xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซเรียกร้องผู้นำอาเซียนเลิกหนุน "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" พร้อมดันพลังงานหมุนเวียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนจากกรีนพีซระบุว่าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางออกของภาวะโรคร้อนอย่างแท้จริง เพราะมีมูลค่าการลงทุนสูงมากโดยที่ยังไม่มีการรวมต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาการกำจัดกากกัมมันตรังสีตามมาอีกด้วย จึงเรียกร้องผู้นำอาเซียนให้หยุดส่งเสริมการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วหันมาพัฒนาพลังงานหมุนเวียนแทน
กรีนพีซเรียกร้องผู้นำอาเซียนหยุดหนุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พร้อมผลักดันให้เป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้เต็มศักยภาพ ชี้แผนพีดีพี 2007 กีดกันโรงไฟฟ้าขนาดเล็กจากชุมชน ทั้งส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไม่ให้รับผิดชอบต่อสังคม เชื่อนิวเคลียร์จะก่อให้เกิดการต่อต้าน และความขัดแย้งทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

กรีนพีซจัดงานแถลงข่าว "อาเซียน ก้าวสู่การปฏิวัติพลังงาน" มุมมองจากภาคประชาสังคม ขึ้นเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอโนมา ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนอีกหลายแห่ง เข้าร่วมงานแถลงข่าวด้วย โดยกรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลอาเซียน ยุติการสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ควรหันมาส่งเสริมและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจังให้มากขึ้น

นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าจัดงานแถลงข่าวครั้งนี้ขึ้นเนื่องจากว่าประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 26 ขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 ส.ค. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมากรีนพีซได้ติดตามการประชุมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในครั้งนี้เช่นกัน เพื่อติดความเคลื่อนไหวและความคืบหน้าด้านพลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับล่าสุด หรือ พีดีพี 2007 (PDP 2007) มาจาก 1 ทางเลือก จากทั้งหมด 9 ทางเลือก แต่หากพิจารณาทั้ง 9 ทางเลือกจะเห็นว่าทุกทางเลือกถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องมีไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 1,700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งประเทศไทยมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงขนาดนั้นเชียวหรือ

เมื่อดูการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคตชุดมกราคม 2550 จะพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล เฉพาะปี 2551 ความต้องการจากการพยากรณ์มากเกินกว่าความต้องการสูงสุดจริงถึง 1,400 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงควรมีการปรับค่าพยากรณ์ให้สมเหตุสมผล

นายศุภกิจ กล่าวอีกว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกในประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกของประเทศไทยยังมีอยู่อีกมาก โดยที่ปัจจุบันถูกนำมาใช้เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์, ลม, น้ำ และชีวมวล ซึ่งในแผนพีดีพี 2007 กำหนดการใช้พลังงานหมุนเวียนเอาไว้เพียง 1,700 เมกะวัตต์ แต่สำหรับแผนพีดีพีทางเลือก ซึ่งไม่มีพลังงานนิวเคลียร์เลย แต่ได้บรรจุพลังงานหมุนเวียนเอาไว้ 6,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563

แม้แผนพีดีพีทางเลือกจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นราว 7% แต่เป็นการจ่ายภายในประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมลงได้ 20% ขณะที่แผนพีดีพี 2007 มีต้นทุนจากการนำเข้ามากกว่า 7% และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าหลายเท่า

ด้าน เทสซา เดอ ริค (Tessa de Ryck) ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านนิวเคลียร์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนกำลังผลักดันให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ ทั้งไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งที่จริงแล้วโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เพราะหากต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 32 โรง ภายในปี 2593 จึงจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 6% ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย

"ไม่จริงที่ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเมื่อพิจารณาตลอดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะพบว่ามีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 3 ของโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากก๊าซ" ริค กล่าวและบอกอีกว่านิวเคลียร์ไม่ช่วยให้มีความมั่นคงทางด้านพลังงาน เพราะมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ครอบครองเทคโนโลยีทางด้านนิวเคลียร์

"และที่ปัญหาสำคัญที่ตามมาอีกนั้นคือการกำจัดกากกัมมันตรังสี ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีกากกัมมันตรังสีที่กักเก็บเอาไว้อยู่ราว 2 แสนตัน ซึ่งเหล่านี้กว่าจะสลายตัวได้หมดต้องใช้เวลานับแสนปี ขณะเดียวกันเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ก็จะมีข้อบกพร่องบางประการแฝงอยู่ อย่างเมื่อเร็วๆ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงและเป็นเป้าหมายในการก่อการร้ายมากขึ้น" ริค กล่าว

ริคกล่าวอีกว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องลงทุนอย่างมหาศาล โดยที่ยังไม่ได้มีการรวมต้นทุนทางสังคมและความปลอดภัยเข้าไปด้วย ทำให้เงินทุนที่จะมาอุดหนุนด้านพลังงานหมุนเวียนลดลง ส่งผลให้เสียโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใช้กับพลังงานหมุนเวียน จึงอยากให้รัฐบาลอาเซียนทบทวนถึงผลกระทบที่จะเกิดในระดับภาคประชาชนและทบทวนแนวทางพัฒนาพลังงานให้รอบคอบเสียใหม่

ขณะเดียวกัน น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยผลการวิเคราะห์แผนพีดี 2007 ว่าจะเป็นการนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นถึงเกือบ 70% เนื่องจากในแผนไม่มีนัยที่ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด และยังนำไปสู่การเข้ามาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยไร้เหตุผล เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทางวิชาการเลย รวมทั้งไม่ใช่พลังงานราคาถูกอย่างที่หลายฝ่ายยืนยัน และยังไม่มีการรวมต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าไปด้วย

"จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง การคัดค้านและต่อต้านในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าอย่างแน่นอน ดังตัวอย่างที่ผ่านมาทั้งกรณีแม่เมาะและเขื่อนปากมูลที่ยืดเยื้อมากว่า 20 ปี แต่ในแผนพีดีพี 2007 ไม่ได้คำนึงว่าจะมีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น มีแต่โครงการจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเพื่อหวังลดแรงต่อต้าน แต่อาจส่งให้เพิ่มความขัดแย้งมากขึ้นแทน" น.ส.สายรุ้ง แจงและยกตัวอย่างเมื่อเร็วๆ ชาวบ้านในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีการต่อต้านเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปทำการประเมินผลทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในการสร้างโรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการไม่มีความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมในระบบไฟฟ้าด้วย สังเกตได้จากห้างสรรพสินค้าหลายแห่งใช้ไฟฟ้าทั้งปีมากกว่าบางจังหวัดทั้งจังหวัดด้วยซ้ำ และสมาคมทางด้านภาคอุตสาหกรรมก็มักเรียกร้องให้ผลิตไฟฟ้าเพิ่ม ผลักดันให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสุดท้ายผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายทั้งสิ้น ทั้งที่ตอนนี้ประเทศไทยควรผลักดันให้ลดใช้พลังงาน และที่เป็นเช่นนี้เพราะไทยไม่มีระบบให้ภาคอุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบต่องสังคมและสิ่งแวดล้อม

"ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเกิดการกีดกันการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กระดับชุมชนจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพราะในแผนพีดีพี 2007 ให้พื้นที่พลังงานเหล่านี้เพียง 1,700 เมกะวัตต์ เท่านั้น ทำให้จะไม่สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากชุมชนได้ทั้งหมด เพราะต้องให้พื้นที่กับโรงงานขนาดใหญ่ รวมถึงรับซื้อไม่ได้เพราะอ้างว่ามีปัญหาเชิงเทคนิคในระบบสายส่ง ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขตรงจุดนี้ รับรองได้ว่าเกิดการกีดกันโรงไฟฟ้าระดับชุมชนอย่างแน่นอน" น.ส.สายรุ้ง แจง

ส่วนนายแจสเปอร์ อินเวนเตอร์ (Jasper Inventor) ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซสากล กล่าวเสริมว่า กรีนพีซพยายามเรียกร้องและผลักดันให้มีการยุติการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานจากฟอสซิล แต่ให้มีการเพิ่มต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย และเรียกร้องให้อาเซียนเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ หยุดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ รวมทั้งยุติมายาคติที่ว่าถ่านหินเป็นพลังงานสะอาดโดยสามารถฝังคาร์บอนเอาไว้ใต้ดินได้ ทั้งที่ในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจะทำเช่นนั้นได้

"อยากให้ผู้นำอาเซียนพิจารณาในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้สามารถลดลงได้ภายในปี 2593 และสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ซึ่งหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลอาเซียนตั้งเป้าเพิ่มพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 10% ภายในปี 2558 แต่ขณะนี้ยังไปไม่ถึงไหนเลย และพิธีสารเกียวโตในช่วงแรกกำลังจะหมดอายุในอีกไม่กี่ปีนี้แล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำอาเซียนจะต้องกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายมาใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนอกเหนือจากการทำข้อตกลงร่วมกัน" อินเวนเตอร์กล่าวพร้อมกับแนะว่าในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของอาเซียนจำเป็นต้องมีเงินอุดหนุน จึงควรได้รับการส่งเสริมจากประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย.
แจสเปอร์ อินเวนเตอร์ และ เทสซา เดอ ริค
นายศุภกิจ นันทะวรการ
น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน
นายธารา บัวคำศรี
กำลังโหลดความคิดเห็น