"สมการการเมือง"
โดย...พาณิชย์ ภูมิพระราม
แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กางปฏิทินแดงแดดเดียว เดินสายเรียกร้อง เพื่อประกาศสงครามกับรัฐบาลอำมาตยาธิปไตย โดยในวันที่ 15 มกราคมนี้ จะเดินทางไปยังกรมป่าไม้ เรียกร้องให้รังวัดที่ดินเขายายเที่ยง ซึ่งครอบครองโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี
วันที่ 17 มกราคม จะเดินทางไปยังกองบังคับการกองปราบปราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.อ.สุรยุทธ์ ในข้อหาบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ
วันที่ 18 มกราคม แกนนำ นปช.จะเดินทางไปยังทำเนียบองคมนตรี เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินป่าสงวนโดยมิชอบของ พล.อ.สุรยุทธ์
จากนั้นแกนนำ นปช. จะเดินทางไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ในข้อหาปฎิบัติ หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีการดึงเรื่อง หรือหน่วงเหนี่ยวฎีกาของคนเสื้อแดง
วันที่ 21 มกราคม จะเดินทางไปยังสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เพื่อสอบถามถึงวิธีปฎิบัติ เกี่ยวกับการยื่นถวายฎีกาของคนเสื้อแดง
และในวันที่ 23-24 มกราคม จะมีการชุมนุมใหญ่ที่สนามกอล์ฟเขาสอยดาว จ.จันทบุรี เนื่องจากคนเสื้อแดงอ้างว่า ที่ดินสนามกอล์ฟ 400 ไร่ ถูกครอบครองโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี
แดงตบทรัพย์ไม่ได้บอกว่าจะชุมนุมยาวไปถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ วันตัดสินยึดทรัพย์ทักษิณหรือไม่
อันที่จริงกลุ่ม นปช.พันธุ์นี้ น่าจะขีดเส้นใต้ปฏิทินในวันที่ 26 ก.พ.นี้ไว้ เพื่อเดินทางไปรับฟังคำตัดสินที่ศาลฎีกา
ที่สำคัญหากลองพิจารณาคำให้การของ “พยานฝ่ายโจทก์” จะพบความจริงในข้อเท็จจริงที่ไม่ต้องไปฟังก็ได้
ทั้งนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดฟังคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 76,627 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้
ปฏิทินการไต่สวนในศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ผ่านมา พอจะสรุปความได้ว่า
12 พ.ย. 52 นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ 76,627,603,061.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย ของทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานอัยการนัดแรก ในคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอศาลสั่งให้ทรัพย์สินกรณีมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวม และทรัพย์สินของครอบครัว รวมทั้งผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ที่เป็นผู้คัดค้านรวม 22 ราย
นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้าไต่สวน สรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา โอนขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับ นายพานทองแท้ เมื่อบรรลุนิติภาวะ ซึ่งจำนวนหุ้นที่โอนขายให้เป็นจำนวน 24.99 % ขณะส่วนที่เหลือโอนขายให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว และโอนขายให้ บริษัทแอมเพิลริช อินเวสเมนต์ จำกัด 10.44 %
ขณะที่การซื้อขายกลับมีการชำระหนี้ด้วยเช็คสั่งจ่ายที่มาจากบัญชีคุณหญิงพจมาน ตรวจสอบพบว่า เป็นเพียงการเปลี่ยนมือ สุดท้ายเงินก็กลับเข้าบัญชีคุณหญิงพจมานอีก เงินซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ของบุตรและบริษัทแอมเพิลริชฯ ก็มาจากเงินบัญชีคุณหญิงในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการนำเงินตัวเอง มาซื้อหุ้นตัวเอง
17 พ.ย. 52 นายแก้วสรร ยังคงยืนยันว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ โดยสมัยที่พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก้กฎหมาย และมีมาตรการที่เอื้อประโยชน์ โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ในประเด็นสัดส่วนของการถือครองหุ้นของคนต่างด้าว จากเดิมร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 49 แม้อ้างว่าเป็นการร้องขอจากบริษัทอื่น ที่ไม่ใช่บริษัทในเครือชินคอร์ป แต่พฤติการณ์ขายหุ้นในเครือชินคอร์ป ให้กับกลุ่มกองทุนเทมาเส็ก หลังแก้กฎหมายเพียง 1 วัน ทำให้เชื่อได้ว่า ได้มีการพูดคุยกันมาก่อน
24 พ.ย. 52 นางเนติมา เอื้อธรรมาภิมุข อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายบริษัท โทเทิล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ แทค และนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทค เข้าเบิกความเกี่ยวกับการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับ บริษัท แอดซ์วานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่ได้เปรียบแทค เนื่องจากเอไอเอส ไม่ต้องเสียค่าเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ หรือเอ็กซ์เซส ชาร์จ ให้กับ กสท. ส่วนแทคจะต้องเสียค่าเอ็กซ์เซสชาร์จ ในอัตรา 200 บาท ในการให้บริการแบบโพสต์ เพด (POST PAID) ส่วนการให้บริการแบบพรีเพด (PRE PAID) จะเสียในอัตรา 18 % ซึ่งเป็นความเลื่อมล้ำของการทำสัญญาทำให้แทคไม่สามารถแข่งขันกับเอไอเอส ได้อย่างเป็นธรรม
วันเดียวกัน นายวิบูลย์ สิทธาพร อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก หรือ เอ็กซิมแบงก์ เข้าเบิกความสรุปว่า การที่เอ็กซิมแบงก์ให้รัฐบาลพม่ากู้ยืมเงินจำนวน 4,000 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 3 % ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กู้ยืมมา เป็นผลให้กระทรวงการคลังต้องจ่ายเงินส่วนต่าง คืนเอ็กซิมแบงก์รวมประมาณ 670 ล้านบาทนั้น เนื่องจากต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลที่มีมติ ครม.ออกมาในขณะนั้น
โดยเอ็กซิมแบงก์ทำสัญญาโอนเงินให้กับธนาคารการค้าต่างประเทศของประเทศพม่า ซึ่งได้ทำสัญญาให้จ่ายเงินจำนวน 15 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ให้กับบริษัทชินแซทเทิลไลท์ ต่อมา บริษัทชินแซทฯ ถึงโอนเงินจำนวน 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับ บ.ฮาตาริ ประเทศพม่า จากนโยบายดังกล่าว จนถึงปัจจุบัน ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ยังแบกรับดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินมาให้ประเทศพม่ากู้ดอกเบี้ยต่ำ แม้กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินชดเชยให้กับธนาคารเอ็กซิมแบงก์ก็ตาม
24 พ.ย.52 นายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เบิกความเกี่ยวกับการสอบสวนคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ปกปิดหุ้นเอสซี แอสเสท ผ่านบริษัทวินมาร์ค หลังดีเอสไอ รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ได้ทำการตรวจสอบพบว่า บ.ชินคอร์ปฯ ถือหุ้นใน บ.เอสซีฯ จำนวน 60.82 เปอร์เซ็นต์ และมี บ.โอดีจี และ บ.โอดีเอฟ ถือหุ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ตอน บ.เอสซีฯ นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บ.โอดีจี และ บ.โอดีเอฟ ขอสละสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุน จึงสงสัยว่า บ.โอดีเอฟ และ โอจีเอฟ เกี่ยวข้องกับบริษัทชินคอร์ปฯ หรือไม่
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ตรวจสอบพบ บ.โอดีเอฟ และบ.โอจีเอฟ ถือหุ้นโดยบริษัท วีไอเอฟ โดย บ.วินมาร์คถือหุ้น บ.วีไอเอฟ เมื่อตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบ.วินมาร์ค กับ บ.เอสซี พบว่ามีการนำเงินในบัญชี พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น) ในประเทศสิงคโปร์จำนวน 300 ล้านบาท ไปซื้อหุ้น เมื่อได้เงินมาได้โอนเงินเข้าบัญชี พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น กลต.จึงสงสัยว่า บ.วินมาร์ค น่าจะเป็นบุคคลเดียวกันหรือมี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของ
โดยสรุปผลตรวจสอบแล้วพบว่า มีพยานหลักฐานที่ได้จากสถาบันการเงินในต่างประเทศ ระบุว่าเจ้าของบริษัท วินมาร์ค คือ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร แต่ได้ใช้ชื่อผู้อื่นเป็นนอมินี ในการถือหุ้นบริษัทดังกล่าว ดีเอสไอ จึงได้มีคำสั่งให้ดำเนินการฟ้องร้อง
“บริษัท วินมาร์ค เป็นบริษัทที่อุปโลกน์ขึ้นมาไม่มีตัวบริษัท มีแต่เงินในบัญชี แม้ชื่อบัญชีจะเป็นของบริษัท วินมาร์ค แต่สถาบันการเงินที่ได้ตรวจสอบบอกว่า เจ้าของเงินเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน” นายสุนัยกล่าว
1 ธ.ค.52 นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมการ คตส. เบิกความโดยสรุปว่า ขณะเป็น คตส. ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการเอื้อประโยชน์ กรณีการเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเห็นว่าเรื่องดังกล่าวดำเนินการเอื้อประโยชน์เป็นกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสุดท้าย คณะรัฐมนตรีมีมติออกเป็น พ.ร.ก.การเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ผ่านกระบวนการรัฐสภา ถือว่าเป็นการทรยศต่อความไว้วางใจต่อประชาชน
นายสัก กอแสงเรือง อดีตกรรมการ คตส. เบิกความโดยสรุปว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาท พบว่าการปล่อยกู้ดังกล่าวไม่เป็นไปตามปฏิญญาพุกาม เพราะไม่มีระบุว่าให้ปล่อยกู้ในกิจการโทรคมนาคม ทำให้เห็นว่าเป็นการปล่อยกู้ที่เกินขอบเขต
และที่สำคัญ การปล่อยกู้ของเอ็กซิม แบงก์ ในกรณีดังกล่าว ทำให้ธนาคารต้องขาดทุน เพราะกู้มาให้พม่ากู้ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 5 แต่มาให้พม่ากู้ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ซึ่งในกฎหมายบอกว่า ให้กระทรวงการคลัง หางบประมาณมาชดเชยในส่วนดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องใช้เงินที่มาจากภาษี และที่ผ่านมา เอ็กซิม แบงก์ ไม่เคยปล่อยกู้งินในลักษณะขาดทุน
3 ธ.ค.52 นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ได้ให้การว่า คตส.ได้มีมติตามที่คณะกรรมการไต่สวนรายงานผลการตรวจสอบ โดยพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนมีน้ำหนักเพียงพอที่เชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป และได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร อันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่
22 ธ.ค.52 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าเบิกความในประเด็นคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้จำนวน 4,000 ล้านบาท ให้ประเทศพม่า ซึ่ง เงินส่วนหนึ่งนำมาซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์โทรคมนาคม บริษัท ชินแซทเทิลไลท์ในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาเดือนตุลาคม 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพม่า ได้มีหนังสือขอความช่วยเหลือเรื่องขอรับสินเชื่อแบบเครดิตไลน์ จำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพม่า ทำหนังสือขอเพิ่มวงเงินกู้อีก 24 ล้านเหรียญสหรัฐเศษ โดยระบุว่าจะนำไปพัฒนาโครงการโทรคมนาคม ซึ่งกรมเอเซียตะวันออก รายงานให้พยานทราบและสั่งให้ตรวจสอบ
ต่อมาเมื่อมีการประชุมวินสเตท ที่ จ.ภูเก็ต ก็ได้แจ้งความเห็นดังกล่าวให้พม่าทราบ ซึ่งทางพม่าตอบกลับมาด้วยวาจาว่า ถ้าไม่ให้เพิ่ม 24 ล้านเหรียญ ก็ขอเพิ่มวงเงินกู้จากที่อนุมัติ 3,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาทได้หรือไม่ ซึ่งต่อมาได้มีการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรส่งมา อ้างว่าวงเงินที่ขอเพิ่มจะนำมายางมะตอย และวัสดุก่อสร้างจากไทยจำนวน 1 แสนตัน พร้อมกับทำหนังสือสอบถามว่าจะอนุมัติให้หรือไม่ จึงทำหนังสือตอบกลับไปอย่างเป็นทางการทูต เพื่อไม่ให้บัวช้ำน้ำขุ่น ว่า ทางการไทยยินดีช่วยเหลือ แต่ขอให้ดำเนินโครงการในวงเงิน 3,000 ล้านบาทก่อน แต่ทางการไทยไม่อยากให้ลงทุนเรื่องโทรคมนาคม เกรงจะถูกครหา
เมื่อรายงานให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ทราบ ได้สอบถามพยานว่ากระทรวงการต่างประเทศว่าอย่างไร ซึ่งพยานตอบว่าไม่เห็นด้วย โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบกลับมาว่า งั้นก็พบกันครึ่งๆ เมื่อเขาขอมา 5,000 ล้านบาท ก็ให้ไป 4,000 บาทล้านแล้วกัน
12 ม.ค. 53 นายสิทธิชัย โภไคยอุดม อดีตรมว.ไอซีที ยอมรับว่า รัฐเสียรายได้นับแสนล้านบาท จากกรณีการแปลงสัญญาสัมปทานกับบริษัทเอกชนหลายบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม และยังเสียหายอีกหลายหมื่นล้านบาท จากการให้บริษัทเอกชน สามารถเรียกคืนภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บไปแล้วได้
โดยสรุปแล้ว ข้อเท็จจริงจากคำให้การเหล่านี้ ถูกปกปิดมานาน นานเสียจนลืมไปแล้วว่า ทักษิณรวยมหาศาลด้วยวิธีการเช่นไร ??