xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ยึดทรัพย์ “ทักษิณ”...ยึดทั้งหมด หรือแค่บางส่วน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อ้างว่า คตส.ต้องการให้ยึดทรัพย์ตน เพื่อจะได้สินบน 25% จากทรัพย์สินที่ถูกยึด
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

อีกแค่เดือนเศษ วันชี้ชะตาเงิน “7.6 หมื่นล้าน” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ก็จะมาถึง ขณะนี้ไม่ใช่แค่ทักษิณคนเดียว แต่คนรอบข้าง โดยเฉพาะเครือญาติและ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ต่างออกมาเดือดร้อนกันเป็นการใหญ่ กลัวว่าเงินก้อนดังกล่าวจะเปลี่ยนเจ้าของจาก “ทักษิณ” เป็นของ “แผ่นดิน” จึงออกมาขู่ว่า ถ้ายึดทรัพย์ทักษิณทั้งหมดจะเกิดกลียุคบ้างล่ะ จะเข้าชื่อยื่นถอดถอนผู้พิพากษาบ้างล่ะ งานนี้ต้องลุ้นว่า องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนจะกลัวคำขู่หรือไม่? แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ลองมาฟังนานาทรรศนะด้านกฎหมายเกี่ยวกับคดียึดทรัพย์กันว่า ถ้าศาลสั่งให้ยึด จะยึดแค่บางส่วน หรือต้องยึดทั้งหมด

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

หลังสืบพยานกันมาพักใหญ่ ในที่สุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ปิดคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร่ำรวยผิดปกติ ที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลฯ มีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ได้จากการขายหุ้นในเครือบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือชินคอร์ป จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่สมควร เพราะมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่(นายกรัฐมนตรี)เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว อันเป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม โดยศาลนัดฟังพิพากษาในวันที่ 26 ก.พ.นี้

ระหว่างรอวันพิพากษา ประเด็นที่สังคมสงสัยและพูดกันมากก็คือ หากศาลสั่งยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ จะยึดแค่บางส่วน หรือยึดทั้งหมด โดยทางฝั่งคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณอย่างนายพายัพ ชินวัตร น้องชาย รีบออกมาส่งสัญญาณเชิงข่มขู่ว่า ถ้ายึด ควรยึดบางส่วน ถ้ายึดทั้งหมด เกิดกลียุคแน่ “ทางออกของเรื่องนี้ ต้องแบ่งออกเป็นส่วนๆ ไม่ใช่ไปยึดทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณทั้งหมด 7.6 หมื่นล้าน แต่ควรคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณและให้ชดใช้เงินในส่วนที่ถือเป็นค่าเสียหายของรัฐแต่ละคดีที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณผิด ...เราจะให้เขาผิด ต้องให้เขาเต็มใจ ไม่ใช่เหมารวมทำเป็นมหากาพย์ว่าเขาผิดไปหมด อย่างนี้บ้านเมืองพังแน่นอน วันนี้บ้านเมืองเปราะบาง ถ้ายังเป็นไปตามเส้นทางก็จะกลายเป็นกลียุค บ้านเมืองก็จะลำบาก”

ส่วนทางฟาก คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีต คตส.ซึ่งเป็นถึงอดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ ก็ยืนยันว่า ตามหลักแล้ว คดีร่ำรวยผิดปกติ ถ้ายึดทรัพย์ จะต้องยึดทรัพย์ทั้งหมด ไม่ใช่ยึดบางส่วน เพราะทรัพย์สินตั้งต้นถือเป็นตัวล่อให้เกิดการเพิ่มพูน ถ้ายึดเฉพาะเงินที่เพิ่มขึ้นมาภายหลังก็เหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ถูกลงโทษเลย ซึ่งจะไม่ต่างอะไรกับคนขโมยของไป พอถูกจับได้ก็เอาของมาคืน ก็จบกัน หากเป็นเช่นนั้นกฎหมายริบทรัพย์สินจากผู้ที่ร่ำรวยผิดปกติก็จะไม่เกิดประโยชน์ วิธีคิดกรณีนี้จึงต้องคิดถึงการป้องกันการทุจริต คือผู้กระทำผิดถูกลงโทษด้วย นายอุดม ยังยกตัวอย่างคดีที่ศาลฎีกาเคยมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดทั้งหมดด้วยว่า “ไม่นานมานี้ มีข้าราชการคนหนึ่งขายที่ดินให้กับหน่วยงานราชการแพงเกินจริง สมมุติว่าขายให้ในราคา 25 ล้านบาท จากราคาจริง 10 ล้านบาท ภายหลังถูกจับได้ แล้วศาลตัดสินว่ามีความผิด ก็เกิดข้อถกเถียงว่าต้องริบทรัพย์ 25 ล้านบาท หรือส่วนที่เกินมา 15 ล้านบาท ที่สุดศาลฎีกาก็ตัดสินใจริบทรัพย์ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า หากริบเฉพาะ 15 ล้านบาท ข้าราชการคนดังกล่าวจะไม่ถูกลงโทษเลย”

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รีบออกมาดิสเครดิต คตส.ว่าจ้องให้มีการยึดทรัพย์ตน เพราะ คตส.ต้องการสินบน 25% ของทรัพย์ที่ศาลสั่งยึด

ร้อนถึง คตส.ต้องรีบออกมาปฏิเสธ โดยนายสัก กอแสงเรือง อดีต คตส.ชี้แจงว่า แม้จะมีระเบียบว่าด้วยการจ่ายสินบนสำหรับผู้แจ้งเบาะแสกรณีติดตามสืบสวนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ แต่ในระเบียบกำกับไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้ผู้ตรวจสอบ คือ คตส.ได้รับสินบนดังกล่าว ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่มีผู้ใดแจ้งเบาะแสแก่ คตส.แต่อย่างใด ไม่ว่าคดียึดทรัพย์หรือคดีอาญาอื่นๆ คตส.หาพยานหลักฐานเองทั้งหมด จึงไม่มีผู้ใดเข้าข่ายได้รับสินบนแม้แต่คนเดียว

ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกอาการเดือดร้อนแทน พ.ต.ท.ทักษิณ กลัวจะถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ จึงรีบออกมาข่มขู่ศาล โดยนายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน และประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย บอกว่า หากศาลฎีกาฯ พิพากษาโดยไม่ยึดหลักกฎหมาย หรือไม่สามารถอธิบายประกอบคำพิพากษาให้สาธารณชนรับทราบได้ จะยื่นเรื่องต่อรัฐสภาเพื่อถอดถอนผู้พิพากษาออกจากตำแหน่ง

ก่อนที่ศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาว่าสมควรยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ และถ้ายึดจะยึดเพียงบางส่วนหรือยึดทั้งหมด ลองมาฟังทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้กัน

นายสัก กอแสงเรือง 1 ในกรรมการ คตส.บอกกับวิทยุ ASTVผู้จัดการว่า ศาลจะยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ ถ้ายึดจะยึดบางส่วนหรือทั้งหมด ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่า จะเห็นว่าทรัพย์นั้นเกิดจากการร่ำรวยผิดปกติหรือเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่สมควรหรือไม่ ซึ่งเจ้าของทรัพย์มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ต่อศาล หากพิสูจน์ไม่ได้ ศาลก็จะให้ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วน คตส.ได้ตรวจสอบและมีพยานหลักฐานว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปตัวจริง ไม่ได้โอนหรือขายให้ลูกๆ หรือเครือญาติ ซึ่งผิดต่อกฎหมาย ป.ป.ช.ที่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือหุ้นเกินกว่าที่กำหนด นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกฯ เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจชินคอร์ปในหลายกรณี

“เป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ และได้มาโดยไม่สมควรหรือไม่ ตรงนั้นก็เป็นประเด็นที่ศาลต้องพิจารณา และต้องพิจารณาว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่ในการทำให้หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีการใช้อำนาจในเรื่องของการแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต มีการแก้ไขสัมปทานหลายครั้งตามที่ท่านรัฐมนตรีไอซีที ท่านสิทธิชัย (โภไคยอุดม) ได้เป็นพยาน และมีการใช้อำนาจออกกฎหมายให้คนต่างด้าวถือหุ้นได้ 49% คือขายให้กับเทมาเส็กได้ ถ้ากฎหมายไม่แก้ก็เทมาเส็กซื้อไม่ได้ พอแก้กฎหมายเสร็จ วันทำการรุ่งขึ้นก็ซื้อขายหุ้น และเรื่องการใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์ในการใช้นโยบายช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในการปล่อยกู้ให้กับประเทศพม่า โดยให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ต่ำกว่าทุน และส่วนที่ปล่อยกู้เพิ่มขึ้นจาก 3 พันเป็น 4 พันล้านบาทนั้น ก็ไปซื้อสินค้าและบริการของชิน แซทเทลไลท์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือครอบครัว”

“(ถาม-สามารถพูดในแง่ข้อกฎหมายได้มั้ยว่า น่าจะยึดทั้งหมดหรือยึดบางส่วน?) ยึดทั้งหมดหรือยึดบางส่วนก็อยู่ในดุลพินิจของศาล เราเพียงแต่ยกคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่เคยพิพากษาเป็นบรรทัดฐานมาก่อน เช่น เรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐฉ้อโกงรัฐหรือทำผิดทุจริต ซื้อที่ดินมา 10 ล้าน ขายให้รัฐ 20 ล้าน เวลาริบก็ริบหมด ไม่ได้คืน 10 ล้านนะ เพราะถ้าคืนก็เท่ากับว่าไม่ได้ถูกลงโทษ เช่น ลักทรัพย์แล้วถูกจับได้ ก็ได้ราคาทรัพย์คืนไป คงไม่ใช่ เวลาทำผิดหรือเวลาริบ ก็ต้องริบหมดเป็นเชิงลงโทษด้วย”


ด้านนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ มองคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน โดยแสดงความเห็นด้วยกับที่นายอุดม เฟื่องฟุ้ง 1 ใน คตส.บอกว่า การยึดทรัพย์ ต้องยึดทั้งหมด ไม่ใช่แค่บางส่วน โดยเฉพาะหุ้นของชินคอร์ป มีการกระทำผิดในหลายประเด็น

“ในหุ้นของชินคอร์ปนั้น มีการกระทำที่ไม่ถูกต้องในหลายประเด็น เช่น ออกกฎหมายแก้ไขภาษีสรรพสามิต และมันเป็นเจตนาเดียว และพันมาตลอด เพื่อสร้างหุ้นของชินคอร์ปให้มีมูลค่าสูงขึ้น ดังนั้นความเห็นของท่านอุดมถูกต้องแล้ว ถ้ายึดต้องยึดทั้งหมด เป็นเจตนาเดียว หลักของเจตนา (ถาม-มองว่าจะเกิดกลียุคมั้ย ถ้ายึดทั้งหมด?) มันจะเกิดอะไรก็แล้วแต่ แต่ทุกคนต้องรักษากฎหมายไว้ (ถาม-พรรคเพื่อไทยบอกว่า ท่านอุดมพูดอย่างนี้ชี้นำศาล?) ชี้นำได้อย่างไร ใครจะไปชี้นำได้(องค์คณะผู้พิพากษา) 9 คนน่ะ มันเป็นความเห็นเท่านั้นเอง ไม่ได้ชี้นำเลย ท่านอุดมเนี่ยเป็นมวยหลักอยู่แล้ว ท่านอุดม เฟื่องฟุ้ง เป็นนักกฎหมายที่เป็นไม้บรรทัดน่ะ ตลอดชีวิตของท่านไม่เคยกินโกง ไม่เคยรับสินบาทคาดสินบนเลย”

ขณะที่ ดร.เจษฎ์ โทณวณิก ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม พูดถึงกรณีที่นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่า หากมีการยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งหมด 7.6 หมื่นล้าน เกิดกลียุคแน่ว่า การจะยึดบางส่วนหรือทั้งหมด ต้องดูว่า ทรัพย์นั้นเกิดจากการกระทำผิดทั้งหมดหรือไม่ ถ้าใช่ ต่อให้ฟ้าจะถล่ม ดินจะทลาย ก็ต้องยึดทั้งหมด

“โดยทั่วไป หลักการยึดทรัพย์ต้องพิจารณาว่า ทรัพย์ที่จะยึดเนี่ยเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือเปล่า คือถ้าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด มันก็ต้องยึดทั้งหมด อันนั้นถูกต้อง แต่ถ้าหากว่ามันไม่ได้เป็นทรัพย์ที่มาจากการกระทำผิดทั้งหมด มีบางส่วนที่ไม่ได้เป็นทรัพย์ที่เกิดจากการกระทำผิด มันก็ไม่ต้องยึดในส่วนนั้น ยึดเฉพาะส่วนที่มาจากการกระทำผิด ขึ้นอยู่กับว่าถ้าหากเรามองกรณีนี้ 7.6 หมื่นล้านเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดทั้งหมดหรือไม่ ถ้าหากว่าใช่ มันก็ต้องยึดหมดน่ะ มันจะมาแบ่งไม่ได้หรอก เพียงแต่ว่ามันต้องพิจารณาว่า มันถือเป็นเงินก้อนที่ได้มาจากการกระทำผิดทั้งก้อนหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านอุดมก็พูดถูกแล้ว แต่ถ้าหากว่าเงินทั้งก้อนนั้น ไม่ได้เป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำผิดทั้งก้อน เช่น มีเพียง 3 หมื่นล้านที่ได้มาจากการกระทำผิด ก็ยึด 3 หมื่นล้าน ที่เหลือที่ไม่ได้มาจากการกระทำผิด ก็ไม่ต้องยึด”

“ส่วนถ้าหากจะพิจารณาอย่างที่คุณพายัพ (ชินวัตร) พูดว่า ถ้ายึดหมดเกิดกลียุคแน่ คือถ้าเกิดเราจะเอาแบบสุภาษิตโรมัน คือฟ้าจะถล่มลงมา มันก็ต้องทำไปตามที่กฎหมายกำหนด จะมาอ้างว่าจะเกิดกลียุคอย่าไปยึด อย่างนั้นถ้าเกิดกลัวเกิดกลียุค ก็คืน 7.6 หมื่นล้านและเชิญคุณทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ เลยสิ ใช่มั้ย มันพิจารณาแบบนั้นไม่ได้หรอก มันต้องพิจารณาว่ากฎหมายกำหนดไว้ว่าอย่างไร แล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้นมา รวมทั้งได้มาจากการกระทำความผิดเนี่ย มันทั้งหมดหรือเปล่า ถ้าทั้งหมด ฟ้ามันจะถล่มทลายยังไง มันก็ต้องยึดทั้งหมดน่ะ”


ด้าน รศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณว่า ไม่อยากฟันธงว่าถ้ายึด จะยึดทั้งหมดหรือแค่บางส่วน เพราะไม่ได้เห็นสำนวนของ คตส. แต่โดยหลักของคดีร่ำรวยผิดปกติ ก็คือต้องดูว่า ทรัพย์นั้นเพิ่มขึ้นมาโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ หรือทรัพย์นั้นได้มาโดยไม่ชอบหรือไม่

“ถ้ายึดทรัพย์เพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติ มันก็ต้องมาดูว่าส่วนไหนที่มันเพิ่มมากโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่ถูกต้องในที่นี้ก็คือเหตุผลที่จะต้องมาดูว่า ปกติแล้วการประกอบธุรกิจที่ทำอยู่ มันมีอะไรที่เขาสามารถทำได้ เขามีหลักฐานการได้มาซึ่งชอบ ส่วนเรื่องการบอกว่าไปใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ทำให้ได้ทรัพย์มาเนี่ย อันนั้นเป็นเรื่องทุจริต คือถ้าจะไปพิสูจน์อย่างนั้น ต้องเป็นเรื่องการฟ้องทุจริต ซึ่งผมคิดว่าในกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องปัญหาทุจริต คือถ้าทุจริตก็ต้องดำเนินคดีเป็นเรื่องๆ ไป คือถ้าเรามีหลักฐานว่าเขาทำอย่างนี้ แล้วทำให้เขาได้ประโยชน์อะไรเนี่ย ชัดเจนว่าทุจริต แต่ถ้าร่ำรวยผิดปกติ จะเป็นปัญหาเรื่องว่าเรา ปกติแล้วเราไม่สามารถที่จะหาทรัพย์ได้ขนาดนั้น ไม่มีเหตุผลที่จะได้ทรัพย์มาขนาดนั้น ซึ่งก็ต้องพิสูจน์กันพอสมควรว่า ปกติแล้วถ้า สมมติเรามี 100 บาท แล้วเกิดเราเพิ่มขึ้นมาเป็นล้านบาท ไอ้ส่วนที่อธิบายว่าจาก 100 เป็นล้านเนี่ย มันอธิบายยากจริงๆ แต่ถ้าเราบอกว่าเรามีอยู่แสนหนึ่ง แล้วเราได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 2 แสน มันก็พออธิบายได้ว่าธุรกิจอะไรที่มันสามารถเพิ่มมาเท่าตัว ผมพูดในเหตุผล ก็คือต้องพิสูจน์กันในลักษณะแบบนี้ แต่ถ้าไปพิสูจน์เรื่องว่า ฉันได้มาโดยมีเหตุผลหรือไม่เนี่ย บางครั้งการอธิบาย สมมติว่า ไปได้มาโดยการพนัน อย่างนี้บางทีศาลก็ไม่เชื่อ หมายความว่าการได้มาโดยวิธีการซึ่งอาจจะไม่ได้ปกติที่คนทั่วไปเขาทำกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องไปพิสูจน์ถึงทุจริตนะ แต่พิสูจน์โดยทำให้เห็นว่าในกรณีนี้ไม่น่าเชื่อว่าจะได้มาขนาดนั้น”

“คือผมเองก็ยังไม่อยากฟันธงลงไปว่าต้องยึดบางส่วนหรือยึดทั้งหมด เพราะเราก็ไม่รู้ว่า คือผมก็ไม่ได้อ่านสำนวนของ คตส. แต่ในปัจจุบันถ้าเป็นเรื่องร่ำรวยผิดปกติเนี่ย มันไม่ใช่เรื่องการพิสูจน์การใช้อำนาจโดยมิชอบแท้ๆ คือมันคงเป็นแต่เพียงว่าไอ้เงินเนี่ย มีเหตุผลที่จะได้มาโดยชอบ เท่านั้นเอง ถ้าเราสามารถบอกได้ว่าเราได้มาโดยชอบ มันก็ยึดไม่ได้ อันนี้คือกลไกที่ กม.ให้ แต่การไปบอกว่าเขาใช้อำนาจไม่ถูกต้องก็เลยได้เงินเหล่านี้มา คงเป็นเหตุผลอันหนึ่งในการสนับสนุนว่าทำไมถึงมีเงินไม่ชอบ แต่จะไปบอกว่าอันนี้ถ้ายึดต้องยึดหมด สำหรับผม ผมเห็นว่ามันคนละเรื่อง”


ขณะที่ อ.ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการ ป.ป.ป.(ก่อนเปลี่ยนเป็น ป.ป.ช.) ให้ความรู้ในแง่กฎหมายเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ในคดีร่ำรวยผิดปกติว่า ความหมายของคำว่า ร่ำรวยผิดปกตินั้น มี 2 กรณี 1.การมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติหรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ 2.การได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร ซึ่งไม่ว่าทรัพย์นั้นจะมากหรือน้อย ถ้านำสืบได้ว่าได้มาโดยไม่สมควร ก็ต้องถูกยึดเป็นของแผ่นดินเช่นกัน

“การมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ดูง่าย ป.ป.ป.หรือ ป.ป.ช.ปัจจุบันเนี่ย ดูเหมือนกัน เราดูตอนการแสดงทรัพย์สินหนี้สินในบัญชีที่แสดงไว้ต่อ ป.ป.ช. เมื่อพ้นจากตำแหน่ง เอามาเปรียบเทียบกับบัญชีที่ได้ยื่นไว้ตอนเข้ารับตำแหน่ง ตอนผมเข้ารับตำแหน่งเนี่ย เราก็เอา 2 บัญชีนี้มาเปรียบเทียบกัน ถ้าเห็นมันผิดปกติ มันก็เข้าข่ายที่จะเข้าร่ำรวยผิดปกติเช่นเดียวกัน อันแรกดูง่าย ดูจากบัญชี แต่อันที่ 2 ที่ได้มาโดยไม่สมควรนี้ อันนี้ดูยากหน่อย ต้องนำสืบว่ามาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ถ้านำสืบได้ว่าได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ อันนี้ก็เข้าข่ายคำว่าร่ำรวยผิดปกติเหมือนกัน เท่าที่ผมได้ติดตามมา รู้สึกประเด็นว่าได้มาโดยไม่สมควรอันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่เนี่ย เป็นประเด็นสำคัญ เพราะตอนนั้นแกอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ แกก็ใช้อำนาจในหน้าที่อะไรหลายอย่างที่เราทราบแล้ว ออกกฎหมายบ้าง สร้างวาทกรรมบ้างอะไรก็แล้วแต่ที่จะให้ทรัพย์สินเนี่ยมันได้มาโดยไม่สมควร”

“(ถาม-ส่วนเรื่องยึดทั้งหมด-ไม่ทั้งหมดนั้น พูดยาก?) อันนี้พูดยาก มันมีหลักอยู่อย่างหนึ่ง ไอ้ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือได้มาโดยไม่สมควร โดยเฉพาะการได้มาโดยไม่สมควรเนี่ย มันก็สืบเนื่องมาตั้งแต่เจ้าตัวเข้ามาปฏิบัติหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ในทางการเมืองอย่างที่เราทราบแล้ว การมีอำนาจหน้าที่มันก็เอื้ออำนวยให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทำให้ที่ได้มาเนี่ยมันได้มาโดยไม่สมควร มันเอื้ออำนวย แล้วการเอื้ออำนวยเนี่ยมันไม่จำเป็นจะต้องผิดกฎหมายอาญาโดยตรง เขาบอกว่าได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการที่แกปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นมันแบ่งยาก มันแบ่งแยกขีดเส้นยากว่า แค่ไหนจะยึด แค่ไหนจะไม่ยึด เพราะถ้าการได้มาโดยไม่สมควรเนี่ยมันสืบเนื่องมาจากอย่างที่เราเรียกกัน ขอโทษเถอะ เรียกว่า ความดีสะสม ความชั่วสะสม อันนี้ไม่ใช่ความดีสะสมแน่ มันเป็นความไม่ดีสะสม ความชั่วสะสมเนี่ย โอ้โห! มันแยกยาก เพราะถ้ามันไม่ดี มันชั่วแล้ว มันก็ไม่ดีตลอดไปอย่างสืบเนื่องน่ะ มันแยกยาก จุดนี้ผมคิดว่ามันน่าจะเอาไปใช้ได้ว่าจะยึดหมดหรือยึดบางส่วน เพราะมันสะสมเรื่อยมานี่ มันไม่ใช่เพียงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง เป็นดำรงตำแหน่งนั้นมา 4 ปีเนี่ย มันก็สืบเนื่องมาทั้ง 4 ปีเลย มันจะแยกอย่างไร”


อ.ปรีชา บอกถึงจุดที่น่าสนใจของคดียึดทรัพย์อีกจุดหนึ่งด้วยว่า หากศาลสั่งให้ยึดทรัพย์แล้ว ปรากฏว่า ทรัพย์จริงๆ มีไม่พอเท่ากับจำนวนที่ศาลสั่งยึด ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์ออกไปก่อน เจ้าหน้าที่สามารถไปบังคับยึดทรัพย์ส่วนอื่นๆ ของบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะอยู่ในหรือนอกประเทศ หรืออยู่ในชื่อบุคคลอื่นที่เป็นลักษณะนิติกรรมอำพรางหรือนอมินี ก็สามารถยึดเข้าแผ่นดินได้!!
นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ขู่ ถ้ายึดทรัพย์ทั้ง 7.6 หมื่นล้าน เกิดกลียุคแน่
นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ขู่ยื่นถอดถอนผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ที่พิพากษาคดียึดทรัพย์
นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีต คตส.ชี้ โดยหลักกฎหมาย ถ้ายึดทรัพย์ ต้องยึดทั้งหมด
นายสัก กอแสงเรือง อดีต คตส.ยืนยัน ไม่มีใครได้สินบน 25% จากทรัพย์สินที่ถูกศาลสั่งยึด
กำลังโหลดความคิดเห็น