xs
xsm
sm
md
lg

ยึดก็ยุ่ง–ไม่ยึดก็วุ่น ต่อเวลาพิเศษ 7.6 หมื่นล้าน "นช.ทักษิณ-แดง"เลื่อนนัดเผาเมือง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


การนัดหมายชุมนุมใหญ่ของ “คนเสื้อแดง” ในต้นปี 2553 ที่เดิมมีข่าวว่าแกนนำคนเสื้อแดงจะประกาศดีเดย์นัดเป่านกหวีดรวมพลในระหว่างงานชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 31 ธันวาคม 2552 ที่ฐานทัพใหญ่คนเสื้อแดงคือ สนามกีฬา 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ อาจต้องเลื่อนออกไปอีกสักระยะ

เหตุไม่ใช่เพราะ นช.ทักษิณ ชินวัตร หรือแกนนำเสื้อแดงไม่ต้องการทำลายบรรยากาศความสุขของคนไทยในช่วงปีใหม่ แต่เป็นเพราะจำต้องเปลี่ยนแผนกระทันหัน

หลังจากเดิมที่คิดว่าในช่วงปลายปี น่าจะได้รู้วันนัดอ่านคำตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทของ “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง” แต่เมื่อองค์คณะตุลาการผู้พิจารณาสำนวนได้นัดไต่สวนพยานเพิ่มอีก 2 ครั้ง

คือ ในวันที่ 12 และ 14 มกราคม 2553

พร้อมเรียกเอกสารสำคัญจากหลายหน่วยงาน รวมถึงพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ เอกสารเกี่ยวกับการมีชื่อถือหุ้นในบริษัท วินมาร์ค ซึ่งในสำนวนฟ้องและการเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์ระบุว่าเป็นบริษัทนิติกรรมอำพรางที่ถือหุ้นชินคอร์ป เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(กลต.) จาก “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)”

ข้อมูลสำคัญอีกหลายเรื่องจากหน่วยต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บริษัทไทยคม ธนาคารกรุงไทย บริษัท จัสมินฯ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

จึงเป็นเหตุให้ ปฏิทินการคาดการณ์เดิมของหลายฝ่ายว่า ก่อน 30 ธ.ค.52 น่าจะมีการนัดอ่านคำตัดสินคดียึดทรัพย์ แต่สุดท้ายวันนัดต้องเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 3 สัปดาห์ จึงเป็นเหตุให้นัดหมายชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดง เพื่อเผาบ้าน-เผาเมือง จำต้องเลื่อนออกไปด้วย !

เนื่องมาจากคำประกาศของศาลฎีกาฯ ที่เพิ่มวันสืบพยานอีก 2 นัดในปี 53 วิเคราะห์กันว่า นอกจากมีผลต่อรูปคดีแล้ว ยังจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อสถานการณ์การเมือง

ก็เป็นอย่างที่เราได้ระบุไว้ในตอนต้นว่า คดีประวัติศาสตร์นี้ มีผลโดยตรงต่อการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เพราะวันนี้ นัดหมายชุมนุมใหญ่เผาบ้าน-เผาเมืองของคนเสื้อแดงและนช.ทักษิณ ขึ้นอยู่กับปัจจัยเพียงไม่กี่เรื่อง

เช่น การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย ว่าจะมีขึ้นเมื่อใด เพื่อแผนยุทธศาสตร์ล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แบบ “คู่ขนาน” เสื้อแดงก็จะออกมาเคลื่อนไหวข้างถนน

คือ เพื่อไทยเปิดแผลเล่นงานรัฐบาลในสภาฯ ผ่านช่องทางการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังเปิดสภาฯปลายเดือนมกราคม 53 ส่วนนอกรัฐสภา เป็นหน้าที่ของ “นช.ทักษิณ และคนเสื้อแดง” ที่จะเดินเกมล้มอภิสิทธิ์ และศัตรูการเมืองอย่าง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

นักวิเคราะห์การเมืองมีมุมมองแตกต่างกันออกไป อันจะก้าวล่วงศาลไม่ได้ แต่บ้างก็ว่า ไม่เป็นผลดีต่อทักษิณเท่าใดนัก เพียงแต่อาจทำให้เวลาที่เพิ่มขึ้นซึ่งเหมือนกับ “การต่อเวลาพิเศษ” ทำให้นช.ทักษิณ ได้เตรียมตัวเตรียมใจและวางแผนไตร่ตรองให้เด็ดขาดว่าจะเดินแผนอย่างไร

เหตุเพราะจากการติดตามการสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีนี้หลายนัดที่ผ่านมา แม้นช.ทักษิณจะไม่เคยมานั่งฟังในห้องพิจารณาคดีด้วยตัวเอง แต่จากการบอกเล่า และสรุปผลการพิจารณาคดีในแต่ละนัดก็น่าจะทำให้

นช.ทักษิณหนักใจไม่ใช่น้อย

กับการนำสืบของอัยการที่นำพยานแต่ละปากเข้าเบิกความ เพื่อแสดงให้เห็นว่า นช.ทักษิณมีความผิดตามคำฟ้อง คือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงห้าปีกว่าที่ผ่านมา ด้วยการออกกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรี ที่เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจในเครือชินคอร์ป ที่ทักษิณ ถือหุ้นเอาไว้ผ่านนอมินี

จนทำให้มีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า ร่ำรวยผิดปกติ

เพราะประเด็นต่างๆ ที่ คตส.และอัยการตั้งไว้แล้วนำสืบเพื่อแสดงให้เห็นความผิดของนช.ทักษิณ ในเรื่องผลประโยชน์ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว และผลประโยชน์ส่วนรวม ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจชินคอร์ปฯ รวม 5 เรื่อง ได้แก่

1. การออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมการเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม ที่ทำให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) คู่สัญญาสัมปทาน บริษัท เอไอเอส บริษัทในเครือชินคอร์ป ต้องเสียหายจัดเก็บรายได้ลดลง เพราะเอไอเอส นำค่าสัมปทานรายได้ไปหักเป็นภาษี

2. การแก้ไขสัญญาการจัดเก็บรายได้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบบัตรเติมเงิน จากที่ เอไอเอส ต้องจ่ายในอัตราก้าวหน้า 20-30 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2533-2558 เหลือจ่าย 20 เปอร์เซ็นต์ตลอดอายุสัมปทาน ทำให้ทีโอที เสียประโยชน์รวม 6 หมื่นล้านบาท

3. การแก้ไขสัญญาลงทุนโครงข่ายสัญญาณร่วมกัน หรือโรมมิ่ง ซึ่งเดิม เอไอเอสต้องลงทุนสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่กลับใช้เครือข่ายของบริษัท ดีพีซี ซึ่งจากการตรวจสอบ บริษัท ดีซีพี มีบริษัท เอไอเอส เป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำให้เอไอเอสได้ลดค่าใช้จ่ายลงทุน 1 หมื่นล้านบาท จึงมีรายได้เพิ่มขึ้น

4. การละเว้นหรืออนุมัติช่วยเหลือกิจการดาวเทียม ด้วยการไม่ส่งดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมสำรองไทยคม 3 กลับส่งดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งใช้ประโยชน์ในกิจการต่างประเทศมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ขัดกับสัญญาที่ให้ยิงดาวเทียมเพื่อใช้ในกิจการของประเทศ

5.การให้เอ็กซิมแบงก์ ปล่อยกู้พม่า 4,000 ล้านบาท รวมทั้งพฤติการณ์ “ซุกหุ้น-นิติกรรมอำพราง” ของนช.ทักษิณ ผ่านหุ้นนอมินีต่างๆเช่น แอมเพิล ริช,วินมาร์ก ที่เข้าไปถือหุ้นชินคอร์ปและบริษัทในเครือข่ายผ่านกองทุนโอจีเอฟและโอดีเอฟ ผ่านนอมินีอีกทอดหนึ่งคือ บริษัทบลูไดมอนด์ และกองทุนซิเนตรา ทรัสต์ ทำให้ผู้ถือหุ้นชินคอร์ป ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวชินวัตรได้รับประโยชน์เต็มๆ

จากการพิจารณาคดีพบว่า พยานบุคคลจากฝ่ายต่างๆ เช่น สำนักงานกลต.-ธนาคารแห่งประเทศไทย-บริษัททีโอที-กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือแม้แต่กับอดีตคนที่เคยนั่งประชุมร่วมกับทักษิณในห้องประชุมครม.มาห้าปีอย่าง สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ ก็ให้การต่อศาลที่ตอกย้ำความผิดของนช.ทักษิณ ตามคำฟ้องเกือบทั้งสิ้น!

จนทำให้ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายของนช.ทักษิณที่ให้คำแนะนำทีมทนายความอยู่นอกห้องพิจารณาคดีตั้งรับพลิกเกมสู้กับอัยการในห้องพิจารณาคดีแทบไม่ทัน

แต่อย่างไรก็ตาม อีกฝ่ายหนึ่งก็แสดงทัศนะต่อการยืดการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ ว่า การที่ศาลเพิ่มวันสืบพยานอีกสองนัด น่าจะเป็นผลดีกับฝ่ายนช.ทักษิณ ชินวัตร

โดยให้เหตุผลบนการวิเคราะห์ด้วยทฤษฏีการเมืองว่า เพราะแสดงให้เห็นว่าพยานหลักฐานต่างๆ ที่ฝ่ายโจทก์ คืออัยการนำสืบนั้นอาจยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ

ศาลจึงขอให้ส่งหลักฐานเพิ่ม และเพิ่มวันสืบพยานอีกสองนัด และก็ยังไม่แน่ชัดว่าหลังจากสองนัดนี้แล้ว จะมีการนัดทนาย นช.ทักษิณ ชินวัตร และอัยการ ให้แถลงปิดคดีภายใน 7 วันหลังวันที่ 14 มกราคม 2553 เลยหรือไม่ หรืออาจจะเพิ่มวันนัดอีกก็ยังเป็นไปได้เช่นกัน

แต่ไม่ว่าผลแห่งคดีจะออกมาอย่างไร เรื่องนี้ “ทีมข่าวการเมือง” ขอให้ทุกฝ่ายต้องตั้งสติบนความเชื่อมั่น เชื่อถือ ในการทำหน้าที่อันเที่ยงตรงและเที่ยงธรรม ขององค์คณะตุลาการผู้พิจารณาสำนวนคดีนี้ทั้ง 9 คน อันมี สมศักดิ์ เนตรมัย เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน

เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาในการพิจารณาคดีนี้จะชัดเจนว่าศาลได้ดำรงตน และทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงและเที่ยงธรรม ในการเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายทนายความ นช.ทักษิณ ชินวัตรและฝ่ายอัยการได้นำพยานหลักฐานทั้งพยานเอกสาร-พยานบุคคล เข้านำสืบอย่างเต็มที่

เพื่อให้ความจริงประจักษ์ชัดว่า คำฟ้องที่อัยการยื่นฟ้องว่า นช.ทักษิณ ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนเป็นที่มาของการร่ำรวยผิดปกติจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็ก มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท เป็นความจริงหรือไม่

ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่นาน ทุกฝ่ายจึงไม่ควรก้าวล่วงหรือชี้นำ กดดัน การตัดสินใดๆของศาลโดยเด็ดขาด เพราะตอนนี้เห็นชัดแล้วว่า มีความพยายามจะทำลายความน่าเชื่อถือของศาลจากบางฝ่ายด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ

เช่นกรณีที่ จตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.เพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดงออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า จะมีการอ่านคำตัดสินคดีนี้ในวันที่ 6 มกราคม 53 ซึ่งก็เห็นแล้วว่าเป็นการกล่าวเท็จ และมีเจตนาจะทำให้สังคมเข้าใจว่าการตัดสินคดีนี้การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง และความลับในคดีรั่วไหลไปสู่ภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งกับพฤติการณ์ของจตุพร ที่ทำเช่นนี้

เพราะถึงขณะนี้ เราเห็นว่า ไม่ว่าผลแห่งคดียึดทรัพย์จะออกมาทางใด ก็มีผลต่อสถานการณ์การเมืองที่จะตามมาอย่างแรง

เช่น หากนช.ทักษิณไม่ถูกยึดทรัพย์ ตัวนช.ทักษิณ-เสื้อแดง-เพื่อไทย ก็จะออกมาเรียกร้องขอคืนความเป็นธรรมจากการถูกอายัดทรัพย์ 7 หมื่นกว่าล้านบาทไปสามปี และปลุกระดมให้เสื้อแดงออกมาทวงถามความเป็นธรรมทั้งจากอดีต คมช.-อดีต คตส.-อัยการ –และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แต่หากเป็นไปตรงกันข้าม นช.ทักษิณ ก็จะปลุกระดมคนเสื้อแดงว่า ถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นสองมาตรฐาน จะอ้างว่าทั้งหมดเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบ หุ้นที่ขายไปให้เทมาเส็ก ก็เป็นไปตามกลไกตลาด มีสิทธิ์อะไรมายึดทรัพย์ และประกาศแตกหักทวงคืนทรัพย์สิน

จึงสรุปได้ว่า ยึดก็วุ่น ไม่ยึดก็ยุ่ง

สำคัญแค่ขอให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม เป็นกลาง ว่าไปตามพยานหลักฐานข้อเท็จจริง มีคำอธิบายกับสังคมได้

ถ้าออกมาแบบนี้ รับรองได้ว่า ผู้คนในแผ่นดินส่วนใหญ่ต้องยืนเคียงข้างและไม่ยอมให้ใครหน้าไหนมาทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทยแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น