xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพฯ เปิดประชุมแก้โลกร้อน วางแนวทางสืบต่อพิธีสารเกียวโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ผู้แทนจากทั่วโลกประชุมกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ (31) เพื่อร่างเนื้อหาสาระในแผนแก้ปัญหาโลกร้อนที่จะมาใช้ต่อจากพิธีสารเกียวโต ซึ่งใกล้จะหมดอายุลงแล้ว

"พวกคุณมารวมตัวกันเพื่อเริ่มกระบวนการเจรจา ซึ่งมีภารกิจเปลี่ยนทิศทางของประวัติศาสตร์" บันคีมุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวเปิดประชุมโดยบันทึกเทปไว้ล่วงหน้า

การประชุมนี้จะใช้เวลา 5 วัน และมีประเทศเข้าร่วมทั้งหมด 164 ประเทศ โดยเนื้อหาการประชุมจะว่าด้วยการตกลงกันว่า แต่ละประเทศจะทำอะไรบ้างหลังปี 2012 ซึ่งเป็นปีที่พิธีสารเกียวโตจะหมดอายุลง

การประชุมที่กรุงเทพฯ นี้ถือเป็นเวทีแรกหลังจากการประชุมครั้งสำคัญที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อเดือนธันวาคม ซึ่งสามารถบรรลุข้อตกลงไปได้โดยเรียกร้องให้ทำสนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องโลกร้อนฉบับใหม่ภายในปี 2009

อีโว เดอ บัวร์ เลขาธิการบริหารอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) กล่าวว่า บรรดาผู้แทนต้องเผชิญกับ "งานอันน่าสะพรึงกลัว" ในการรักษาสมดุลผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ

โลกเรา "เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 ปี เพื่อร่างสิ่งที่สุดท้ายแล้วอาจเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ซับซ้อนที่สุดฉบับหนึ่งที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์" เดอ บัวร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

"แน่นอนว่าในกระบวนการดังกล่าวจะมีทั้งผู้ได้และผู้เสีย แต่มันก็แน่นอนว่า ถ้าเราไม่สามารถลงมือทำ ในท้ายที่สุดแล้ว เราก็จะเป็นผู้เสียกันทั้งหมด" เขาบอก

เดอ บัวร์ เผยว่า การประชุมที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้จะระบุว่าขอบเขตใดจำเป็นต้องศึกษาแก้ไข และจัดการประชุมหรือทำการศึกษาเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ข้อตกลงภายในสิ้นปีหน้า

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่

สหรัฐฯ ซึ่งดึงดันไม่ลงนามในพิธีสารเกียวโตมาโดยตลอด ยอมรับข้อตกลงที่บาหลีในช่วงสุดท้ายของการประชุมหลังถูกกดดันอย่างหนักและได้รับเสียงโห่จากผู้แทนประเทศต่างๆ

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อ้างว่า พิธีสารเกียวโตไม่ยุติธรรม เพราะบังคับผูกพันแต่ประเทศพัฒนาแล้วให้ตัดลดก๊าซเรือนกระจก

แต่ประเทศกำลังพัฒนาที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น จีนและอินเดีย ให้เหตุผลว่า พวกเขาไม่ควรถูกบังคับให้ตัดลดก๊าซเรือนกระจกในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว พวกเขายังต้องการเทคโนโลยีจากประเทศร่ำรวยเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซด้วย

ญี่ปุ่นได้เสนอให้เปลี่ยนปีที่ใช้เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบจากปี 1990 เป็นปี 2005 เพราะในช่วงทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นประสบภาวะถดถอย แต่ตอนนี้เศรษฐกิจของแดนปลาดิบกำลังค่อยๆฟื้นตัวขึ้นมาได้

ส่วนสหภาพยุโรปนั้น ได้ให้คำมั่นไว้ว่า จะตัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้อย่างน้อย 20% ภายในปี 2020 จากระดับปี 1990 แต่อียูก็มีปัญหากันเองภายในว่าจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น โปแลนด์ซึ่งมีถ่านหินอยู่มาก ก็อยากทำให้มั่นใจว่าจะยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปในอนาคต

ทางด้านนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวหาว่า ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศพยายามลดพันธะตัดลดก๊าซเรือนกระจกของตนอย่างเงียบๆ

กรีนพีซวิพากษ์วิจารณ์ออสเตรเลีย แคนาดาและนิวซีแลนด์ ที่เสนอให้มีการใช้ "อ่างดูดซับคาร์บอน" (เช่น ป่าไม้หรือแหล่งอื่นๆ ที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) ให้มากขึ้น แทนการตัดลดเชื้อเพลิงฟอสซิลเพียงอย่างเดียว

"สิ่งที่เราเริ่มเห็นอยู่ก็คือ ข้อเสนอเดิมผุดขึ้นมาเพื่อชะลอหรือผัดผ่อนการลงมือปฏิบัติ เหมือนที่เคยเป็นอุปสรรคในการเจรจาเมื่อรอบที่แล้ว" บิล แฮร์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายภูมิอากาศของกรีนพีซ อินเตอร์เนชันแนลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น