น่าสนใจไม่น้อย กรณีคณะองค์ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ที่กำลังพิจารณา คดียึดทรัพย์ 7 หมื่น 6 พันล้าน มีคำสั่งนัดไต่สวนเพิ่มอีก 2 นัด อันได้แก่ วันที่ 12 และ 14 มกราคม หลังเสร็จสิ้นการขึ้นเบิกความของพยาน ฝ่ายอัยการ 2 ปากสุดท้าย คือ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และนายกล้าณรงค์ จันทิก หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งนอกจากจะทำให้กำหนดการอ่านคำพิจารณาคดี ที่คนไทยทั้งประเทศจับตามอง จะต้องเลื่อนออกไปอยู่ที่ประมาณภายในเดือนกุมภาพันธ์แล้ว
รายชื่อพยานหลักฐานที่คณะองค์ผู้พิพากษาเรียกขานเพิ่มเติม ก็เริ่มทำให้เห็นแนวโน้มแห่งคดีไปด้วยว่าจะไปในทิศทางใด ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตมินำมาพูดถึงในทางที่จะไปก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลแต่ประการใดในวันนี้ แต่จะขออนุญาตหยิบยกความในอดีตเกี่ยวกับเนื้อหาแห่งหลักฐานที่ศาลท่านเรียกเพิ่มขึ้นมาฟื้นความจำผู้อ่าน เพื่อให้ได้ก้าวตามทัน การพิจารณาคดีที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงฉากหน้าการเมืองบ้านเรา
เริ่มกันด้วย ส่วนแรก คือ พยานเอกสารจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เกี่ยวกับการสอบสวนคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บ.เอสซีแอสเซท เอกสารที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว, เอกสารแปลการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ บ.วินมาร์คฯ
ข้อมูลในพยานเอกสารข้างต้นเกี่ยวข้องกับการยืนยันเรื่องการถือครองหุ้นของ นช.ทักษิณ และภรรยา ผ่านนอมินีทั้งหลายทั้งกองทุนต่างประเทศ และญาติมิตรพี่น้อง ซึ่งสุดท้ายทำให้มีการตั้งข้อกล่าวหาว่า ทักษิณยังคงเป็นเจ้าของชินคอร์ปตั้งแต่วันแรก จนถึงวันที่ขายหุ้นบิ๊กล็อตให้กับเทมาเส็ก
หากจำได้ในยุคที่ DSI ยังมีอธิบดีชื่อนายสุนัย มโนมัยอุดม สำนวนคดีปกปิกโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทเอสซีแอสเสท ในมือ DSI เป็นหนึ่งในคดีอาญาที่ทั้งฝ่ายรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มั่นใจในพยานหลักฐานว่าจะสามารถใช้ลงโทษ ทักษิณ ชินวัตร และพวกได้อย่างแน่นอน อธิบดีสุนัยเคยตั้งโต๊ะแถลงถึงบทสรุปของคดีนี้ เมื่อ19 มิถุนายน 2550 ระบุว่า กองทุน Win Mark กับ Ample rich อยู่ภายใต้การควบคุมของคนคนเดียวกัน คือ นช.ทักษิณ ซึ่งตอนหนึ่งของการตอบคำถามสื่อมวลชน ท่านสุนัยระบุว่า
“...ส่วนกรณี Win Mark Limited หลักฐานของดีเอสไอค่อนข้างแน่ชัด Win Mark เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณแน่นอน ในเมื่อ Win Mark เป็นของคุณทักษิณ ไม่ว่ามันจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม มันก็คือของท่านอยู่แล้ว ส่วนพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ดีเอสไอ ยังเปิดเผยไม่ได้จริงๆ เพราะขนาด คตส.มาขอสำนวนไปเลย จะเอาไปประกอบในการพิจารณาคดี Ample rich เรายังส่งให้ไม่ได้ เป็นความลับ…” (สัมภาษณ์พิเศษในประชาชาติธุรกิจ, 9-11 กรกฎาคม 2550)
ตรงนี้น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมศาลจึงต้องเรียกพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพราะเอกสารส่วนนี้จนปัจจุบันน่าเชื่อว่าจะยังอยู่ที่ DSI หลังอัยการตัดสินใจสั่งไม่ฟ้อง และเป็นส่วนที่ คตส. ไม่น่าจะได้นำมารวมไว้ในสำนวนฟ้องคดียึดทรัพย์ได้ เพราะตามขั้นตอนการทำงานเดิม 13 คดีในมือ คตส. กับคดีเอสซีแอสเสทในมือ DSI แยกกันไปทำงานคนละส่วน
ที่นี้เรามาดูความสำคัญของหลักฐานดังกล่าวกันบ้าง ในการแถลงข่าวของอธิบดีสุนัยเมื่อกรกฎาคม 2550 ท่านอธิบดีสุนัย ท่านให้น้ำหนักหลักฐานที่ท่านได้มาในมืออย่างน่าสนใจ
“…ดีเอสไอมี หลักฐานการโอนเงินชัดเจน เมื่อวินมาร์คฯ เป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงยืนยันได้ว่าเงิน 1,527 ล้านบาท ที่นำมาซื้อหุ้นเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ โดยเงินดังกล่าวถูกโอนเข้ามาก่อนการเลือกตั้งปี 2543 ส่วนเงินจะถูกนำมาใช้ทำอะไรนั้นไม่ทราบ…
…สมมติว่า บริษัท ก. ก็ของผม บริษัท ข. ก็ของผม มองแค่นี้ก็ชัดแล้ว เราจะดูว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจควบคุม หลักฐานเท่าที่ดีเอสไอมีอยู่ในสำนวน เราเชื่อว่า ชัดเจน เอาอย่างนี้ คือ มาตรฐานของกรมสอบสวนคดีพิเศษในยุคของผมจะต้องมีพยานหลักฐานที่หนักแน่นพอเมื่อเสนอต่อศาลแล้ว…” (สัมภาษณ์พิเศษในประชาชาติธุรกิจ, 9-11 กรกฎาคม 2550)
เพราะมั่นใจในหลักฐาน หลังการแถลงข่าวเพียงไม่กี่วัน พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกบริษัทเอสซีแอสเสท นางบุษบา ดามาพงศ์ พ.ต.ท.ทักษิณ และภรรยามารับทราบข้อกล่าวหา ก่อนตามมาด้วยหมายจับสองสามีภรรยาที่ไม่ยอมมารับทราบข้อกล่าวหา แต่ใครเลยจะเชื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2551 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนใหม่ในยุคสมัคร สุนทรเวช ได้ลงนามคำสั่งเด้ง นายสุนัย มโนมัยอุดม ไปช่วยราชการในตำแหน่งรักษาการเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) และยังมีของแถมเป็นหมายจับให้ท่านในภายหลังด้วยข้อหาหมิ่นประมาททักษิณด้วย
ส่วนที่สอง เอกสารจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 และวันที่ 30 เมษายน 2546 เรื่องความเห็นและข้อเสนอแนะของ สป.เรื่องการแปลงสัญญาณกิจการโทรคมนาคม
พยานเอกสารและพยานบุคคลจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องของคณะกรรมการประสานงานการจัดสรรคลื่นความถี่ วันที่ 25 มกราคม 2543, พยานบุคคลและเอกสารหลักฐานจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) วันที่ 12 ธันวาคม 2549 เรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต
พยานเอกสารพยานบุคคลสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เรื่องการศึกษาการแปลงสัญญาร่วมการงานกิจการโทรคมนาคม ของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ส่วนนี้เป็นข้อมูลที่ยืนยันให้เห็นว่า นโยบายของรัฐบาลของนายทักษิณ หนึ่งในนั้นก็คือ กรณีการแปรสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม ปรากฏว่า มีหลายหน่วยงานหลัก ที่จัดทำคำทักท้วงก่อนหน้าคณะรัฐมนตรีจะผลักดันออกมาเป็นนโยบาย ว่ามันไม่ได้ให้แก่ประโยชน์ชาติ กลับกันจะเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์ บริษัทเอกชนบางบริษัทที่มีนักการเมืองเป็นเจ้าของ ในลักษณะออกนโยบายเอื้อประโยชน์ธุรกิจตัวเอง และอาจนำไปสู่ปัญหา “ผลประโยชน์ขัดกัน”
ยกตัวอย่างเช่น รายงานการศึกษาการแปลงสัญญาร่วมการงานกิจการโทรคมนาคมของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่ชี้ว่า การแปรสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม ยุคทักษิณ เท่ากับเป็นการให้อำนาจนักการเมืองเข้าไปแทรกแซงตลาดโทรคมนาคมในประเทศ ปิดกั้นผู้ประกอบการรายใหม่ จนอาจจะนำไปสู่การผูกขาดธุรกิจ โดยกลุ่มผู้ประกอบการรายเก่า ที่มี AIS ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดคนในรัฐบาล ได้ประโยชน์ด้วย และว่า การออกนโยบายเช่นนี้เป็น แทบจะไม่มีประเทศใดในโลกเขาทำกัน
ขณะที่ เอกสารจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 และวันที่ 30 เมษายน 2546 เรื่องความเห็นและข้อเสนอแนะของ สป.เรื่องการแปลงสัญญาณกิจการโทรคมนาคม ยิ่งชัดเจนเป็นหนังสือลงนามโดย นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประทับตราว่า ด่วนที่สุด เนื้อหาระบุว่า สป.ได้รับการร้องเรียนจากเครือข่ายองค์กรประชาชน 5 องค์กร เรื่องขอให้เป็นเจ้าภาพ สร้างการมีส่วนร่วมของสังคมในกระบวนการแปรสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม
หลังภาคประชาชนเห็นว่า ผลการศึกษาเรื่องดังกล่าวที่กระทำโดย คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ หรือ กนอ. ยุคที่มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นประธาน กำลังให้ข้อมูลอ้างอิงการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีเนื้อหาขัดแย้งกับ รายงานของหน่วยงานที่น่าเชื่อถืออื่นๆ อาทิ มูลนิธิสถาบันวิจัย ทีดีอาร์ไอ หรือแม้แต่สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สป.จึงแก้ปัญหา โดยจัดให้มีการระดมสมอง
ก่อนสุดท้าย สป.จะได้ข้อสรุปเสนอรัฐบาลว่า ไม่มีความจำเป็น ต้องแปรสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด ทั้งยังเตือนว่า การเดินหน้านโยบายดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนร่วม ต้องทำอย่างระวังเพราะเกี่ยวข้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ และยังเตือนถึงเรื่องของผลประโยชน์ขัดกัน หรือ Conflict of interest
ส่วนสุดท้าย ข้อมูลจากส่วนของตลาดหุ้นคงจะชี้ได้ถึงการหาประโยชน์จากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น เมื่อรัฐบาลออกนโยบายเอื้อธุรกิจตนเอง จนส่งผลให้หุ้นของคนในรัฐบาลได้รับประโยชน์ มูลค่าการถือครองปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัว