xs
xsm
sm
md
lg

ยึดทรัพย์ไม่เลื่อน คตส.ชงยึดทั้งก้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เผยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะร่วมลงมติในคดียึดทรัพย์"ทักษิณ" 7.6 หมื่นล้านบาทในช่วงเช้าวันที่ 26 ก.พ. และจะอ่านคำพิพากษาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เป็นการป้องกันคำพิพากษารั่วไหล โดยจะไม่มีการเลื่อนนัดอีก เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ไม่มีโทษจำคุก และไม่ต้องรอดูว่าเจ้ามูลเมืองจะมาหรือไม่ ขณะที่ทนายความ"แม้ว"คาด คำแถลงปิดคดีจะเรียบร้อยใน 2 สัปดาห์ ยังคงสู้ประเด็นเดิม อดีต คตส.ยกตัวอย่างฎีกายึดทรัพย์ต้องยึดทั้งหมด

วานนี้ (15 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าถึงคดีที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดพิพากษาคดียึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 7.6 หมื่นล้านบาทในวันที่ 26 ก.พ.นี้ว่า แหล่งข่าวจากผู้พิพากษาระดับสูง ระบุถึงคดีดังกล่าวว่า หลังจากศาลฎีกาฯ ไต่สวนพยานเสร็จสิ้น และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.พ. นี้ เวลา 13.00 น.นั้น ตามขั้นตอน องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน จะต้องไปพิจารณาสำนวนคดี เอกสารหลักฐานและคำเบิกความของพยานฝ่ายอัยการสูงสุดผู้ร้อง พ.ต.ท.ทักษิณและผู้มีชื่อเจ้าของบัญชีทรัพย์ ผู้คัดค้าน และพยานที่ศาลเรียกมาไต่สวนเพิ่มเติม เพื่อทำคำวินิจฉัยส่วนตัวของผู้พิพากษาองค์คณะแต่ละคน ก่อนจะกำหนดนัด วันประชุมลงมติวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีในแต่ละประเด็น แล้วเขียนคำพิพากษากลางด้วยมติเสียงส่วนใหญ่ขององค์คณะ

"เพื่อป้องกันคำพิพากษารั่วไหล องค์คณะอาจนัดประชุมพิจารณาลงมติกันในช่วงเช้าวันที่ 26 ก.พ. ก่อนอ่านคำพิพากษาทันที่ในช่วงบ่าย โดยคดีนี้แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้คัดค้านจะไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษา องค์คณะก็สามารถอ่านคำพิพากษาได้ทันที เพราะเป็นคดียึดทรัพย์ ที่พิจารณาว่า ทรัพย์นั้นได้มาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่ได้มีโทษจำคุก อย่างไรก็ดีในช่วงที่องค์คณะฯ ร่างคำวินิจฉัยส่วนตัว คงไม่จำเป็นต้องขอกำลังเจ้าหน้าที่มาคุ้มครองดูแล คงทำงานไปตามปกติ ซึ่งไม่น่าจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้น"แหล่งข่าวยืนยัน

ด้านนายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายความพ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว กล่าวว่า ขณะนี้ ทีมทนายความ กำลังร่างคำแถลงปิดคดี คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งการร่างคำแถลงปิดคดีดังกล่าว ทีมทนายความจะจัดส่งร่างให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ตรวจพิจารณาก่อนว่า จะเพิ่มเติมประเด็นใดหรือไม่ ขณะที่ประเด็น ซึ่งทีมทนายความร่างแถลงคำปิดคดีนั้น จะย้ำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาข้อกฎหมาย เรื่องอำนาจการไต่สวนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) ในการออกคำสั่งยึดอายัดทรัพย์ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เกินอำนาจหน้าที่ เนื่องจากคำสั่งการแต่งตั้ง คตส. การไต่สวนคดี ไม่ได้ให้อำนาจพิจารณาข้อกล่าวหาเรื่องพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ แต่ให้พิจารณาคดีเกี่ยวกับความเสียหายแก่รัฐ รวมทั้งปัญหาที่มีการร้องเรียน คตส. 3 คน คือนายแก้วสรร อติโพธิ นายกล้านรงค์ จันทิก และนายบรรเจิด สิงคเนติ ที่เป็นปฏิปักษ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ

ทนายความผู้นี้กล่าวต่อว่า ขณะที่การสืบพยานก็แสดงให้เห็นเพียงว่า นโยบาย 5 เรื่องที่ คตส. อ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปเกี่ยวข้องขณะดำรงตำแหน่งนายก ฯ มีเพียงเรื่องการออก พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีสรรพสามิต และการปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ( เอ็กซิมแบงก์ ) ให้รัฐบาลพม่า ส่วนนโยบายอื่นที่เกี่ยวข้องการแก้ไขสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และดาวเทียมไอพีสตาร์ ก็ไม่มีพยานหลักฐานชัดเจน ขณะที่นโยบายเรื่องปล่อยกู้รัฐบาล พยานฝ่ายโจทก์ ปากนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายก ฯ และอดีต รมว.ต่างประเทศ ก็เบิกความแล้วว่า การปล่อยกู้เป็นแบบเครดิตไลน์ ที่เมื่อให้กู้แล้วเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลพม่า กับเอ็กซิมแบงก์ ว่าจะนำเงินไปใช้ในส่วนใด และที่รัฐบาลพม่าจะขอกู้ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคมก็มีการพิจารณาแล้วไม่ได้ให้วงเงินกู้เพิ่มในส่วนนั้น ซึ่งนายสุรเกียรติ์ ให้ความเห็นไว้แล้ว

ขณะที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมทนายนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกฎหมายด้านต่างๆ สู่ศาลอย่างครบถ้วน ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนเป็นนายกฯ และได้โอนให้บุตรก่อนเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ รวมทั้งช่วงที่เป็นนายกฯ ก็ไม่ได้ทำให้ตนเองได้ประโยชน์ ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ มอบหมายให้ทีมทนายความรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายให้ครบถ้วน เพื่อร่างคำแถลงปิดคดี ก็หวังว่าจะได้รับความยุติธรรมจากศาล ส่วนผลการตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไรนั้นไม่อยากคาดการณ์ไปไกล เพราะคนที่มีคดีอยู่ในชั้นศาล ก็หวังเพียงว่าจะได้รับความยุติธรรมจากศาล

นายนพดลยังกล่าวถึงกรณีที่นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาขู่ว่า หากยึดทรัพย์หมดทั้ง 7.6 หมื่นล้านอาจทำให้บ้านเมืองเกิดกลียุคด้วยว่า ไม่อยากมองไปไกลขนาดนั้น เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ และคนเสื้อแดงก็เป็นห่วงประเทศ ไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย ในมุมมองพวกเราต้องการให้บ้านเมืองสงบ เพียงแต่ในมุมเรา บ้านเมืองจะสงบได้ จะต้องมีประชาธิปไตย มีความยุติธรรม ซึ่งเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวของคนรักประชาธิปไตย ส่วนการที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะเคลื่อนไหว เดินสายไปหลายพื้นที่ ระหว่างวันที่ 15-23 ม.ค.นี้นั้น ไม่อยากให้มองว่า เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันศาล กลุ่มรักประชาธิปไตยดำเนินการตามปกติ ไม่ว่าจะไปที่เขายายเที่ยง และจะไปที่เขาสอยดาว ซึ่งเป็นการมองระยะยาว แต่อยากให้ระมัดระวัง อาจถูกใส่ร้ายป้ายสีได้

เมื่อถามว่าสื่อกัมพูชาระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางเข้าประเทศกัมพูชาในเร็วๆนี้ นายนพดล กล่าวว่า เดิมนั้นพ.ต.ท.ทักษิณ จะมาช่วงวันที่ 15-17 ม.ค. แต่คงไม่มาแล้ว แต่จะมาประเทศหนึ่งในเอเชีย เร็วๆนี้ ส่วนที่ทางการกัมพูชาระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางเข้ากัมพูชา ประมาณต้นเดือนก.พ. เรื่องนี้ไม่ทราบ

เมื่อถามอีกว่า หากพ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางมาจริง อาจถูกมองว่า จะมาบงการ การเคลื่อนไหวกลุ่มคนเสื้อแดง นายนพดล กล่าวว่า ไม่อยากให้มองอย่างนั้นว่าต้องอยู่ใกล้ๆ ประเทศไทยเพื่อมาเคลื่อนไหว วันนี้ โลกไร้พรมแดน ไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ๆไทย อยู่ที่ไหนก็เคลื่อนไหวได้ การเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ต้องการป่วน เพียงแต่อยากเห็นความเป็นธรรม เรียกร้องประชาธิปไตย อยากให้บ้านเมืองประเทศชาติสงบ รวมทั้งการเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ขู่ฝ่ายอำมาตย์หรือใคร เพียงแต่ต้องการบอกว่า หากไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีความยุติธรรม ชาติก็ไม่สงบ เป็นการเสนอทางเลือกให้เสื้อแดง และฝ่ายอำมาตย์ได้เห็น ซึ่งถ้าไม่มีความสงบ บ้านเมืองก็เดินไปไม่ได้

นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวถึงกรณีที่มีแหล่งข่าวใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณระบุว่า จะพยายามล็อบบี้ฝ่ายต่างๆ ให้ยึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณเพียง 40% จาก 7.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากได้มาก่อนขายหุ้นชินคอร์ปว่า ตามหลักการแล้วคดีร่ำรวยผิดปกติจะต้องยึดทั้งหมด เนื่องจากทรัพย์สินตั้งต้นถือเป็นตัวล่อให้เกิดการเพิ่มพูน เพราะหากยึดเฉพาะเงินที่เพิ่มมาภายหลังก็เหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ถูกลงโทษเลย ไม่ต่างอะไรกับคนขโมยของไปพอถูกจับได้เอาของมาคืนก็จบกัน หากเป็นเช่นนั้นกฎหมายริบทรัพย์สินจากผู้ที่ร่ำรวยผิดปกติก็จะไม่เกิดประโยชน์เลย วิธีคิดกรณีนี้จึงต้องคิดถึงการป้องกันการทุจริต คือผู้กระทำผิดถูกลงโทษด้วย

"มีตัวอย่างสมัยผมเป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อ 30 กว่าปีก่อน เคยมีตำรวจจับแม่ค้าขายลอตเตอรี่เกินราคาจาก 10 บาท เป็น 12 บาท แล้วศาลชั้นต้นตัดสินให้ริบทรัพย์คืนแค่ 2 บาท แต่อัยการอุทธรณ์ไปจนถึงชั้นศาลฎีกา ก็ตัดสินให้ริบทรัพย์คืนทั้ง 12 บาท หรือตัวอย่างไม่นานมานี้ มีข้าราชการคนหนึ่งขายที่ดินให้กับหน่วยงานราชการแพงเกินจริง สมมติว่าขายให้ในราคา 25 ล้านบาท จากราคาจริง 10 ล้านบาท ภายหลังถูกจับได้แล้วศาลตัดสินว่ามีความผิด ก็เกิดข้อถกเถียงว่าต้องริบทรัพย์ 25 ล้านบาท หรือส่วนที่เกินมา 15 ล้านบาท ที่สุดศาลฎีกาก็ตัดสินใจริบทรัพย์ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าหากริบเฉพาะ 15 ล้านบาท ข้าราชการคนดังกล่าวจะไม่ถูกลงโทษเลย"นายอุดมกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น