xs
xsm
sm
md
lg

ยึดทรัพย์ “แม้ว” ใกล้อวสาน! พยานยันเอาเปรียบรัฐ-เอื้อพม่า-ปกปิดการถือหุ้น

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
อดีต อธ.ดีเอสไอ “สุนัย มโนมัยอุดม” เบิกความคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ยัน แม้ว-อ้อ เป็นเจ้าของ บ.วินมาร์ค เป็นนอมินีถือหุ้นเอสซี แอสเซท แถมปกปิดสาระสำคัญการถือหุ้นก่อนนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายแทค ยันทำสัญญาเอาเปรียบรัฐ  และอดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ ระบุ ปล่อยกู้เอื้อประโยชน์ให้พม่า

วันนี้ (24 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องคดีที่อัยการสูงสุดร้องขอให้ทรัพย์สินจำนวน 76,000 ล้านบาทเศษ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งบุคคลในครอบครัวและผู้ร้องค้าน ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ โดยขณะดำรงตำแหน่งใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

ในวันนี้พนักงานอัยการนำ นางเนติมา เอื้อธรรมาภิมุข อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ แทค เข้าเบิกความเกี่ยวกับการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่ได้เปรียบแทค เนื่องจากเอไอเอส ไม่ต้องเสียค่าเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ หรือ เอ็กซ์เซป ชาร์จ ให้กับ กสท ส่วนแทคจะต้องเสียค่าเอ็กซ์เซปชาร์จ ในอัตรา 200 บาท ในการให้บริการแบบโพสต์ เพด POST PAID ส่วนการให้บริการแบบพรีเพด PRE PAID จะเสียในอัตรา 18% ซึ่งเป็นความเลื่อมล้ำของการทำสัญญาทำให้แทคไม่สามารถแข่งขันกับเอไอเอส ได้อย่างเป็นธรรม

จากนั้น นายวิบูลย์ สิทธาพร อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก หรือเอ็กซิมแบงก์ เข้าเบิกความสรุปว่า การที่เอ็กซิมแบงก์ให้รัฐบาลพม่ากู้ยืมเงินจำนวน 4,000 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 3% ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กู้ยืมมาเป็นผลให้กระทรวงการคลังต้องจ่ายเงินส่วนต่างคืนเอ็กซิมแบงก์รวมจำนวนประมาณ 670 ล้านบาท นั้นเนื่องจากต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล ที่มีมติ ครม.ออกมาในขณะนั้น โดยเอ็กซิมแบงก์ทำสัญญาโอนเงินให้กับธนาคารการค้าต่างประเทศของประเทศพม่า ซึ่งได้ทำสัญญาให้จ่ายเงินจำนวน 15 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาให้กับบริษัทชินแซทเทิลไลท์ต่อมาบริษัทชินแซทฯ ถึงโอนเงินจำนวน 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับ บ.ฮาตาริ ประเทศพม่า จากนโยบายดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ยังแบกรับดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินมาให้ประเทศพม่ากู้ดอกเบี้ยต่ำ แม้กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินชดเชยให้กับธนาคารเอ็กซิมแบงก์ก็ตาม

ต่อมาเมื่อมีการพิจารณาช่วงบ่าย อัยการผู้ร้อง ได้แถลงต่อศาลขอเพิ่มวันนัดพิจารณาคดีไปอีก 2 วัน ในวันที่ 3 และ 8 ธันวาคมนี้ เนื่องจากมีพยานอีกจำนวนมาก ศาลสอบถามทนายผู้ถูกร้องและผู้คัดค้าน แล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้เพิ่มวันนัดสืบพยานฝ่ายผู้ร้องไปอีก 2 วัน

อย่างไรก็ตาม อัยการได้นำ นายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เบิกความเกี่ยวกับการสอบสวนคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ปกปิดหุ้นเอสซี แอสเสท ผ่านบริษัท วินมาร์ค หลังดีเอสไอรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ได้ทำการตรวจสอบพบว่า บ.ชินคอร์ป ถือหุ้นใน บ.เอสซีฯ จำนวน 60.82 เปอร์เซ็นต์ และมี บ.โอดีจี และ บ.โอดีเอฟ ถือหุ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ตอน บ.เอสซีฯ นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บ.โอดีจี และ บ.โอดีเอฟ ขอสละสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุน จึงสงสัยว่า บ.โอดีเอฟ และ โอจีเอฟ เกี่ยวข้องกับบริษัท ชินคอร์ป หรือไม่ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบพบ บ.โอดีเอฟ และ บ.โอจีเอฟ ถือหุ้นโดยบริษัท วีไอเอฟ โดย บ.วินมาร์ค ถือหุ้น บ.วีไอเอฟ เมื่อตรวจสอบการซื้อขายหุ้น บ.วินมาร์ค กับ บ.เอสซี พบว่า มีการนำเงินในบัญชี พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น) ในประเทศสิงคโปร์ จำนวน 300 ล้านบาท ไปซื้อหุ้นเมื่อได้เงินมาได้โอนเงินเข้าบัญชี พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น ก.ล.ต.จึงสงสัยว่า บ.วินมาร์ค น่าจะเป็นบุคคลเดียวกันหรือมี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของ

นายสุนัย เบิกความต่อว่า เมื่อตรวจสอบการจัดตั้ง บ.เอสซีฯ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 โดย พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน และก่อตั้ง บ.วินมาร์ค ตั้ง บ.ต่างๆ เป็นบริษัทลูกในเครือเพื่อแบ่งหน้าที่กันทำ หลังปี 2543 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง บ.เอสซีฯ โดยนำบริษัท ที่คุณหญิงพจมาน ได้ก่อตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ อาทิ บ.บูลไดมอนด์ บ.ซิเนตร้า เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น บ.เอสซีฯ ซึ่งดีเอสไอมีเอกสารหลักฐานที่ได้รับการรับรองจากประเทศสิงค์โปร์ที่เกี่ยวกับเรื่องเงินฝากบัญชีธนาคาร จากประเทศฮ่องกง และ มาเลเซีย เรื่องการจัดตั้งบริษัทที่เป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ซึ่งบริษัทต่างๆดังกล่าวไม่มีอำนาจ ซึ่งคนคุมและจัดการก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ต่อมา บ.วินมาร์ค ขายหุ้น บ.เอสซี คืนให้กับ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ในราคาพาร์พร้อมสละสิทธิ์การซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยมี นางบุษบา ดามาพงศ์ กก.ผู้มีอำนาจใน บ.เอสซีฯ เป็นผู้แจ้ง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าสามารถดำเนินการแทน บ.โอดีเอฟ และ บ.โอจีเอฟ ได้ทันที โดยไม่มีใครโต้แย้ง แล้วนำเงินเข้าบัญชี บ.วินมาร์ค ที่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของ อีกทั้งตอนที่หุ้น บ.เอสซีฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่เปิดเผยว่าเป็นผู้ถือหุ้นใน บ.โอดีเอฟ และบ.โอจีเอฟ อันเป็นการปกปิดสาระสำคัญที่ควรแจ้งให้ประชาชนผู้ถือหุ้นทราบ เพราะถือหุ้นรวมกันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่จะสามารถบริหารงานได้อย่างเบ็ดเสร็จ และไม่รายงานการได้มาหรือขายไปซึ่งหุ้นทุก 5 เปอร์เซ็นต์ ให้ ก.ล.ต.ทราบ ซึ่งดีเอสไอได้ทำสำนวนฟ้อง บ.เอสซีฯ แล้ว แต่ภายหลังอัยการสั่งไม่ฟ้องซึ่งให้เหตุผลในประเด็นที่ประกาศ กลต.ออกภายหลังเกิดคดีเอสซีฯแล้ว ทำให้ไม่เป็นความผิด แต่พยานเห็นว่าน่าเป็นความผิดเกี่ยวกับการปกปิดสาระสำคัญเกี่ยวกับการถือหุ้น เหมือนที่เคยซุกหุ้นไปไว้ที่คนใช้ แต่กรณีนี้เป็นการซุกหุ้นใน บ.นิติบุคคล ซึ่งเป็นนอมินี สำหรับในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นดีเอสไอได้ส่งสำนวนให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาแล้ว

นายสุนัย เบิกความต่อว่า ได้แจ้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่ได้รับ ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินการ ซึ่งขอให้ดีเอสไอดำเนินการเรื่องต่างๆทั้งสอบพยานเพิ่มเติม ก็ทำให้ตามที่ต้องการ ซึ่งพยานไม่เคยเห็นเอกสารว่า บ.วินมาร์ค มีนายมามุส โมฮัมหมัด อัล-ซารี ที่ฝ่ายผู้ถูกร้องและผู้คัดค้าน ว่าเป็นนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียเป็นเจ้าของแต่อย่างใด จากหลักฐานที่ได้จากการสืบสวน เชื่อได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของ บ.วินมาร์ค มาตั้งแต่ปี 2543-2549 มีวัตถุประสงค์เพื่อปกปิดความเป็นเจ้าของหุ้น

ภายหลัง นายสุนัย เบิกความเสร็จสิ้นแล้วศาลนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องครั้งต่อไปวันที่ 26 พฤศจิกายน นี้ เวลา 09.30 น.โดยพนักงานอัยการเตรียมนำพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที บ.ทีโอที เข้าเบิกความ

กำลังโหลดความคิดเห็น