xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:สมอ.รักษ์โลกกับ ISO 50001

เผยแพร่:   โดย: สุนันทา อักขระกิจ

ชัยยง กฤตผลชัย
วิกฤตพลังงานเป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานในปัจจุบันปรับราคาสูงขึ้นมาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การใช้พลังงานในองค์กรเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับการจัดการต้นทุนในด้านอื่นๆ มากกว่า เช่น วัตถุดิบ แต่เมื่อราคาพลังงานมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้องค์กรต่างๆ หันมามองเรื่องประสิทธิภาพและความมั่นคงในการจัดการพลังงานมากขึ้น

องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization : ISO) มองเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำมาตรฐาน ISO 50001 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน เพราะเห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านน้ำมัน จำเป็นต้องมีมาตรฐานที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการจัดการพลังงานให้องค์กรต่างๆ ได้นำไปใช้ โดย ISO เชื่อว่าหลักการบริหารจัดการที่ดีจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั่วโลกลงถึงร้อยละ 20 ทั้งนี้คาดว่า ISO 50001 จะประกาศใช้ภายในปี 2554

นายชัยยง กฤตผลชัย รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านมาตรฐานของประเทศ และส่งเสริมให้ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบมาตรฐานให้ได้ตามมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก สร้างความเข้าใจแก่ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

จากวิกฤตราคาน้ำมัน และต้นทุนพลังงานปิโตรเลียมที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำร่างมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (International Standard on energy management systems) หรือ ISO 50001 ขึ้น เพื่อให้องค์กรต่างๆ ได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำระบบการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนให้กับองค์กรแล้ว ยังช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป อย่างพลังงานปิโตรเลียมให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

ทั้งนี้ ISO 50001 ยังครอบคลุมมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน เช่น ประสิทธิภาพและสมรรถนะการจ่ายพลังงาน วัสดุและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน การทำระบบวัดประสิทธิภาพพลังงานเป็นลายลักษณ์อักษร การรายงานผลการใช้พลังงาน ซึ่ง ISO 50001 ถือเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจให้ผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งที่ประชุม ISO ได้กำหนดกรอบ ISO 50001 รวมทั้งพิจารณาข้อเสนอร่างมาตรฐานของประเทศต่างๆ พร้อมกำหนดแผนการจัดทำมาตรฐาน โดยคาดว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้น และประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ภายในปี 2554

เนื่องจากเรื่องพลังงาน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และทั่วโลกให้ความสนใจ สมอ.จึงได้กำหนดแผนในการจัดทำมาตรฐาน ISO 50001 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2554 โดยมีแผนการดำเนินงาน ดังนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตรฐาน ISO 50001 จะยังไม่มีการประกาศใช้ แต่ก็เป็นประเด็นที่องค์กรต่างๆ ควรให้ความสำคัญ ดำเนินการด้านระบบการจัดการพลังงานให้มากขึ้น เพราะพลังงานถือเป็นต้นทุนสำคัญของการดำเนินงาน หากทุกองค์กรเตรียมพร้อมกับระบบดังกล่าวไว้แล้ว เท่ากับเป็นการช่วยองค์กรประหยัดต้นทุนด้านพลังงานได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในยามที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

รองชัยยง ยังกล่าวถึงสถานการณ์ด้านพลังงานว่า ประเทศต่างๆ มีการใช้พลังงานในหลายรูปแบบแตกต่างกันตามความต้องการใช้ของแต่ละประเทศ เมื่อสถานการณ์ด้านพลังงานเกิดวิกฤต จึงทำให้ประเทศต่างๆ ในแต่ละทวีปหันมาให้ความสนใจในการปรับลดการใช้พลังงานลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในทวีปเอเชียแล้วพบว่าความต้องการใช้พลังงานยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีก หากผู้ที่เกี่ยวข้องยังละเลยไม่ให้ความสนใจที่จะช่วยรณรงค์ลดการใช้พลังงาน

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการใช้พลังงานของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน จะพบว่าแต่ละประเทศมีการใช้พลังงานด้านต่างๆ ดังนี้ น้ำมันร้อยละ 37 ถ่านหินร้อยละ 25 ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 23 นิวเคลียร์ร้อยละ 6 ชีวมวลร้อยละ 4 พลังน้ำร้อยละ 3 แสงอาทิตย์ร้อยละ 0.5 พลังงานลมร้อยละ 0.3 และอื่นๆ

ส่วนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพของประเทศต่างๆ ในโลกนั้น สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีสัดส่วนการผลิตรวมมากที่สุดถึงร้อยละ 43 รองลงมาคือ บราซิลอยู่ที่ร้อยละ 32 สหภาพยุโรปร้อยละ 15 จีนร้อยละ 3 ส่วนอินเดีย ไทย และโอเชียเนียผลิตเชื้อเพลิงดังกล่าวเพียงร้อยละ1 เท่านั้น

สำหรับการจัดทำมาตรฐาน ISO 50001 ขึ้นในประเทศไทยนั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปรับปรุง Energy performance, Energy efficiency และ Energy intensity รวมถึงการลดต้นทุนด้านพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ให้กับองค์กรที่นำระบบดังกล่าวมาใช้

อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรทุกขนาดและทุกประเภท อีกทั้งยังสามารถบูรณาการให้เข้ากับระบบอื่นๆ ได้ โดยจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตามหลักการ P-D-C-A (PLAN/DO/CHECK/ACT)

องค์กรที่นำมาตรฐาน ISO 50001 ไปใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ดังนี้ ลดอุปสรรคทางการค้าจากนโยบายด้านพลังงาน เพิ่มโอกาสในการสร้างตลาดโลกสำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพพลังงาน สนับสนุนให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการพลังงาน ช่วยสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคด้านพลังงาน ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงการปรับนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกัน

โดยมาตรฐานดังกล่าวยังระบุข้อกำหนดสำหรับองค์กรในการจัดทำ เพื่อนำไปปฏิบัติและปรับปรุงระบบการจัดการพลังงาน ซึ่งองค์กรสามารถปรับปรุงสมรรถนะ ประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างต่อเนื่อง ระบบการจัดการพลังงานดังกล่าวครอบคลุมถึงการจัดหาพลังงาน การตรวจวัด และการรายงานการใช้พลังงาน ตลอดจนการจัดซื้อและการออกแบบวิธีปฏิบัติในการใช้เครื่องมือ รวมถึงระบบและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน

ทั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มาตรฐานดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้โดยเร็ว เช่น กระทรวงพลังงาน มีการกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงาน ออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศที่เกี่ยวข้อง อบรมผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน และอบรมผู้ตรวจประเมินการจัดการพลังงาน เป็นต้น

สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ช่วยดำเนินการในเรื่องการแต่งตั้งกรรมการเพื่อกำหนดมาตรฐานการจัดการพลังงาน ร่างมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน รวมถึงการจัดทำโครงการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานร่วมกับ UNIDO และการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินงานของมาตรฐานดังกล่าวในประเทศไทยนั้น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก โดยมีการกำหนดโครงสร้างของมาตรฐาน พิจารณาข้อเสนอร่างมาตรฐานจากประเทศต่างๆ กำหนดแผนการจัดทำมาตรฐาน และร่างมาตรฐาน ISO / WD 50001

ต่อมาการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมีนาคม 2552 นั้นมีการพิจารณาเรื่องข้อคิดเห็นของ ISO/WD 50001 และปรับปรุงร่างเป็น ISO/CD 50001 และการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ได้พิจารณาข้อคิดเห็นที่ได้รับจาก ISO/CD 50001 และปรับปรุงร่างมาตรฐานเป็น ISO/DIS 50001 ทั้งนี้เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ครบถ้วนแล้วจะทำการกำหนดประกาศเป็นมาตรฐานต่อไป

นอกจากนี้เพื่อให้ ISO 50001 เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น สมอ.จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 1037 มาตรฐานการจัดการพลังงานขึ้น เพื่อให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างมาตรฐานการจัดการพลังงานที่กำหนดโดย ISO รวมทั้งยังเตรียมความพร้อมในการผลักดันให้องค์กรต่างๆ เห็นถึงความสำคัญของมาตรฐาน ISO50001 และนำหลักการไปเป็นแนวทางปฏิบัติการจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

จะเห็นได้ว่า กระแสที่ทำให้ผู้คนตื่นตัวร่วมกันประหยัดพลังงานนั้นมีมานานหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้เกิดต่อตัวบุคคล หรือแม้แต่องค์กรต่างๆ ก็มีการดำเนินการสนับสนุนให้มีการจัดระบบการจัดการพลังงานในองค์กร ด้วยหวังลดต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งมาตรฐานที่ สมอ.จัดทำทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์และมาตรฐานระบบการจัดการด้านต่างๆ จะมีส่วนในการสนับสนุนการดำเนินการขององค์กรได้

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อมาตรฐานการจัดการพลังงานระดับสากล มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ หลายประเทศจะได้มาตรฐานกลางที่จะนำมาใช้ประยุกต์ต่อการจัดระบบการจัดการพลังงานต่อองค์กรของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และจะก่อให้เกิดผลดีในการเชื่อมโยงไปสู่พลังงานทุกประเภท

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น