xs
xsm
sm
md
lg

26 ก.พ.นัดชี้ชะตา"แม้ว" คดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-นัดสุดท้ายไต่สวนยึดทรัพย์"ทักษิณ" อดีต รมว.ไอซีที เจ้าหน้าที่จากตลาดหลักทรัพย์ฯ.-กทช. เรียงหน้ายันพฤติกรรมกลโกง ศาลแถลงหมดพยาน ยกเลิกนัดไต่สวนนัด 14 ม.ค.สั่งคู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 30 วัน นัดฟังคำพิพากษา 26 ก.พ.นี้ เวลา 13.00 น.

วานนี้(12 ม.ค.) เวลา 09.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานอัยการ คดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัว อันเป็นการทับซ้อนประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม รวมทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อบุคคลในครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด รวม 22 ราย ซึ่งเป็นผู้คัดค้าน มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาท ที่ได้จากการขายหุ้นในเครือบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตกเป็นของแผ่นดิน

โดยศาลเรียก นายสิทธิชัย โภไคยอุดม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้าเบิกความสรุปว่า ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการดำเนินการในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รวม 3 กรณี คือ การภาษีสรรพสามิต กรณีโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกรณีดาวเทียมไอพี สตาร์ ซึ่งในกรณีภาษีสรรพสามิต พยานเห็นว่า เมื่อ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทศท คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) อ่อนแอลงทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่จะได้รับบริการด้านโทรคมนาคม โดยพยานมีข้อสงสัยว่าเมื่อรัฐบาลมีนโยบายในการเรียกเก็บภาษีแสดงว่ารัฐบาลต้องการหารายได้ แต่ ครม.ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กลับมีมติให้เอกชนที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตคืนจากรัฐได้ ซึ่งทำให้รัฐไม่ได้เงิน แม้มีบางคนอ้างว่าไม่ได้ทำให้รัฐเสียหายที่จะต้องจ่ายเงิน แต่พยานเห็นว่าเป็นการทำให้รัฐเสียหายกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพราะไม่สามารถนำรายได้จากการเก็บภาษีสรรพาสามิตเข้าสู่รัฐได้ พยานจึงเสนอ ครม.ในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ มีมติให้ยกเลิกมติ ครม.ที่อนุญาตให้เอกชนเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตคืนจากรัฐได้ ซึ่งเมื่อ ครม.ยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าวแล้ว กรมสรรพสามิตสามารถเรียกเก็บภาษีได้จำนวนกว่า 1 พันล้านบาทเศษ ภายในระยะเวลา 1 เดือน นอกเหนือจากส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ให้บริการต้องจ่ายให้แก่รัฐ

นายสิทธิชัย เบิกความต่อว่า การเปลี่ยนแปลงการเก็บค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือเป็นภาษีสรรพสามิต เป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในทางธุรกิจอย่างแยบยล ไม่ให้นักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศหรือมาเป็นคู่แข่ง โดยตั้งแต่เริ่มแรกผู้ให้บริการรายเดิมทยอยลงทุน แต่ขณะเดียวกันนั้นประชาชนผู้ใช้บริการต้องเสียค่าซื้อเครื่องโทรศัพท์ เครื่องละหลายหมื่นบาท และต้องเสียค่าใช้บริการในอัตราที่สูงถึงนาทีละ 8 – 12 บาท มานานกว่า 10 – 15 ปี แม้ผู้ให้บริการรายเดิมจะต้องลงทุนไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ก็เชื่อว่าน่าจะได้กำไรจากการลงทุนไปนานแล้ว และที่อ้างว่าสถานีเครือข่ายที่ก่อสร้างแล้วได้โอนให้รัฐตามสัญญาแล้วเป็นเพียงข้อความในกระดาษ เพราะความจริงแล้วผู้ให้บริการรายเดิมยังคงใช้ประโยชน์จนถึงปัจจุบัน

นายสิทธิชัย เบิกความว่า สำหรับกรณีโทรศัพท์เคลื่อนที่ นั้นเกิดจากการที่สหภาพแรงงาน กสท. และ ทศท. เข้าร้องเรียนให้ตรวจสอบ ซึ่งครั้งแรกพยานพยายามขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ให้บริการร่วมมือในการแก้ไขสัญญาให้เป็นธรรม แต่คิดว่าคงไม่มีทางเป็นไปได้ จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบรายละเอียด และทำหนังสือสอบถามไปยังกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า การเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายครั้งของทุกบริษัท ล้วนผิดกฎหมายทั้งสิ้น

จากนั้นศาลเรียก นายทศพร เกตุอดิศร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช. ) เข้าเบิกความ สรุปว่า การแก้ไขปัญหาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการใช้เต็มคลื่นความถี่นั้น ทางเทคนิคไม่สามารถทำได้ แต่ทางด้านการตลาดแล้วสามารถไปเช่าเครือข่ายอื่นขอใช้บริการได้ ส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่ เอไอเอส ได้รับ 7.5 เมกะเฮิรซ์ ส่วน ดีแทค ได้รับ 25 เมกะเฮิรซ์

ต่อมาศาลเรียกนายธีรยุทธ ศรีบุญ รองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการซื้อขายหุ้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เข้าเบิกความในประเด็นเปรียบเทียบการปรับตัวของดัชนีหุ้น บ.ชินคอร์ปฯ และเอไอเอส เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นรวม ตั้งแต่ 1 กันยายน 2543 – 30 มกราคม 2550 สรุปว่า หุ้น บ.ชินคอร์ปฯ มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 131

ขณะที่ช่วงบ่ายศาลเรียกนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิช รองประธานสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เข้าเบิกความเกี่ยวกับมติครม.สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 ที่กำหนดให้มีการเปิดเสรีทางโทรคมนาคม 4 ประเภท ได้แก่โทรศัพท์พื้นฐาน แฟกซ์ เทเลพิมพ์ และเทเลกราฟ จนนำมาสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ว่า เป็นการตีความที่ผิดพลาด เนื่องจากการแก้ไขเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเสรี และทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ต่อมากระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้างบริษัท ธนสาร และบริษัทที่ปรึกษาอื่นรวม 3 บริษัทเกี่ยวกับการแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ขณะเดียวกันคณะกรรมการกำกับรัฐวิสาหกิจก็ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาเช่นเดียวกัน โดยทั้งสองมีความเห็นทั้งเห็นด้วยและแตกต่างกัน แต่ล้วนแต่ทำให้รัฐเสียหายเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน อาทิ บ.ธนสาร เสนอให้ยุติการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐตามที่เคยทำสัญญาสัมปทานไว้ ส่วนคณะอนุฯของรัฐวิสาหกิจ เสนอให้โอนโครงข่ายโทรศัพท์เป็นของรัฐตามเปอร์เซ็นต์ หรือ แปลงค่าสัมปทานเป็นหุ้น ซึ่งหากดูผิวเผินเหมือนเป็นข้อเสนอที่เป็นธรรม แต่จริงๆ แล้วค่าสัมปทานนั้นเป็นรายได้ที่ต้องจ่ายให้รัฐก่อนที่จะหักรายจ่ายอื่น ๆ แต่ถ้าเป็นหุ้นต้องถูกหักรายจ่ายก่อนปันผล จึงเห็นว่าเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน

นายสมเกียรติ เบิกความว่าต่อมากระทรวงคมนาคมได้ว่าจ้างให้พยานร่วมกับนักวิชาการประมาณ 10 คน พิจารณาความเห็นของทั้งสองฝ่าย แล้วสรุปว่าการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ไม่มีความจำเป็น เพราะไม่เกิดประโยชน์และตามหลักการแล้วการแก้ไขสัญญาก็ไม่ควรไปเพิ่มประโยชน์ให้กับคู่สัญญามากกว่าสัญญาที่ทำไว้เดิม โดยเฉพาะการโอนสิทธิต่าง ๆ ที่รัฐควรได้รับไปให้กับเอกชน โดยหลักการเก็บภาษีสรรพสามิต เนื่องจากรัฐต้องการหารายได้ และจะเก็บภาษีในสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จะก่อให้ความเดือดร้อนกับผู้บริโภคหรือสังคมในภายหลังทั้งทางด้านสุขภาพและมลภาวะ

นายสมเกียรติ เบิกความว่าพยานเคยทำงานวิจัยเรื่องสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับตลาดหุ้นไทย แม้พยานทำเพียงคนเดียวแต่มีความเป็นเอกเทศ และสอดคล้องกับงานวิจัยอื่น โดยสรุปว่า หุ้นธนกิจการเมืองที่ถือครองโดยคณะรัฐมนตรี นักการเมืองหรือเครือญาติ มีผลตอบแทนสูงกว่าธุรกิจอื่นทั่วไป โดยการขึ้นลงของราคาหุ้นมีความสัมพันธ์กับนโยบายและเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น ครม.มีมติเก็บภาษีสรรพสามิต การที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเดิม ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ทำให้ราคาหุ้นชินคอร์ปทั้ง 5 ตัว ทั้ง ชินคอร์ปฯ ไอทีวี เอไอเอส หรือ ทหารไทย มีผลตอบแทนดีกว่าหลักทรัพย์ประเภทใกล้เคียงกันสูงถึงร้อยละ 141 หมายความว่า ถ้าหุ้นตัวอื่นกำไร 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วหุ้นชินคอร์ปกำไร 100 เปอร์เซ็นต์ บวกอีก 141 เปอร์เซ็นต์

นายสมเกียรติ เบิกความตอบคำถามซักค้านทนายความผู้คัดค้าน ในประเด็นศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยในประเด็นที่ ครม. พ.ต.ท. ทักษิณ มีมติเกี่ยวกับเรื่องเก็บภาษีสรรพสามิตมีอำนาจทำได้ ซึ่งนายสมเกียรติ ค้านว่าเป็นคนละประเด็นกับศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประเด็นงานวิจัยและหนังสือรู้ทันทักษิณของพยานเป็นความเห็นส่วนตัว เป็นอคติที่พิพากษา พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำผิดทุจริตไปแล้ว นั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่าเป็นความเห็นทางวิชาการ ส่วนคำพิพากษานั้นเป็นดุลพินิจของศาล

ภายหลัง นายสมเกียรติ เบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ศาลแถลงหมดพยาน เสร็จสิ้นการไต่สวน พร้อมกับมีคำสั่งยกเลิกนัดไต่สวนพยานในวันที่ 14 ม.ค.นี้ และให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน นับแต่วันนี้ หากไม่นำส่งภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.พ.นี้ เวลา 13.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น