ปี 52 “ปล่อยผี”นักการเมืองระบอบทักษิณ
ปี 53 ระทึก“ ยึดทรัพย์”นายใหญ่หน้าเหลี่ยม
****
ปี 2552 ผ่านพ้นไป เมืองไทยยังอยู่กับวังวนความขัดแย้ง แบ่งสี แบ่งฝัก แบ่งฝ่าย ด้วยเงื่อนไขที่กำหนดโดย “ ทักษิณ ชินวัตร ” อดีตผู้นำจอมทุจริตที่คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว ปลุกปั่นเสื้อแดงแผลงฤทธิ์จนบ้านเมืองแทบพินาศ แถมบังอาจชักศึกเข้าบ้าน สมคบ “ผู้นำขแมร์” เล่นแร่แปลธาตุใส่ร้ายประเทศชาติแบบไร้สำนึก
ผ่านไปอีกหนึ่งปียังไร้วี่แววลากคอ “ ทักษิณ ” กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทย แถมปี 2552 ที่ผ่านพ้นไป คนไทยยังได้เห็น รอยยิ้มของ “ อดีตนักการเมืองระบอบทักษิณ” จากผลคำตัดสิน 2 คดีประวัติศาสตร์ ของ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เริ่มจาก คดีทุจริตจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่ากว่า 1,440 ล้านบาท คดีนี้ คตส. ยื่นฟ้องกล่าวโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ( จำหน่ายคดีเพราะหลบหนี) สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) กับพวกรวม 44 คน แบ่งเป็นรัฐมตรีใน กลุ่ม คชก.ประกอบด้วย วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ,สรอรรถ กลิ่นปทุม อดีต รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ ส่วน เนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ และยังมีกลุ่มข้าราชการ กับเอกชนอีก 3 รายประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี , บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด
คำฟ้องระบุพฤติการณ์ จำเลย กลุ่ม คชก.ร่วมกันมีมติอนุมัติเงิน 1,440 ล้านบาท ให้กรมวิชาการเกษตรกำหนดเขตปลูกยางพาราใหม่ 1 ล้านไร่ และให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ( สกย.) จัดหาต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้นแจกจ่ายให้เกษตรกรโดยใช้เงินของกองทุนรวมเกษตรกร และให้ผ่อนชำระเงินคืนภายในเวลา 15 ปี ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมของเกษตรกร และ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2503 ทำให้กองทุนรวมเกษตรกรได้รับความเสียหาย เข้าข่ายความผิดตาม ป.อาญา ม.151, 157, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรรัฐฯ จากนั้น เนวิน ชิดชอบ จำเลยที่ 4 ได้ขออนุมัติโครงการต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม.โดยไม่ชอบ ปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจำนวน 1,440 ล้านบาท ก่อนชักใยให้จำเลยกลุ่มข้าราชการล็อกสเปกเอื้อผลประโยชน์ให้เครือ ซีพี ชนะการประมูล เข้าข่ายความผิดตาม ป.อาญา ม.157 และ 341 พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ ม.4, 9-12 คำฟ้องขอให้จำเลยทั้ง 44 รวมกันหรือใช้แทนเงินจำนวน 1,168 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
21 ก.ย.52 ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาท่ามกลางการลุ้นระทึกของจำเลยทั้งกลุ่มนักการเมือง และข้าราชการ รวมทั้งประชาชนคนไทยที่ติดตามกันอย่างใจจดใจจ่อ สุดท้ายองค์คณะมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจำเลยทั้งหมดไม่มีความผิด ทำเอา “เนวิน ชิดชอบ” คนที่ถูกจับจ้องในฐานะผู้ริเริ่มโครงการถึงกับน้ำตาซึม ประกาศกร้าวเสียงสั่นว่าน้ำยางจากกล้ายางพารา 90 ล้านต้นจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวไทยในอนาคต
ผลของคำพิพากษาคดีนี้ ทำเอา “ บุญรอด ตันประเสริฐ” ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และองค์คณะอีก 8 คน ต้องถูกตั้งกรรมการสอบเรื่องคำพิพากษารั่วไหล เพราะมติ 8:1ให้ยกฟ้อง ดันไปตรงกับที่ “ จตุพร พรหมพันธ์” แกนนำ นปช.เคยประกาศไว้บนเวทีเสื้อแดง
และยังนำมาซึ่งความขัดแย้ง “ ร้าวลึก ” ระหว่างองค์กรเมื่อ“ ธนพิชญ์ มูลพฤกษ์” โฆษกอัยการ ออกมาแถลงตีแสกหน้า คตส.ว่า รีบเร่งฟ้องคดีทั้งที่มีข้อไม่สมบูรณ์เป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง ส่วนด้าน คตส.ก็ออกป้องว่าอัยการต่างหากเป็นฝ่ายไม่ทำหน้าที่ แถม “ชัยเกษม นิติสิริ” อสส. ยังไปขึ้นเบิกความเป็นพยานแก้ต่างให้ฝ่ายจำเลย
คดีทุจริตโครงการสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบ 2 ตัว 3 ตัว(หวยบนดิน) เป็นอีกคดีสำคัญที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในปีที่ผ่านมา คดีนี้ คตส.ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ( จำหน่ายคดีเพราะหลบหนี ) คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน ในความผิดฐานผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อหรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต(ยักยอกทรัพย์), เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น, ทำให้ผู้อื่นจ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น, เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 152, 153, 154, 157 ประกอบมาตรา 83, 84, 86, 90, 91 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 4, 8, 9, 10 และ 11
โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนหรือใช้ทรัพย์ที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันมีมติอนุมัติให้จ่ายเงิน ซึ่งเป็นเงินรายได้จากการออกสลากของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เป็นผู้เสียหายรวม 14,862,254,865.94 บาท กรณี มีมติออกหวย 2 และ 3 ตัวโดยไม่มีกฎหมายรองรับ อีกทั้งบอร์ดกองสลากฯ ยังเสนอให้กระทรวงการคลัง ชง ครม. ยกเว้นและลดหย่อนการเรียกเก็บภาษีอากรในโครงการหวยบนดินโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้รัฐขาดรายได้จากการเก็บภาษีอากร
30 ก.ย.52 ศาลฏีกาฯ มีคำพิพากษาออกมาเป็นคุณแก่จำเลยอีกครั้ง โดยองค์คณะผู้พิพากษาเห็นตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่าคณะรัฐมนตรีมีนโยบายแก้ปัญหาสังคม ปราบปรามเจ้ามือหวยเถื่อน เอาหวยใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน และนำรายได้กลับคืนสู่สังคม แม้จำเลยจะมีเจตนาดี แต่ มติ ครม.ที่อนุมัติให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯ เป็นเจ้ามือหวยบนดินไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายรับรอง อีกทั้งการที่ ครม.อนุมัติให้นำรายได้จากหวยบนดินไปช่วยเหลือสังคมโดยไม่นำเข้าคลังฝ่าฝืน พ.ร.บ.เงินคงคลังฯถือเป็นความผิด
แต่เนื่องจากคณะรัฐมนตรีที่ร่วมกันอนุมัติโครงการไม่ได้ทราบรายละเอียดอย่างครบถ้วนจึงอาจเข้าใจว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงยกประโยชน์ให้พิพากษายกฟ้อง ส่วน บอร์ดกองสลากฯ ศาลเห็นว่าเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลจึงไม่มีเจตนาสมคบกันทุจริต นอกจากนี้เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์จำเลยตามฟ้องยังไม่พบการกระทำเข้าข่ายทุจริตเบียดบังทรัพย์สินราชการจึงไม่ต้องร่วมกันชดใช้เงินคืนตามที่ คตส.ฟ้อง
มีเพียง “ วราเทพ รัตนากร” อดีต รมช.คลัง กำกับดูแลสำนักงานสลากฯ “ สมใจนึก เองตระกูล” อดีตประธานบอร์ด และ “ ชัยวัฒน์ พสกภักดี ” อดีต ผอ.กองสำนักงานสลากฯ ที่ถูกตัดสินจำคุกคนละ 2 ปี แต่โทษจำให้รอลงอาญา
แม้ว่าผลคำพิพากษาทั้ง 2 คดี จะเหมือนเป็นการ “ปล่อยผี” นักการเมืองระบอบทักษิณ แต่ในต้นปี 2553 ที่กำลังจะมาถึงคาดว่าศาลฎีกาฯ จะได้ฤกษ์พิพากษา คดีสำคัญยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านจากพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติของ “ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ” อดีตผู้นำจอมทุจริต
ประกอบกับที่ผ่านมาในส่วนของคดีอาญา พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยแสดงท่าทีทุกข์ร้อนกับโทษที่ติดตัวไม่ว่าจะเป็นคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ซึ่งถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 2 ปี หรืออีกหลายคดีที่รอคิวอยู่ในศาล เพราะไม่ว่าจะถูกออกหมายจับสักกี่ใบก็ยากที่ใครจะตามลากคอเขากลับมาเข้าคุกได้ อดีตผู้นำหน้าเหลี่ยมยังคงใช้ชีวิตในต่างแดนอย่างสุขสบายทั้งที่เป็นนักโทษหลบหนีอาญาแผ่นดิน
คดียึดทรัพย์ซึ่งเปรียบเสมือน “ กล่องดวงใจ ” เขม็งเกลียวเข้ามา และนาทีนี้ แม้ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาแต่ดูเหมือนว่าฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ จะตกเป็นรองอยู่พอสมควรเพราะพยานที่อัยการนำสืบทั้งจาก “ คตส. และ ก.ล.ต.” ต่างก็เบิกความชี้ชัดตามข้อกล่าวหาว่าทรัพย์สิน 7.6 หมื่นล้านนั้นได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติอย่างไร
ประเด็นธุรกรรมอำพรางการถือครองหุ้นบริษัทเครือชินคอร์ปฯ ผ่านกองทุนลับ บริษัทนอมินี
นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. เบิกความถึงขั้นตอนการซื้อขายหุ้นในบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการถือหุ้นในบริษัทวินมาร์ค ลิมิเต็ด จำกัดว่า จากการตรวจสอบการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แท้จริง บมจ.เอสซีฯก.ล.ต.พบว่า บริษัทวินมาร์คฯ ที่ซื้อหุ้น จาก พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 1,500 ล้านบาท มีทรัสต์แห่งหนึ่งบนเกาะฮ่องกงเป็นผู้บริหารจัดการ แต่เมื่อตรวจสอบทรัสต์แห่งนี้กลับพบว่าได้รับมอบหมายจากกองทุนบลูไดมอนด์ ซึ่งเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานเอง และเมื่อตรวจสอบบัญชีเงินค่าซื้อหุ้น ยังพบว่า เงินค่าซื้อหุ้น 300 ล้านบาท โอนมาจากบัญชีธนาคาร 3 แห่งในประเทศสิงคโปร์ ที่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานเป็นเจ้าของบัญชี และบริษัทวินมาร์คฯ โดยทรัสต์บนเกาะฮ่องกงโอนเงินซื้อหุ้นอีก 1,200 ล้านบาทให้ชินคอร์ปฯ หลังจากซื้อหุ้นแล้ว บริษัทวินมาร์ค มอบให้ธนาคารยูบีเอสสิงคโปร์ เป็นผู้จัดการหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย จึงพบความโยงใยว่า บริษัทวินมาร์คฯ เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีทรัสต์บนเกาะฮ่องกง และกองทุนบลูไดมอนด์เป็นผู้บริหาร
นางวรัชญายังเบิกความว่า หลังจากธนาคารยูบีเอส สิงคโปร์ เข้ามาจัดการหุ้นให้ บริษัทมวินมาร์คฯ แล้วปรากฏว่า มีการถือครองหุ้นเกิน 5% ซึ่งตามกฎหมายต้องรายงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทราบ ก.ล.ต.จึงสงสัยและตรวจพบว่า หุ้นที่ถือเกิน 5% นั้นเป็นหุ้น ที่ถือในนามบริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับว่า เป็นเจ้าของและขายให้ นายพานทองแท้ แล น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว จาการตรวจสอบหุ้นวินมาร์ค ดังกล่าว ก.ล.ต.จึงสันนิษฐานว่า หุ้น ใน บริษัทวินมาร์คฯ และแอมเพิลริชฯ เป็นของคนๆ เดียวกัน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ
ขณะที่ นายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ชี้ขั้นตอนนิติกรรมอำพรางที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ 24.99 % ให้กับนายพานทองแท้ บุตรชายเมื่อบรรลุนิติภาวะ ขณะส่วนที่เหลือโอนขายให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว และโอนขายให้ บริษัทแอมเพิลริชฯ 10.44 % แต่การซื้อขาย กลับมีการชำระหนี้ด้วยเช็คสั่งจ่ายที่มาจากบัญชีคุณหญิงพจมาน ซึ่งตรวจสอบพบว่า เป็นเพียงการเปลี่ยนมือสุดท้ายเงินก็กลับเข้าบัญชีคุณหญิงพจมานเหมือนเดิม
ประเด็นการใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจครอบครัว
นายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คณะกรรมการ คตส.เบิกความชี้ชัดถึงการใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองในทางมิชอบ ของ พ.ต.ท.นช.ทักษิณ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเครือชินคอร์ปฯ โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อเพิ่มสัดส่วนของการถือครองหุ้นของคนต่างด้าว จากเดิมร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 49 ก่อนขายหุ้นให้เทมาเส็กหลังประกาศกฎหมายเพียงวันเดียว รวมไปถึงการออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้มีการแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคมจ่ายเป็นภาษีสรรพสามิต 15 % แม้ว่าภาษีสรรพสามิตจะเข้าสู่รัฐ แต่ทำให้องค์การโทรศัพท์หน่ายงานของรัฐซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทาน ต้องสูญเสียรายได้จากค่าสัมปทานที่ลดลง อีกทั้งการประกอบกิจการสัมปทานในส่วนขององค์การโทรศัพท์เกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ มี บ.เอไอเอส ร่วมทุนเป็นการออกมาตรการที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเครือชินคอร์ป ฯ ได้เปรียบบริษัทอื่น เนื่องจากช่วงที่มีการเปิดเสรี โดยมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ( กทช.) เป็นผู้ดูแลกำหนดให้มีการจัดเฉพาะเก็บค่าธรรมเนียมซึ่งต่ำกว่าค่าสัมปทานที่บริษัทเอไอเอส จะต้องจ่าย และยังมีการออกมาตรการมาให้บริษัทที่จะเข้ามาให้บริการรายใหม่ ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตเพิ่ม แต่ในส่วนของบริษัทเอไอเอสเพียงแต่หักค่าสัมปทานบางส่วนไปจ่ายเป็นค่าภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นการทุจริตเชิงนโยบายอย่างชัดเจน
สอบรับกับที่คำเบิกความของนางเนติมา เอื้อธรรมาภิมุข อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายบริษัทโทเทิล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ แทค และนาย ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทค ที่ระบุถึงการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบริษัทแอดซ์วานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่ได้เปรียบแทค เนื่องจากเอไอเอส ไม่ต้องเสียค่าเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ หรือเอ็กซ์เซป ชาร์จ ให้กับ กสท. ส่วนแทคจะต้องเสียค่าเอ็กซ์เซปชาร์จ ในอัตรา 200 บาท ในการให้บริการแบบโพสต์ เพด POST PAID ส่วนการให้บริการแบบพรีเพด PRE PAID จะเสียในอัตรา 18 % ซึ่งเป็นความเลื่อมล้ำของการทำสัญญาทำให้แทคไม่สามารถแข่งขันกับเอไอเอส ได้อย่างเป็นธรรม
นายแก้วสรร ยังเบิกความถึงเรื่องของการยิงดาวเทียมซึ่งบริษัทชินแซทฯ ได้ทำสัญญากับกระทรวงคมนาคมจะต้องยิงดาวเทียมไทยคมเพื่อใช้สื่อสารภายในประเทศ รวม 4 ดวง แต่ปรากฏว่าบริษัทยิงดาวเทียมไทยคมเพียง 3 ดวง ส่วนดวงที่ 4 กลับมีการแจ้งเปลี่ยนเทคโนโลยี ใช้ชื่อ IP STAR ยิงแทนดาวเทียมไทยคม 4 ทั้งที่ดาวเทียมดังกล่าวไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เพราะไม่ได้ใช้สำหรับสื่อสารในต่างประเทศ ซึ่งปัญหาดาวเทียมดังกล่าวนำมาซึ่งคดีการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับรัฐบาลพม่า โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือ เอ็กซิมแบงค์ ซึ่งเดิมมีการกำหนดวงเงิน 3,000 ล้านบาท แต่มีการเพิ่มวงเงินเป็ร 4,000 ล้าน เพื่อให้รัฐบาลพม่านำเงินมาใช้ซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทชินแซทฯ ในเครือครอบครัวชินวัตร จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว
เรื่องนี้อัยการผู้ร้องยังมี นายวิบูลย์ สิทธาพร อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ เบิกความเพิ่มเติมว่าที่เอ็กซิมแบงก์ต้องปล่อยเงินกู้ 4,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 3 % ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กู้ยืมเป็นผลให้กระทรวงการคลังต้องจ่ายเงินส่วนต่างคืนเอ็กซิมแบงก์รวม 670 ล้านบาท เนื่องจากต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล (ขณะนั้น) และจากนโยบายดังกล่าวจนถึงปัจจุบันเอ็กซิมแบงก์ยังต้องแบกรับดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินมาให้ประเทศพม่ากู้ในดอกเบี้ยต่ำแม้กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินชดเชยให้ก็ตาม
หลายคนเชื่อว่าเมื่อจบคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ จะหยุดการเคลื่อนไหวเพราะคงไม่รู้จะสู้เพื่ออะไรหากเงินทุจริตก้อนสุดท้ายถูกยึดตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนลิ่วล้อที่คอยรับงานป่วนชาติก็จะหนีหายเพราะหมดหวังจากเงินส่วนแบ่งก้อนสุดท้าย และอุณหภูมิการเมืองไทย น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง
ล่าสุด การไต่สวนพยาน 2 ปากสุดท้าย “ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” อดีต รมว.ต่างประเทศ และ “ กล้านรงค์ จันทิก ” อดีต คตส. เบิกความชี้ชัดถึงการอนุมัติให้รัฐบาลพม่ากู้ยืมเงินเอ็กซิมแบงก์อย่างไม่เหมาะสมในการซื้ออุปกรณ์คมนาคมจากบริษัทในเครือชินแซทฯ จำนวน4,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นผลประโชน์ทับซ้อน รวมถึงการออกนโยบายเอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัว ซึ่งเข้าข่ายประโยชน์ส่วนตัวขัดกับส่วนรวม
คดีนี้ องค์คณะผู้พิพากษา กำหนดไต่สวนพยานเพิ่มเติมอีก 2 นัด ในวันที่ 12 และ 14 ม.ค. 2553 เพื่อเรียกสอบพยานเอกสารที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนัดอ่านคำพิพากษา ภายใน 30 วัน ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงกลางเดือน ก.พ.2553 จึงเชื่อว่าคนไทยน่าได้ข่าวดี เป็นของขวัญปีใหม่ เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ “ ทักษิณ” คงจะถอดใจเพราะไม่รู้จะสู้ไปเพื่ออะไร และหลังจากนั้นเมืองไทยจะกลับสูงความสงบสุขอีกครั้ง