xs
xsm
sm
md
lg

วุ่นไม่เลิกผูกแปรสัญญากับ3G เสนอแปรสัญญาสัมปทานก่อนประมูลใบอนุญาต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาพิจารณ์ 3G รอบสองเดือด ทีดีอาร์ไอเสนอแปรสัญญาสัมปทานก่อนประมูลใบอนุญาต ด้านค่ายมือถือประสานเสียงแปรสัมปทานกับประมูลใบอนุญาตใหม่คนละเรื่อง ด้านกทช.ถามกฤษฎีกาเรื่องอำนาจและการประมูลใบอนุญาตต้องเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 35 หรือไม่แล้ว

เมื่อวานนี้ (12พ.ย.) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ครั้งที่ 2 ในเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ IMT หรือ 3G and beyond ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการกทช. กล่าวว่ากรณีที่หลายฝ่ายมีข้อสงสัยในประเด็นอำนาจหน้าที่ของกทช.นั้น กทช.จะยื่นเรื่องให้สำนักงานกฤษฏีกาให้ความเห็นใน 2 ประเด็น คือ 1.กทช.มีอำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตให้บริการ 3Gตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ และ2.การออกใบอนุญาต 3G จะเข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมการงานระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ศ. 2535 หรือไม่

ส่วนกรอบเวลาในการประมูล 3G นั้นขึ้นอยู่ว่าจะสามารถประกาศสรุปข้อสนเทศได้เมื่อไหร่ และจะให้เวลาผู้สนใจยื่นข้อเสนอภายในกี่วัน ซึ่งตามแผนยังคาดว่าน่าจะประมูลได้ภายในไตรมาสแรกปีหน้า โดยเขาย้ำว่า 3G ต้องเดินหน้ามีปัญหาช่วยกันแก้ไข

ด้านพล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกทช. กล่าวว่า ถ้าการรับฟังความคิดเห็น 3Gในครั้งนี้ ไม่มีประเด็นข้อสงสัยที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก กทช.จะเดินหน้าต่อไป แต่หากยังมีข้อสงสัยอยู่มาก ก็จะต้องเปิดให้รับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง

****ทีดีอาร์ไอเสนอแปรสัญญาก่อน

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอกล่าวแสดงความเห็นว่า การศึกษาของบริษัท เนร่า ที่ปรึกษาการเปิดประมูลใบอนุญาต 3Gของ กทช.นั้น ถือว่ายังมีปัญหาสำคัญ เพราะเป็นการศึกษาจากห้องที่มีช้างตัวใหญ่ แต่เนร่ามองไม่เห็นช้าง ช้างที่ว่าคือ สัญญาสัมปทาน และการโอนย้ายลูกค้า ซึ่งเป็นช้าง 2 ตัวที่เป็นข้อผิดพลาดซึ่งสำคัญมาก

‘การศึกษาเปรียบเทียบ 60-70 ประเทศทั่วโลก ไม่สามารถทำได้กับประเทศไทยทั้งหมด เพราะประเทศเหล่านั้นไม่มีสัญญาสัมปทาน ขณะที่การโอนย้ายลูกค้า ช่องว่างค่าไลเซ่นส์ในต่างประเทศระหว่าง 2G กับ 3G ไม่ต่างกัน แต่ในไทยแตกต่าง 18.5-20% จึงเป็นการเร่งให้ผู้ให้บริการโอนย้ายลูกค้าไปสู่ 3G’

สำหรับกระบวนการรับฟังประชาพิจารณ์ครั้งนี้ กทช.ยังไม่มีภาพใหญ่ คือ โครงสร้างตลาดโทรคมนาคมไทยในอนาคต หลังการเปิดให้บริการ 3G จะเป็นอย่างไร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะกระทบกับรายใหม่ รายเดิม รัฐวิสาหกิจ และผลกระทบต่อผู้บริโภค กทช.ควรกำหนดโครงสร้างนี้ให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตามเห็นด้วยที่จะให้มี 3G แต่ต้องเป็นวิธีการที่ดี วิธีแรกคือการแปรสัญญาสัปทานรัฐวิสาหกิจให้แล้วเสร็จก่อนการประมูล ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากเพราะมีผลประโยชน์ และเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ถ้าทำได้จะเป็นวิธีที่สุด อีกหนึ่งแนวทางคือการทยอยเปิดประมูล เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง

****ทรูชี้แปรสัญญาคู่กับ 3G

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าต้องการให้ภาครัฐเร่งผลักดันการแปรสัญญาสัมปทานควบคู่ไปกับการประมูลใบอนุญาต 3G ไม่ใช่รอให้มีการแปรสัญญาให้เสร็จก่อน ซึ่งการแปรสัญญาภายใต้กฎหมายประกอบการกิจการโทรคมนาคม สามารถยกเลิกสัญญาสัมปทานได้โดยคู่สัญญาสามารถเจรจาและตกลงยินยอมที่จะยกเลิกสัญญา โดยการแปรสัมปทานอาจจะใช้รูปแบบเปิดให้เอกชนเช่าใช้โครงข่ายเดิมด้วยต้นทุนที่เหมาะสม หรือแปลงทรัพย์สินเป็นทุน หรือการแปลงทรัพย์สินเป็นเงิน แต่ควรจะเปิดโอกาสให้เอกชนผ่อนจ่ายแทนการเรียกเก็บเพียงครั้งเดียวซึ่งรูปแบบจะเป็นการทำสัญญาฉบับใหม่หรืออาจจะเป็นการเช่าโครงข่ายแทน

ทรูได้เสนอ 3 เรื่องหลักได้แก่ 1.ในด้านความมั่นคง เสนอให้รัฐวิสาหกิจต่างชาติ อย่างเทเลนอร์ และเทมาเส็กลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ไม่มีอำนาจในการบริหารและไปถือหุ้นในกองทุนผู้ถือหุ้นต่างด้าว(Thai trust found) แทนแล้วรับปันผลอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่มาทำธุรกิจแอบแฝง

2. การจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเท่าเทียมกันไม่ใช่การจัดสรรแบบปัจจุบัน 10 เมกะเฮิรตซ์ 3 ใบและ15 เมกะเฮิรตซ์ 1 ใบ เปลี่ยนเป็น 10 เมกะเฮิรตซ์ทุกใบ หรือ 15 เมกะเฮิรตซ์ทุกใบ และ 3.เงื่อนไขการสร้างโครงข่ายควรปรับเป็นวางให้ครอบคลุม 90 % ภายใน 2 ปี เพื่อเน้นการกระจายบริการให้ประชนทั่วถึงแล้วหลังจากนั้นจึงให้เอกชนผ่อนจ่ายค่าใบอนุญาต และควรกำหนดเงื่อนไขให้มีการร่วมใช้โครงข่ายของผู้มีอำนาจเหนือตลาด
โดยปัจจุบันผู้ที่มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 30 % ถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด

****AISชี้แปรสัญญาก่อน3G ไม่ถูกต้อง

นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นกล่าวว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติและเป็นของทุกคนในประเทศ การประมูลคลื่นความถี่ไม่ใช่การขายคลื่น แต่เป็นการขายสิทธิ รัฐบาลได้รายได้จากการประมูล 3G และจากการทดลองวิธีประมูลที่กทช.จัดทำขึ้น ตนขอยืนยันว่ามีความโปร่งใสมาก เพราะเป็นวิธีการประมูลที่นำประสบการณ์จากหลายๆประเทศมาปรับปรุงใช้

ส่วนเรื่องการโอนลูกค้าจากระบบ 2G ไปเป็น 3G ที่รัฐวิสาหกิจเป็นกังวล ในตลาดการแข่งขันที่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกว่าจะใช้บริการของผู้ให้บริการรายใด

‘การโอนย้ายลูกค้าโทรศัพท์มือถือไม่ได้เหมือนตึกเก่า หรือรถกะบะที่จะย้ายอย่างไรก็ได้ ผู้ใช้มือถือมีชีวิตจิตใจ มีวิจารณญาณ ในการเลือกบริการที่พึงประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุดกอปรกับโครงข่ายโทรศัพท์ มือถือไม่ได้ใช้ระยะเวลาอันสั้นในการสร้าง’

นายสมประสงค์กล่าวว่าการแปรสัญญาสัมปทานกับการประมูลใบอนุญาตใหม่ของ กทช.ถือเป็นคนละเรื่องกันดังนั้นข้อเสนอที่ให้มีการแปรสัมปทานก่อนที่จะประมูลใบอนุญาต เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าการแปรสัญญาสัมปานจะไม่สามารถทำได้เพราตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นแต่ก็ไม่สามารถทำได้ฉะนั้นช่วงเวลาหลังจากนี้ก็ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้นเพราะอายุสัญญาสัมปทานเหลืออยู่เพียง 6 ปี

แต่เอไอเอสยังมองในแง่ดีว่า กทช.จะสามารถเดินหน้าประมูล 3Gได้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า เพราะเชื่อว่าการดำเนินการของกทช.เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ส่วนกรณีที่เอไอเอสถูกเพ่งเล็งว่าเป็นรัฐวิสาหกิจต่างชาตินั้นขอยืนยันว่าเอไอเอสเป็นบริษัทไทยตามกฎหมายไทยแน่นอน

****ดีแทคหนุนเร่งประมูล 3G

นายทอเร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ( ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทคสนับสนุนการเดินหน้าประมูล 3G เพราะเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ผ่านมาประเทศไทยสูญเสียโอกาสจากความล่าช้าในการประมูล 3G มามากแล้ว บริการ 3Gจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในทุกภาคส่วน โดยจะส่งผลดีต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศซึ่งเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของเอกชนจะทำให้รัฐได้ผลตอบกลับจากภาษี และยืนยันว่าดีแทคเป็นบริษัทไทย ตามกฎหมาย

นายธนา เธียรอัจริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่ากรณีการแก้สัญญาสัมปทานมองว่า เป็นเรื่องที่มีการพูดมาเป็นระยะเวลานานมากแล้วเป็น 10 ปี แต่จะให้มาเปลี่ยนภายในปีนี้น่าจะเป็นไปไม่ได้ ควรแยกเรื่องสัญญาสัมปทานออกเป็น 2 เรื่อง จากการประมูลใบอนุญาต 3G แต่ในขณะเดียวกันกทช.ไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการแปรสัญญาสัมปทาน
กำลังโหลดความคิดเห็น