 ประเด็นไม่กระทบสังคม ไม่ต้องทำประชามติ ลั่นไม่กลัวเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง หวังไม่เป็นชนวนก่อให้เกิดความขัดแย้ง

วันนี้ (19 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ต่อสายพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา โดยเฉพาะการแก้ในประเด็นที่ไม่ได้มีข้อขัดแย้ง ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เราจะมีการสัมมนาพรรคในวันที่ 23-24 ม.ค.นี้ เพื่อกำหนดแนวทางในเรื่องนี้ เมื่อถามว่า ในประเด็นมาตรา 190 ที่นายกฯและพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยว่าต้องแก้ไขจะร่วมลงชื่อด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาๆ เมื่อถามต่อว่า ในส่วนของมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตรงนี้ยังไม่ตรงกัน เมื่อถามต่อว่า หมายความว่าหลังการสัมมนาพรรคจะได้คำตอบเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ นายกฯ กล่าวว่าก็น่าจะเป็นเช่นนั้น วันเสาร์-อาทิตย์ ที่จังหวัดกระบี่ก็น่าจะมีข้อยุติในเรื่องนี้

เมื่อถามว่าจะมีความเป็นไปหรือไม่ว่า ตรงกันข้ามกับที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องการ นายกฯ กล่าวว่า ตนไปบอกล่วงหน้าไม่ได้ว่ามติ ส.ส.ของพรรคจะเป็นอย่างไร เมื่อถามต่อว่า ดูเหมือนว่า ความเห็นของนายกฯ กับพรรคร่วมรัฐบาลไม่ตรงกันหลายครั้ง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนก็มีความคิดเห็นของตน เมื่อถามต่อว่า หากมติของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วม จะทำให้การทำงานพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลได้พูดคุยตรงกันแล้วว่า ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล การทำงานของรัฐบาลก็เรื่องหนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“ผมเพียงแต่บอกว่า ถ้าการแก้ไขเพิ่มเติมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญส่งผลกระทบในเชิงความขัดแย้งของบ้านเมืองอย่างนั้นรัฐบาลก็ต้องเข้าไปดูแล” นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อประชุมพรรคเสร็จแล้วจะนัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคุยกันเลยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็คงจะได้คุย เพราะตั้งใจว่าจริงๆ อยากจะคุยกันก่อนประชุมสภา ตอนแรกเข้าใจว่าวันที่ 21 ม.ค.ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะไม่นัด ปรากฏว่าวันที่ 21 ม.ค.ประธานสภานัดก็ไม่เป็นไร ก็คงจะคุยกันก่อนวันที่ 28 ม.ค. เมื่อถามต่อว่า แปลว่านายกฯ ไม่ผิดหวังในการทำงานในสภาที่พรรคร่วมรัฐบาลจะความเห็นอาจจะไม่สอดคล้องกัน นายกฯ กล่าวว่า เฉพาะในเรื่องที่ไม่ได้เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารก็ไม่เป็นไร นั้นเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นว่านายกฯ พูดอยู่บ่อยๆ ว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องมีการทำประชามติ นายกฯ กล่าวว่า มันเป็นคนละเรื่องกัน กรุณาลำดับเรื่องที่ตนพูดให้ตรง เดี๋ยวจะไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าเปลี่ยน มันไม่มีเปลี่ยน เฉพาะถ้าจัดทำใน 6 ประเด็น หรือมีประเด็นใดก็ตามที่นำไปสู่ความขัดแย้งในวงกว้างของสังคม เราก็ยืนยันไปทำประชามติก่อน เฉพาะประเด็นที่พูด 2 ประเด็นนี้ เรื่องมาตรา 190 และมาตราที่ว่าด้วยการเลือกตั้งว่าไม่กระทบกระเทือนความขัดแย้งในสังคม เมื่อถามว่า ยืนยันหรือไม่ว่าการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องนี้ พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ติดใจ นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องคุยกัน เพราะยังไม่ทราบว่ามติจะเป็นอย่างไร ตนก็ฟังเสียงของ ส.ส.อยู่ เพราะก็มีทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่ต้องการให้เป็นเขตเล็กกับฝ่ายที่ต้องการให้เป็นเขตใหญ่เหมือนเดิม ทุกพรรคก็มี 2 ฝ่าย

เมื่อถามว่า ฝ่ายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เห็นด้วยบอกได้หรือไม่ว่า กลัวเรื่องอะไร นายกฯ กล่าวว่า มันไม่ใช่เรื่องกลัว จริงๆ เป็นนักการเมืองเลือกตั้งระบบไหนก็ต้องเลือกได้ มันก็เป็นความเห็น ก็ต้องเรียนว่า ระบบเขตละคนมันก็มีความเป็นสากลอยู่ มีข้อได้เปรียบในเรื่องการดูแลประชาชนในเขตเลือกตั้ง แต่ระบบที่เป็นเขตใหญ่ก็มีข้อดี 2 ข้อ ที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นมาตลอด คือทำให้การแข่งขันทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรอิงกับเรื่องนโยบายในระดับ ชาติ แยกแยะออกจากการแข่งขันทางการเมืองท้องถิ่นได้มากขึ้น ประสบการณ์เขตละคนเป็นประสบการณ์ทำให้เกิดความแตกแยกในพื้นที่ค่อนข้างสูง การแข่งขันค่อนข้างรุนแรงนำไปสู่การทุจริต และการซื้อเสียงมากขึ้นด้วย มันก็มีแค่นี้ มองได้ 2 มอง มีข้อดีของเขตใหญ่ในเรื่องนี้ แต่เราไม่ปฏิเสธว่าระบบเขตก็เป็นระบบสากล มันก็เป็นข้อดีของการไปเยี่ยมประชาชน อันนี้มันก็ชัดเจนอยู่แล้ว หลายคนก็ผ่านมาทั้ง 2 ระบบแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องนี้เมื่อมีการทำประชามติจะอธิบายกับประชาชนหรือไม่ การแก้ไขกับระบบเลือกตั้งมันไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และประโยชน์การเลือกตั้งของพรรคการเมืองเท่านั้น นายกฯ กล่าวว่า การเมืองมันไม่มีประเด็นอยู่แล้วในเรื่องนี้ การแก้ไขระบบการเลือกตั้งมันก็เป็นแค่เป็นการเปลี่ยนกติกาการแข่งขัน และอยากที่บอกมันก็มองได้ทั้ง 2 มุม ที่อยากให้เป็นเขตเล็กเขาก็บอกว่าเขาดูแลประชาชนได้มากกว่า ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องจริงที่ว่า บนพื้นที่ของ ส.ส.ในระบบเล็กทำได้ทั่วถึงได้มากกว่า แต่ที่เขาสนับสนุนเขตใหญ่เขามองในเรื่องของภาพรวม แก้ปัญหาความแตกแยก การแข่งขันที่รุนแรงกับเรื่องของการได้นักการเมืองอิงกับนโยบายระดับชาติมาก ขึ้นมีมากกว่า ความเห็นที่แตกต่างมันไม่ได้มีบอกว่า เขตเล็กเป็นประโยชน์นักการเมืองมากกว่า หรือเขตใหญ่เป็นประโยชน์กับนักการเมืองมากกว่า

เมื่อถามว่า การยื่นแก้รัฐธรรมนูญในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังไม่มีความเห็นเป็นเอกภาพ ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้านก็กำลังจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นแรงกดดันอยู่ร่วมกันหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนให้เกียรติคนที่ร่วมงานกัน เราทำความเข้าใจตรงกันว่า เรื่องของรัฐบาลก็เป็นเรื่องของรัฐบาล เหมือนสภาฯ พรรคการเมืองก็มีอิสระ ในเมื่อเราตกลงกันอย่างนี้ก็เดินทางแนวทางนี้ เมื่อถามต่อว่า นายกฯ แน่ใจหรือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ทำให้เกิดความแตกแยก นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น