รายงานพิเศษ
โดย...แสงตะวัน
แม้เหลือเวลาอีกเกือบ 6 สัปดาห์ กว่าจะถึงวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ของทักษิณ ชินวัตร คือ วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553
ทว่าความเคลื่อนไหวต่างๆ นอกห้องพิจารณาคดี กลับคึกคัก และรุนแรงยิ่งนัก
เรื่องนัดหมายชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง แม้จะเป็นจุดที่หลายคนสนใจติดตามมากที่สุด แต่เรื่องนี้ก็หาได้เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายมากนัก เพราะเป็นสิ่งที่ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำ นปช.-คนเสื้อแดงได้เตรียมการมาแต่เนิ่นๆอยู่แล้ว
เปิดประเด็นโจมตี กระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน
ที่น่าสนใจมากกว่า คือการเกิดขึ้นของข่าวสารทิศทางคดีดังกล่าวอันจับทางได้ว่า มีเป้าหมายคือ หวังกดดันและดิสเครดิตการทำหน้าที่ขององค์คณะตุลาการผู้พิจารณาสำนวนคดียึดทรัพย์ดังกล่าว
กับ“ข่าวลือ-ข่าวปล่อย” ที่เกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง นอกที่ทำการของศาลฎีกาฯไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพูดกันไปว่า แนวโน้มของการลงมติขององค์คณะฯ น่าจะมีมติออกมา
5 ต่อ 4 ยึดแต่ยึดไม่หมด !
อันเป็นกระแสข่าวที่มีการปล่อยออกมาเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่ทิศทางของข่าวดังกล่าว จะมีการขยายรายละเอียดมากขึ้น ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ
จนเริ่มน่าเป็นห่วงว่าผู้ปล่อยข่าวสารดังกล่าว กำลังกระทำการที่นอกจากล่วงละเมิดอำนาจตุลาการแล้ว ยังเห็นได้ชัดว่ามีเป้าหมายคือ ต้องการกดดันการพิจารณาคดีของศาลอย่างชัดเจน
คือหวังจะสร้างกระแสให้เกิดขึ้นออกมาก่อนที่จะถึงวันที่ 26 ก.พ.53 เพื่อทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด แต่สุดท้ายหากผลออกมาไม่เป็นอย่างที่มีการปล่อยข่าว ก็จะทำให้แรงกดดันทั้งหมดไปอยู่ที่ศาล ขณะเดียวกันหากเป็นไปทางที่มีกระแสข่าวเกิดขึ้น แม้ไม่ตรงร้อยเปอร์เซนต์แต่ใกล้เคียง ก็ย่อมทำให้ผู้คนเกิดความคิดว่า มีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการตัดสินคดี จนทำให้ “ข่าวรั่ว”
เข้าทางกลุ่มผู้ต้องการดิสเครดิตตุลาการ
ไม่ว่าจะการอ้างว่า ตัวเลข ยึด-ไม่ยึด อยู่ที่ระดับ เกินกึ่งหนึ่ง คือ 4 หมื่นล้านบาท หรือการปล่อยข่าวว่า เริ่มมีกระบวนการแทรกแซงใดๆ เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม
นี่แค่ไม่กี่วัน การปล่อยข่าวสารในลักษณะกดดันศาลเช่นนี้ก็ออกมาแล้ว แบบนี้กว่าจะถึงวันตัดสินของศาล สถานการณ์คงรุนแรงกว่านี้แน่นอน
การกระทำเช่นนี้ ควรที่สังคมจะต้องร่วมกันตรวจสอบต้นตอและที่มาของข่าวสารว่าผู้อยู่เบื้องหลังในเรื่องนี้ ว่าเป็นใคร และต้องการอะไร เพราะก็รู้กันอยู่แล้วว่า การทำหน้าที่ของศาล เป็นไปด้วยความเที่ยงตรง ยุติธรรม ไม่มีการชี้นำ หรือตั้งธงการตัดสินคดีไว้ล่วงหน้า และทุกอย่างว่าไปตามพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง โดยไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม
อีกทั้งที่สำคัญ ศาลเพิ่งจะเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานบุคคลสี่ปาก ที่องค์คณะได้ออกหมายเรียกมาเบิกความเพิ่มเติมจากบัญชีรายชื่อพยานของฝ่ายโจทก์และจำเลย อันได้แก่
สิทธิชัย โภไคยอุดม อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯ หรือไอซีที ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ทศพร เกตุอดิศร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช. ) จิรยุทธ์ ศรีบุตร รองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับซื้อขาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
วันอังคารที่ 12 มกราคม 53 เป็นวันสุดท้ายของการพิจารณาคดีประวัติศาสตร์โคตรโกง อันมีเนื้อหาคำเบิกความ และพยานเอกสารต่างๆ จำนวนมากหลายพันหน้าที่องค์คณะเพิ่งได้รับและต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อมูลตัวเลขต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป และบริษัทในเครือ ในช่วงก่อนที่ทักษิณจะเป็นนายกรัฐมนตรี และในช่วงเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อดูว่ามูลค่าหุ้นของชินคอร์ปในช่วงดังกล่าว มีความเคลื่อนไหวอะไรที่น่าสนใจ
อันเป็นสิ่งที่จะบ่งชี้ให้เห็นว่า ทักษิณ ชินวัตร ร่ำรวยผิดปกติผ่านมูลค่าหุ้นชินคอร์ป หรือไม่ในช่วงทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงรายละเอียดขั้นตอน ความเป็นมาเป็นไปของสาระสำคัญของคดียึดทรัพย์ ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคเฉพาะด้าน โดยเฉพาะเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม ที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาทำความเข้าใจพอสมควร
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การแปรสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือ , กระบวนการออกพ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต , แผนพัฒนาโทรคมนาคม , ข้อดีข้อเสียและผลประโยชน์ที่บริษัทกิจการโทรคมนาคมได้รับจากมาตรการภาษีสรรพสามิตที่เกิดขึ้นในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร , มูลค่าการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปในช่วงทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อกุมภาพันธ์ 2544 จนถึงวันที่ 23 มกราคม 2549 ที่ทักษิณขายหุ้นชินคอร์ป ให้กลุ่มเทมาเส็ก , การแก้ไขสัญญาสัปทานมือถือ , ข้อตกลงและสัญญาดาวเทียมไทยคม เป็นต้น
เป็นข้อมูลที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องปรากฏในการเขียนคำพิพากษาขององค์คณะ และคำพิพากษาส่วนตน อันเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าผู้พิพากษาแต่ละคนมีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร ที่จะมีการพูดถึงแนวโน้มการลงมติออกมาล่วงหน้าก่อนวันตัดสินนานหลายสัปดาห์
จึงเห็นชัดว่า มีผู้ไม่ประสงค์ดี ต้องการกดดันการตัดสินคดียึดทรัพย์เกิดขึ้นแล้วนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ข้อปัญหาจะยึดทรัพย์หรือไม่ยึด และถ้ายึดจะยึดเท่าไหร่ ดูเหมือนจะเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง คาดคะเนกันไปต่างๆนานา และมีเหตุผลรับฟังได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
แต่หลักการและเหตุผลที่เป็นพื้นฐานในการคิดเรื่องนี้ มีอยู่ว่า ถ้าศาลฎีกาฯพิจารณาแล้วเห็นว่า ทักษิณและคุณหญิงพจมานซุกหุ้นจริง ประเด็นที่จะพิจารณาในการยึดทรัพย์ก็จะเดินหน้าต่อไป หากศาลเห็นว่า ทักษิณ ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้จำหน่ายหุ้นที่อยู่ในครอบครองของตนออกไปหมด ไม่มีแอบซุกไว้ในชื่อของลูกเลย หุ้นทั้งหมดที่เป็นชื่อของลูกสาว และลูกชายทักษิณ ที่อ้างว่ามีการซื้อขายกันเป็นความจริง ข้อพิจารณาในประเด็นยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ก็จะตกไป
เพราะการเอื้อประโยชน์จากการใช้อำนาจการเมืองให้กับบริษัทชินคอร์ป ทักษิณ และพจมานไม่ได้ประโยชน์ จึงไม่มีความผิด กรณีนี้ถือว่าเป็นก้าวแรก ถ้าก้าวแรกเดินต่อไปได้การพิจารณายึดทรัพย์จึงจะตามมา
แต่คำถามอยู่ที่ว่า จะยึดทั้งหมด 7.6 หมื่นล้านบาทได้หรือไม่ หรือยึดได้บางส่วนที่ได้มาจากที่เพิ่มขึ้นจากการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ ที่เรียกกันว่าเป็นการคอร์รัปชันทางนโยบาย
เรื่องนี้ก็มีหลักคิดว่า การคอร์รัปชันทางนโยบาย เป็นเชื้อร้ายในสังคม ที่บ่อนทำลายการเมืองและการปกครองในไทยมานาน รัฐธรรมนูญ และกฏหมายป.ป.ช. จึงเขียนออกมาป้องกันและปราบปรามการโกงในลักษณะนี้อย่างเด็ดขาด โดยมีเจตจำนงที่จะลงโทษให้นักการเมืองเข็ดหลาบ ดังนั้นการยึดทรัพย์คดีประวัติศาสตร์นี้ ก็น่าจะยึดหลักเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยเคร่งครัด
กรณีหากมีความเห็นสมควรยึดทรัพย์ ทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นในระหว่างมีอำนาจของทักษิณไม่มีปัญหาที่จะต้องพิจารณา แต่ปัญหาอยู่ที่ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนการเข้ามาสู่ตำแหน่งการเมือง จะยึดด้วยได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องว่ากัน แต่หากยึดหลักเจตนารมณ์ของกฏหมายปราบโกงแล้ว ก็ฟันธงได้ว่า จะต้องยึดทรัพย์ทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นการลงโทษให้สาสมกับการกระทำที่ชั่วร้าย
ลองคิดต่อว่า หากพบว่ามีการคอร์รัปชันทางนโยบาย แล้วมีการจับได้ และยึดแต่ทรัพย์สินที่พอกพูนเพิ่มขึ้นจากการโกง คนโกงก็ไม่ได้เสียอะไร มีแต่เจ๊า กับได้ ไม่มีเจ๊งเลย กฏหมายก็ไม่มีอำนาจที่จะทำให้นักการเมืองเกรงกลัว
ขอฝากหลักการดังกล่าวนี้ไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อรอฟังคำพิพากษา ไม่ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จะออกมาในทางใด หวังว่าคนไทยทุกฝ่ายจะน้อมรับคำพิพากษา
เพราะหากสังคมทุกฝ่ายให้การยอมรับคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ก็จะเป็นสัญญาณชี้ว่า สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้าผลออกมาตรงกันข้าม ก็วุ่นแน่