xs
xsm
sm
md
lg

ยึดทรัพย์แม้วส่อยื้อ ศาลขอไต่สวนต่อ 2 นัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เรียกเอกสารเพิ่มอื้อซ่า! ไต่สวนยึดทรัพย์แม้วลากยาว ศาลขอไต่สวนอีก 2 นัด ด้านพยานปากสำคัญ "กล้านรงค์" ชี้ชัดสอบพบ 5 โครงการเข้าข่ายผิด ประโยชน์ขัดกันส่วนตัว-ส่วนรวม ทำรัฐเสียหาย

วานนี้ (22 ธ.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ไต่สวนพยานอัยการ คดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัว อันเป็นการทับซ้อนประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม รวมทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อบุคคลในครอบครัว และบุคคลใกล้ชิดรวม 22 ราย ซึ่งเป็นผู้คัดค้าน มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาท ที่ได้จากการขายหุ้นในเครือบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตกเป็นของแผ่นดิน

โดยอัยการนำนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าเบิกความในประเด็นคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงค์ ปล่อยเงินกู้จำนวน 4,000 ล้านบาทให้ประเทศพม่า ซึ่งเงินส่วนหนึ่งนำมาซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์โทรคมนาคม บ.ชินแซทเทิลไลท์ ว่า ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาเดือนตุลาคม 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพม่า ได้มีหนังสือขอความช่วยเหลือเรื่องขอรับสินเชื่อแบบเครดิตไลน์จำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ จัดซื้อเครื่องจักร วัสดุก่อสร้างและสาธารณูปโภค จึงได้รายงานให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นทราบและให้ความเห็นชอบ เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและวงเงินขอกู้มีจำนวนมาก ซึ่งต่อมา ครม.มีมติอนุมัติให้เอ็กซิมแบงค์ดำเนินการ โดยได้แจ้งให้ผู้นำประเทศพม่าทราบในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เมืองพุกาม ประเทศพม่า และได้พูดคุยระดับทวิภาคีของ 2 ประเทศ ให้ปฎิญญาความร่วมมือใน 5 เรื่อง คือ การลงทุน เกษตรและอุตสาหกรรม เชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคม ท่องเที่ยวและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่ไม่มีความร่วมมือเรื่องการโทรคมนาคม

**ยันทักษิณหักดิบปล่อยกู้พม่า

นายสุรเกียรติ์ เบิกความต่อว่า ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพม่าทำหนังสือขอเพิ่มวงเงินกู้อีก 24 ล้านเหรียญสหรัฐเศษ โดยระบุว่าจะนำไปพัฒนาโครงการโทรคมนาคม ซึ่งกรมเอเซียตะวันออก รายงานให้พยานทราบและสั่งให้ตรวจสอบ จากนั้นพยานได้ทำความเห็นเสนอว่าไม่สมควรอนุมัติเพิ่ม เนื่องจากอาจถูกครหา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศ และขณะนั้นหลายประเทศได้ทำการแซงชั่นประเทศพม่า อีกทั้งรัฐบาลได้อนุมัติเงินกู้ให้แล้ว 3,000 ล้านบาท ยังไม่ได้ไปทำการเริ่มโครงการตามที่ตกลงไว้แล้วจะขอกู้เพิ่มอีกเป็นการไม่เหมาะสม และได้รายงานให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทราบว่าแล้วแต่ครั้งแรกยังไม่ได้ตอบว่าอะไร ต่อมาเมื่อมีการประชุมวินสเตท ที่ จ.ภูเก็ต ก็ได้แจ้งความเห็นดังกล่าวให้พม่าทราบ ซึ่งทางพม่าตอบกลับมาด้วยวาจาว่าถ้าไม่ให้เพิ่ม 24 ล้านเหรียญ ก็ขอเพิ่มวงเงินกู้จากที่อนุมัติ 3,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาทได้หรือไม่ ซึ่งต่อมาได้มีการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรส่งมา อ้างว่าวงเงินที่ขอเพิ่มจะนำมายางมะตอยและวัสดุก่อสร้างจากไทยจำนวน 1 แสนตัน พร้อมกับทำหนังสือสอบถามว่าจะอนุมัติให้หรือไม่ จึงทำหนังสือตอบกลับไปอย่างเป็นทางการฑูตเพื่อไม่ให้ขุ่นเคืองกัน ว่าทางการไทยยินดีช่วยเหลือ แต่ขอให้ดำเนินโครงการในวงเงิน 3,000 ล้านบาทก่อน แต่ทางการไทยไม่อยากให้ลงทุนเรื่องโทรคมนาคม เกรงจะถูกครหา เมื่อรายงานให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ทราบ ได้สอบถามพยานว่ากระทรวงการต่างประเทศว่าอย่างไร ซึ่งพยานตอบว่าไม่เห็นด้วย โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบกลับมาว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้พบกันครึ่งทาง เมื่อทางพม่าขอมา 5,000 ล้านบาท ก็ให้ไป 4,000 บาทล้านแล้วกัน

นายสุรเกียรติ์ เบิกความว่า ต่อมากระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องดังกล่าว ให้ ครม.ให้ความเห็นชอบ ซึ่งเสนอ ครม. รวม 2 ครั้ง เนื่องการเสนอครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และพยานเข้าร่วมการประชุม แต่ในวันนั้นประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศขยายเวลาแซงชั่นประเทศพม่า พยานจึงเสนอที่ประชุมว่าหากพิจารณาเรื่องเงินกู้ให้พม่าในเวลานั้นจะไม่เหมาะสม ควรถอนเรื่องนี้และทอดระยะเวลาไปก่อน ซึ่ง ครม.เห็นด้วย กระทั่งวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ได้มีการเสนอเรื่องนี้ให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งและมีมติเห็นชอบในหลักการให้เอ็กซิมแบงค์ปล่อยกู้พม่าจำนวน 4,000 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังนำงบประจำปีมาสนับสนุนเอ็กซิมแบงค์ในเรื่องส่วนต่างของดอกเบี้ยจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 ที่ประเทศพม่าขอลดโดยอ้างเหตุว่าประเทศลาวและกัมพูชา ได้รับกู้จากไทยในอัตราร้อยละ 2 ก่อนลดอัตราดอกเบี้ยให้พม่า พยานได้เสนอเรื่องให้ พ.ต.ท.ทักษิณทราบ ว่า เหตุที่คิดดอกเบี้ยลาวและกัมพูชา ในอัตราร้อยละ 2 ดังกล่าว เพราะเป็นการนำงบประมาณไปให้กู้ไม่ใช่การกู้โดยผ่านธนาคารซึ่งจะมีต้นทุนการจัดหาเงินมาให้กู้ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบว่าให้กระทรวงการคลังพิจารณาแจ้งเอ็กซิมแบงค์ให้ยืดหยุ่นในการปล่อยกู้พม่าเท่าที่จะทำได้

นายสุรเกียรติ์ เบิกความอีกว่า เมื่อ ครม.มีมติให้ปล่อยกู้พม่าแล้ว พยานไม่ทราบว่าพม่าจะนำไปลงทุนพัฒนากับเอกชนรายใดบ้าง เพราะในการเจรจาความร่วมมือกับพม่าได้มีการพูดคุยเฉพาะเรื่องวงเงิน ส่วนรายละเอียดเอ็กซิมแบงค์ซึ่งขึ้นตรงต่อกระทรวงการคลังจะเป็นผู้เจรจากับพม่าตามข้อตกลงให้เป็นไปตามปฎิญญา 5 เรื่อง และจะรายงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขณะนั้นคือนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ส่วนพยานเมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศครบ 4 ปี แล้ว ย้ายมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้รายงานให้ทราบ ส่วนจะมีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ และพนักงาน บ.ชินแซทฯ ไปประชุมที่ประเทศพม่าด้วยหรือไม่นั้น พยานจำไม่ได้ แต่สามารถตรวจสอบได้จากบันทึกผู้ร่วมเดินทางที่สำนักนายกรัฐมนตรีจะต้องจัดทำ แต่ยอมรับว่า นายพานทองแท้ เคยมีชื่อเป็นผู้ติดตาม ไปต่างประเทศหลายครั้ง

**กล้านรงค์ยันศาลแม้วร่ำรวยผิดปกติ

ต่อมานายกล้านรงค์ จันทิก อดีต คตส. ขึ้นเบิกความสรุปว่า เป็นประธานอนุไต่สวนและมีนายแก้วสรร อติโพธิ นายบรรเจิด สิงคะเนติ และบุคคลอื่นๆเป็น อนุฯไต่สวน โดยพยาน นายแก้วสรร และนายบรรเจิด เคยถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวคัดค้านการเป็นอนุ กก.ไต่สวน แต่ที่ประชุม คตส.พิจารณาแล้วสั่งยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่า พฤติการณ์คัดค้านไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยพยานยืนยันว่าไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับ พ.ต.ท.ทักษิณ การตรวจสอบให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงทุกอย่าง ซึ่งในการตรวจสอบพยานได้นำเอกสารการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งแต่ปี 25240 - และพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2550 และของคุณหญิงพจมาน คู่สมรสรวม 12 ครั้งมาพิจารณา ประกอบหลักฐานในชั้นไต่สวนพบว่ามีทรัพย์สินมากผิดปกติ มาจากผลประโยชน์ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจครอบครัวรวม 5 เรื่อง ประกอบด้วย การออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมการเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม ที่ทำให้ บ.ทีโอที จำกัด (มหาชน) คู่สัญญาสัมปทาน บ.เอไอเอส ต้องเสียหายจัดเก็บรายได้ลดลง เพราะ เอไอเอส นำค่าสัมปทานรายได้ไปหักเป็นภาษี การแก้ไขสัญญาการจัดเก็บรายได้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบบัตรเติมเงิน จากที่ เอไอเอส ต้องจ่ายในอัตราก้าวหน้า 20-30 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2533-58 เหลือจ่าย 20 เปอร์เซ็นต์ตลอดอายุสัมปทาน ทำให้ทีโอทีเสียประโยชน์รวม 60,000 ล้านบาท การแก้ไขสัญญาลงทุนโครงข่ายสัญญาณร่วมกัน หรือโรมมิ่ง ซึ่งเดิม เอไอเอสต้องต้องลงทุนสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่กลับใช้เครือข่ายของ บ.ดีพีซี ซึ่งจากการตรวจสอบ บ.ดีซีพี มี บ.เอไอเอส เป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำให้เอไอเอสได้ลดค่าใช้จ่ายลงทุน 10,000 ล้านบาท จึงมีรายได้เพิ่มขึ้น การละเว้นหรืออนุมัติช่วยเหลือกิจการดาวเทียม ด้วยการ ไม่ส่งดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมสำรองไทยคม 3 กลับส่งดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งใช้ประโยชน์ในกิจการต่างประเทศมากถึง 90 เปอร์เซ็น ขัดกับสัญญาที่ให้ยิงดาวเทียมเพื่อใช้ในกิจการของประเทศ และการให้เอ็กซิมแบงค์ปล่อยกู้พม่า 4,000 ล้านบาท จากนโยบายดังกล่าวทำให้หุ้นของ บ.ชินคอร์ปฯ มีมูลค่าสูงขึ้น ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดทำให้ผู้ถือหุ้นของ บ.ชินคอร์ป ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวได้รับประโยชน์ โดยคตส.ได้นำคำชี้แจ้งทั้งหมดของผู้ถูกกล่าวหามาพิจารณาแล้วแต่เห็นว่าฟังไม่ขึ้นจึงได้ส่งให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ

นายกล้านรงค์ ตอบคำถามซักค้านประเด็นความสัมพันธ์กับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและไปร่วมเดินขบวนขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเดิมทีได้ชมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี ที่นายสนธิ จัดรายการออกอากาศทุกวันศุกร์ตอนกลางคืน ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ซึ่งบางเรื่องพยานก็ไม่เห็นด้วย แต่บางเรื่องพยานก็เห็นด้วยเช่นเรื่องการทำบุญที่วัดพระแก้ว ว่าจะเป็นการมิบังควรหรือไม่ และเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน ที่จะมีการขายหุ้นให้กับคนใกล้ชิด ต่อมารายการถูกถอด จึงต้องไปดูรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ที่สวนลุมพินี ต่อมามีการเดินขบวนซึ่งไม่ทราบว่าจะไปไหนจึงลุกเดินตามคนอื่นไป หลังจากนั้นไม่ได้ไปฟังอีกและไม่ได้ใช้ข้อมูลที่นายสนธิ ปราศรัยมาเป็นแนวทางสอบสวนเรื่องต่างๆ ส่วนที่สื่อมวลชนลงข่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีนายโอภาส อรุณินท์ เป็นประธานจะตรวจสอบการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขายหุ้นให้กับบุตร นั้น ตนไม่ทราบ เพราะขณะนั้นเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช.เท่านั้น ไม่มีอำนาจสอบสวน ส่วนเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2546 และ 2548 ว่าการออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และการออกมติ ครม.นั้นชอบด้วยกฎหมายไม่ขัดรัฐธรรมนูญนั้น ก็เป็นการวินิจฉัยเนื้อหาเรื่องที่เกี่ยวกับการขัดกฏหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เจตนารมณ์การใช้ พ.ร.ก.นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

**ต่อลมหายใจศาลไต่สวนเพิ่ม 2 นัด

ภายหลังนายกล้านรงค์ เบิกความเสร็จสิ้นแล้ว อัยการแถลงหมดพยานที่จะนำเข้าไต่สวน โดยองค์คณะได้แจ้งให้คู่ความทราบว่าองค์คณะมีมติให้กำหนดไต่สวนพยานเพิ่มเติมอีก 2 นัด ในวันที่ 12 และ 14 มกราคม 2553 เวลา 09.30 น. โดยให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เกี่ยวกับการสอบสวนคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บ.เอสซีแอสเซท เอกสารที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว, เอกสารแปลการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ บ.วินมาร์คฯ , เอกสารจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 และวันที่ 30 เมษายน 2546 เรื่องความเห็นและข้อเสนอแนะของ สป.เรื่องการแปลงสัญญาณกิจการโทรคมนาคม และมีหมายเรียกพยานเอกสารและพยานบุคคลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับดัชนีการปิดตลาดซื้อขายหลักทรัพย์วันที่ 1 กันยายน 2543 – 30 มกราคม 2550 และข้อมูลหลักทรัพย์ บ.ชินคอร์ปฯ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 – 30 มกราคม 2550 ข้อมูลหลักทรัพย์ของธนาคารทหารไทย ตั้งแต่วันที่ 30 – 31 สิงหาคม 2543 ข้อมูลหลักทรัพย์จากบ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2546 – 20 กุมภาพันธ์ 2546 ข้อมูลหลักทรัพย์ บ.ทีทีแอนด์ที ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2546 – 20 กุมภาพันธ์ 2546 ข้อมูลหลักทรัพย์ บ.เอไอเอส ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2546 – 20 กุมภาพันธ์ 2546 ข้อมูลการซื้อหุ้นเพิ่มทุน บ.ไทคม จำกัด ตั้งแต่ปี 2546 – 47 รวมทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องของคณะกรรมการประสานงานการจัดสรรคลื่นความถี่ วันที่ 25 มกราคม 2543, พยานบุคคลและเอกสารหลักฐานจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) วันที่ 12 ธันวาคม 2549 เรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และพยานเอกสารพยานบุคคลสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เรื่องการศึกษาการแปลงสัญญาร่วมการงานกิจการโทรคมนาคม ของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

**ทนายแม้วแถนายไม่ผิด

นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประสาสน์ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า แม้ศาลจะมีการเรียกเอกสารและพยานบุคคลเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องของศาลที่จะมีการพิจารณาประกอบ ซึ่งก็จะแจ้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้ประสานงานทราบ แต่ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ได้มีการยื่นไปแล้ว และที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังแสดงความห่วงไยในการต่อสู้คดีอยู่บ้างเพราะต้องถูกต้องเป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยให้ทีมทนายสู้คดีอย่างเต็มที่ซึ่งเรามั่นใจในพยานหลักฐานที่ได้นำสืบไปแล้ว โดยข้อมูลที่ คตส. ไต่สวนเป็นเรื่องของการคิดตามหลักคณิตศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงยืนยันว่าหุ้นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน มีจำนวน 48 เปอร์เซ็นต์ มีก่อนดำรงตำแหน่ง ซึ่งภายหลังได้ขายให้บุตรไปแล้ว ส่วนการยืนยันการเป็นเจ้าของ บ.วินมาร์คฯนั้น ฝ่ายตนได้มีหนังสือรับรองจากเศรษฐีชาวตะวันออกกลางซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง ยืนเป็นหลักฐานต่อศาลเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้หากการไต่สวนคดีเสร็จสิ้นแล้วจะขอใช้สิทธิยื่นคำแถลงปิดคดี อย่างไรก็ตามถ้าศาลมีคำพิพากษาให้มีการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือว่าคดีเป็นที่สิ้นสุด แต่ผลของคดีไม่เกี่ยวข้องไปถึงคดีอาญาอื่นๆที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกฟ้องอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น