xs
xsm
sm
md
lg

26 ก.พ.ศาลตัดสินยึดทรัพย์แม้ว 7.6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เจ้าหน้าที่จาก ตลท.-กทช. เรียงหน้าเข้าไต่สวนคดียึดทรัพย์ “ทักษิณ” 7.6 ล้านบาท ตามหมายเรียก รวมถึงอดีต รมว.ไอซีที เบิกความกรณีจัดเก็บภาษีดาวเทียมไอพีสตาร์-โทรศัพท์เคลื่อนที่ว่าทำเพื่อผลประโยชน์ชาติเป็นหลักส่วนตัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เป็นหน้าที่ของคลัง ศาลนัดพิพากษา 26 ก.พ. เวลา 13.00 น.




วันนี้ (12 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ไต่สวนพยานอัยการ คดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ธุรกิจครอบครัว อันเป็นการทับซ้อนประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม รวมทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อบุคคลในครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด รวม 22 ราย ซึ่งเป็นผู้คัดค้าน มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาท ที่ได้จากการขายหุ้นในเครือบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตกเป็นของแผ่นดิน

โดยในวันนี้ศาลเรียก นายสิทธิชัย โภไคยอุดม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้าเบิกความสรุปว่า ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการดำเนินการในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รวม 3 กรณี คือ การภาษีสรรพสามิต กรณีโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ กรณีดาวเทียม ไอพี สตาร์ ซึ่งในกรณีภาษีสรรพสามิต พยานเห็นว่า เมื่อ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทศท คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) อ่อนแอลงทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่จะได้รับบริการด้านโทรคมนาคม โดยพยานมีข้อสงสัยว่าเมื่อรัฐบาลมีนโยบายในการเรียกเก็บภาษีแสดงว่ารัฐบาลต้องการหารายได้ แต่ ครม.ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กลับมีมติให้ เอกชนที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตคืนจากรัฐได้ ซึ่งทำให้รัฐไม่ได้เงิน แม้มีบางคนอ้างว่าไม่ได้ทำให้รัฐเสียหายที่จะต้องจ่ายเงิน แต่พยานเห็นว่าเป็นการทำให้รัฐเสียหายกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพราะไม่สามารถนำรายได้จากการเก็บภาษีสรรพาสามิตเข้าสู่รัฐได้ พยานจึงเสนอ ครม.ในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ มีมติให้ยกเลิกมติ ครม.ที่อนุญาตให้เอกชนเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตคืนจากรัฐได้ ซึ่งเมื่อ ครม.ยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าวแล้ว กรมสรรพสามิตสามารถเรียกเก็บภาษีได้จำนวนกว่า 1 พันล้านบาทเศษ ภายในระยะเวลา 1 เดือน นอกเหนือจากส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ให้บริการต้องจ่ายให้แก่รัฐ

นายสิทธิชัย เบิกความต่อว่า การเปลี่ยนแปลงการเก็บค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือเป็นภาษีสรรพสามิต เป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในทางธุรกิจอย่างแยบยล ไม่ให้นักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศหรือมาเป็นคู่แข่ง โดยตั้งแต่เริ่มแรกผู้ให้บริการรายเดิมทยอยลงทุน แต่ขณะเดียวกันนั้นประชาชนผู้ใช้บริการต้องเสียค่าซื้อเครื่องโทรศัพท์ เครื่องละหลายหมื่นบาท และต้องเสียค่าใช้บริการในอัตราที่สูงถึงนาทีละ 8 – 12 บาท มานานกว่า 10 – 15 ปี แม้ผู้ให้บริการรายเดิมจะต้องลงทุนไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ก็เชื่อว่าน่าจะได้กำไรจากการลงทุนไปนานแล้ว และที่อ้างว่าสถานีเครือข่ายที่ก่อสร้างแล้วได้โอนให้รัฐตามสัญญาแล้วเป็นเพียงข้อความในกระดาษ เพราะความจริงแล้วผู้ให้บริการรายเดิมยังคงใช้ประโยชน์จนถึงปัจจุบัน

“ที่อ้างว่าต่างชาติมาลงทุนไม่ต้องเสียค่าสัมปทาน เสียแค่ค่าธรรมเนียม 6 เปอร์เซ็นต์ เสียภาษี 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ความจริงแล้วผู้ลงทุนต่างชาติก็ต้องใช้เงินลงทุน 1 - 2 แสนล้านบาทเหมือนกัน แต่ภาษีสรรพสามิตขึ้นอยู่กับ ครม.จะมีมติให้เรียกเก็บ มีเพดานสูงสุดที่ 50 เปอร์เซ็นต์ ครม. ขณะนั้น จะเรียกเก็บเพิ่มขึ้นเมื่อไรก็ได้ ซึ่งผู้ให้บริการรายเดิมไม่เสียหาย แต่ผู้ลงทุนต่างชาติคงไม่ไหว ดังนั้นจึงไม่มีใครมาลงทุน จึงเห็นว่าเป็นการผูกขาดการลงทุนให้อยู่กับผู้ให้บริการรายเดิม” นายสิทธิชัย เบิกความ

นายสิทธิชัย เบิกความต่อว่า ส่วนกรณีดาวเทียม ไอพีสตาร์ นั้น พยานได้ตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวง ไอซีที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม สรุปว่า สถานะของดาวเทียมไอพี สตาร์ ไม่ได้เป็นดาวเทียมสำรอง แต่เป็นดาวเทียมหลัก จึงได้ทำหนังสือสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความเห็นและคำตอบ พยานจึงไม่กล้าดำเนินการอะไร เพราะถ้าดาวเทียมไอพีสตาร์ เป็นดาวเทียมหลักแล้ว การจะยิงขึ้น ต้องขอสัมปทานใหม่และต้องมีดาวเทียมสำรองด้วย และควรต้องเสียภาษี ซึ่งแม้ไม่มีกฎหมายใดระบุว่าดาวเทียมเป็นกิจการโทรคมนาคม แต่เป็นที่ทราบกันดีทั่วโลกว่า ดาวเทียมเป็นกิจการโทรคมนาคม แต่เหตุใด ครม.ไม่มีการเรียกเก็บภาษีพยานไม่ทราบเช่นกัน แต่พยานเห็นควรให้มีการเรียกเก็บภาษี ซึ่งเท่าที่ทราบจนถึงปัจจุบันกฤษฎีกายังไม่ตอบข้อสอบถามดังกล่าวแต่อย่างใด

นายสิทธิชัย เบิกความว่า สำหรับกรณีโทรศัพท์เคลื่อนที่ นั้นเกิดจากการที่สหภาพแรงงาน กสท. และ ทศท. เข้าร้องเรียนให้ตรวจสอบ ซึ่งครั้งแรกพยานพยายามขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ให้บริการร่วมมือในการแก้ไขสัญญาให้เป็นธรรม แต่คิดว่าคงไม่มีทางเป็นไปได้ จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบรายละเอียด และทำหนังสือสอบถามไปยังกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า การเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายครั้งของทุกบริษัท ล้วนผิดกฎหมายทั้งสิ้น แต่เนื่องจากพยานเป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจเพียงกำกับดูแล การดำเนินงานของ บริษัท กสท. และ ทศท. ซึ่งมีสภาพเป็นบริษัทมหาชน เป็นกิจการที่มีหน่วยงานของรัฐ คือ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เท่านั้น ไม่มีอำนาจไปสั่งการให้ผู้บริหารทั้งสองบริษัทได้ จึงทำได้เพียงทำหนังสือเป็นนโยบายให้ผู้บริหารทั้งสองบริษัทไปดำเนินการแก้ไขจากสัญญาที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่กิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย ซึ่งพยานยืนยันว่าการดำเนินการตรวจสอบทุกโครงการพยานทำไปด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้เลือกปฎิบัติแต่อย่างใด

นายสิทธิชัย ตอบคำถามซักค้านทนาย พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้คัดค้าน สรุปว่า สาเหตุที่ลาออกจากตำแหน่ง รมว.ไอซีที เนื่องจากขณะเข้ารับตำแหน่ง รมว.นั้น พยานและภรรยา ถือหุ้นในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ที่พยานก่อตั้งขึ้นรวม 33 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เรื่องการถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ และได้รายงานให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบแล้ว ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือสอบถามมายังรัฐบาลว่ามี รมว.ถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ นายกรัฐมนตรีจะทำอย่างไร ซึ่งที่จริงแล้วพยานก็ยังได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่เนื่องจากพยานเห็นว่า คนที่เป็นรัฐมนตรีไม่ควรมีความมัวหมองจึงตัดสินใจลาออก ส่วนที่ทนายถามว่า ผู้ร้องเรียนกรณีโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นพนักงานของ กสท.และทศท. ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียที่จะ หากมีการยกเลิกแล้วเงินรายได้จะเข้าสู่ กสท. และ ทศท. ทำให้ได้รับเงินเดือนและโบนัสเพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วรายได้จะเข้าสู่รัฐ

จากนั้นศาลเรียก นายทศพร เกตุอดิศร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เข้าเบิกความสรุปว่า การแก้ไขปัญหาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการใช้เต็มคลื่นความถี่นั้น ทางเทคนิคไม่สามารถทำได้ แต่ทางด้านการตลาดแล้วสามารถไปเช่าเครือข่ายอื่นขอใช้บริการได้ ส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่ เอไอเอส ได้รับ 7.5 เมกะเฮิรซ์ ส่วน ดีแทค ได้รับ 25 เมกะเฮิรซ์

ต่อมาศาลเรียกนายธีรยุทธ ศรีบุญ รองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการซื้อขายหุ้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้าเบิกความในประเด็นเปรียบเทียบการปรับตัวของดัชนีหุ้น บ.ชินคอร์ปฯ และเอไอเอส เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นรวม ตั้งแต่ 1 กันยายน 2543 – 30 มกราคม 2550 สรุปว่า หุ้น บ.ชินคอร์ปฯ มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 131

ต่อมาช่วงบ่าย ศาลเรียก นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิช รองประธานสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เข้าเบิกความเกี่ยวกับมติ ครม.สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 ที่กำหนดให้มีการเปิดเสรีทางโทรคมนาคม 4 ประเภท ได้แก่โทรศัพท์พื้นฐาน แฟกซ์ เทเลพิมพ์ และเทเลกราฟ จนนำมาสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ว่า เป็นการตีความที่ผิดพลาด เนื่องจากการแก้ไขเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเสรี และทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ต่อมากระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้างบริษัท ธนสาร และบริษัทที่ปรึกษาอื่นรวม 3 บริษัทเกี่ยวกับการแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ขณะเดียวกันคณะกรรมการกำกับรัฐวิสาหกิจก็ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาเช่นเดียวกัน โดยทั้งสองมีความเห็นทั้งเห็นด้วยและแตกต่างกัน แต่ล้วนแต่ทำให้รัฐเสียหายเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน อาทิ บ.ธนสาร เสนอให้ยุติการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐตามที่เคยทำสัญญาสัมปทานไว้ ส่วนคณะอนุฯของรัฐวิสาหกิจ เสนอให้โอนโครงข่ายโทรศัพท์เป็นของรัฐตามเปอร์เซ็นต์ หรือ แปลงค่าสัมปทานเป็นหุ้น ซึ่งหากดูผิวเผินเหมือนเป็นข้อเสนอที่เป็นธรรม แต่จริง ๆ แล้วค่าสัมปทานนั้นเป็นรายได้ที่ต้องจ่ายให้รัฐก่อนที่จะหักรายจ่ายอื่น ๆ แต่ถ้าเป็นหุ้นต้องถูกหักรายจ่ายก่อนปันผล จึงเห็นว่าเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน

นายสมเกียรติ เบิกความว่าต่อมากระทรวงคมนาคมได้ว่าจ้างให้พยานร่วมกับนักวิชาการประมาณ 10 คน พิจารณาความเห็นของทั้งสองฝ่าย แล้วสรุปว่าการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ไม่มีความจำเป็น เพราะไม่เกิดประโยชน์และตามหลักการแล้วการแก้ไขสัญญาก็ไม่ควรไปเพิ่มประโยชน์ให้กับคู่สัญญามากกว่าสัญญาที่ทำไว้เดิม โดยเฉพาะการโอนสิทธิต่าง ๆ ที่รัฐควรได้รับไปให้กับเอกชน โดยหลักการเก็บภาษีสรรพสามิต เนื่องจากรัฐต้องการหารายได้ และจะเก็บภาษีในสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จะก่อให้ความเดือดร้อนกับผู้บริโภคหรือสังคมในภายหลังทั้งทางด้านสุขภาพและมลภาวะ เช่น สุรา บุหรี่ หรือรถยนต์ แต่ในส่วนของการให้บริการกิจการโทรคมนาคม เป็นกิจการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม โดยหลักการรัฐควรอุดหนุน โดยการจัดสรรเงินให้ผู้ประกอบการเพื่อดำเนินกิจการได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน กทช. ได้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้นการเก็บภาษีกิจการโทรคมนาคมจึงไม่ใช่การสนับสนุน

นายสมเกียรติ เบิกความต่อว่า การแก้ไข พ.ร.ก.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ในกิจการโทรคมนาคมสูงถึงในอัตราร้อยละ 50 นั้น เหตุที่ต้องกำหนดให้มีการจัดเก็บในอัตราที่สูง เนื่องจากต้องขอความเห็นชอบของสภา ซึ่งไม่สามารถทำได้บ่อยครั้งนัก แล้วจึงค่อยมาออกเป็นมติ ครม.ในการปรับลดหย่อยภาษี อย่างไรก็ตามปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ตัวเลขอัตราการเก็บภาษี แต่อยู่ที่เหตุใดจึงต้องมีการเรียกเก็บภาษีโทรคมนาคมตั้งแต่แรก และต่อมา ครม.สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกมติ ครม. ลดหย่อนการเก็บภาษีสรรพสามิต และสามารถให้นำมาหักค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐได้ ทำให้เงินไม่เข้ารัฐ ดังนั้นการอ้างว่าจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพราะความจำเป็นด้านเศรษฐกิจที่ต้องหารายได้ขัดแย้งกับเหตุผลของตัวเอง ที่ยกเว้นการเก็บภาษีจากผู้ให้บริการบางราย

นายสมเกียรติ เบิกความว่า เสมือนกับผู้ประกอบธุรกิจรายเดิม ไม่ต้องเสียภาษี เอาค่าสัมปทานที่จะต้องจ่ายรัฐมาจ่ายเป็นค่าภาษี หาก ครม.มีมติเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 25 เท่ากับรัฐไม่มีรายได้เลย ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดก็ต้องเสียภาษีและค่าธรรมเนียม ให้ กทช. อีก 6 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถหักอะไรได้ มีผลทำให้การเข้าสู่ตลาดยากขึ้น ไม่นับปัจจัยทางการเมืองที่ขณะนั้นนายกรัฐมนตรีเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในกิจการโทรคมนาคมของประเทศ อีกทั้งเสียเปรียบในเรื่องฐานลูกค้าและชื่อเสียง อีกทั้งการเรียกเก็บภาษีโดยกระทรวงการคลังเชื่อมโยงกับการเมือง ที่จะกำหนดการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ ดังนั้นมติ ครม.ที่ให้แปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต และให้นำไปหักลดการจ่ายเงินให้กับรัฐได้นั้น ไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนากิจการโทรคมนาคม ที่ไม่มีข้อใดระบุว่าให้เก็บภาษีสรรพสามิต ทั้งที่จริงรัฐควรต้องสนับสนุน

นายสมเกียรติ เบิกความว่าพยานเคยทำงานวิจัยเรื่องสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับตลาดหุ้นไทย แม้พยานทำเพียงคนเดียวแต่มีความเป็นเอกเทศ และสอดคล้องกับงานวิจัยอื่น โดยสรุปว่า หุ้นธนกิจการเมืองที่ถือครองโดยคณะรัฐมนตรี นักการเมืองหรือเครือญาติ มีผลตอบแทนสูงกว่าธุรกิจอื่นทั่วไป โดยการขึ้นลงของราคาหุ้นมีความสัมพันธ์กับนโยบายและเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น ครม.มีมติเก็บภาษีสรรพสามิต การที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเดิม ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ทำให้ราคาหุ้นชินคอร์ปทั้ง 5 ตัว ทั้ง ชินคอร์ปฯ ไอทีวี เอไอเอส หรือ ทหารไทย มีผลตอบแทนดีกว่าหลักทรัพย์ประเภทใกล้เคียงกันสูงถึงร้อยละ 141 หมายความว่า ถ้าหุ้นตัวอื่นกำไร 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วหุ้นชินคอร์ปกำไร 100 เปอร์เซ็นต์ บวกอีก 141 เปอร์เซ็นต์

นายสมเกียรติ ยังเบิกความเกี่ยวกับเรื่องดาวเทียมไอพีสตาร์ ว่า ทราบว่า บ.ชินแซทฯ ได้ขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย แต่ตามสัญญาการยิงดาวเทียมไอพี สตาร์ เป็นหน้าที่โดยตรงของ บ.ชินแซทฯ อีกทั้งตามสัญญาระบุว่าดาวเทียมไอพีสตาร์ ใช้ในกิจการต่างประเทศสูงถึงเกินกว่าร้อยละ 90 แล้วยังมาขอ บีโอไอสนับสนุน อ้างว่าเพื่อสามารถไปแข่งขันกับต่างประเทศนั้นเกิดประโยชน์กับผู้ใช้บริการต่างประเทศมากกว่า เป็นการนำเอาเงินภาษีของประชาชนที่รัฐควรได้ไป แต่อย่างไรก็ตามในที่สุด บีโอไอก็พิจารณาอนุมัติให้เงินกู้สูงสุดเท่ากับมูลค่าโครงการจำนวน 1.6 หมื่นล้านให้

นายสมเกียรติ เบิกความตอบคำถามซักค้านทนายความผู้คัดค้าน ในประเด็นศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยในประเด็นที่ ครม. พ.ต.ท.ทักษิณ มีมติเกี่ยวกับเรื่องเก็บภาษีสรรพสามิตมีอำนาจทำได้ ซึ่งนายสมเกียรติ ค้านว่าเป็นคนละประเด็นกับศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประเด็นงานวิจัยและหนังสือรู้ทันทักษิณของพยานเป็นความเห็นส่วนตัว เป็นอคติที่พิพากษา พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำผิดทุจริตไปแล้ว นั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่าเป็นความเห็นทางวิชาการ ส่วนคำพิพากษานั้นเป็นดุลพินิจของศาล

ภายหลัง นายสมเกียรติ เบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ศาลแถลงหมดพยาน เสร็จสิ้นการไต่สวน พร้อมกับมีคำสั่งยกเลิกนัดไต่สวนพยานในวันที่ 14 ม.ค.นี้ และให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน นับแต่วันนี้ หากไม่นำส่งภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.พ.นี้ เวลา 13.00 น.
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกนักการเมือง กรณีศาลนัดสืบพยานคดียืดทรัพย์ พตท.ทักษิณ ชินวัตร





กำลังโหลดความคิดเห็น